นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น นอกจากการออกกำลังกาย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น จนไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนให้ตลาดนี้มีทิศทางการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะตลาดในกลุ่ม Nutraceutical (นิวทราซูติค) หรือโภชนบำบัด คือ สารอาหาร หรือส่วนประกอบของอาหารที่มีสรรพคุณเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ในการป้องกันโรค รักษาโรค ชะลอความชรา
ในปี 2566 ตลาดนิวทราซูติค ซึ่งหมายรวมถึง Function Food และ Function Drink มีมูลค่าสูงถึง 190,000 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโต 7 เปอร์เซ็นต์ การขยายตัวของตลาดนี้เป็นไปในลักษณะค่อยๆ โต คาดการณ์กันว่าในปี 2022-2026 มูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงถึง 260,000 ล้านบาท
รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเสริมอาหารเติบโตอย่างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ซึ่งนอกจากการใส่ใจด้านการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์แล้วยังมองหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีคุณภาพเข้ามาเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งในการบำรุงรักษาร่างกาย หรือแม้กระทั่งในการต่อสู้กับบางโรคที่อยู่ในช่วงอาการเริ่มต้น
“อุตสาหกรรมเสริมอาหารที่กำลังเติบโตอย่างมากในตลาดเอเชีย ตามรายงานของ Health Marketing Team ที่คาดว่ามีการเติบโตอยู่ที่ CARG 6% โดยนับเป็นมูลค่าประมาณ 2,290 ล้านดอลลาร์ ไปจนถึงปี 2569 จากกระแสใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค และการตื่นตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยพร้อมกับการเข้ามาของเทรนด์สารสกัดใหม่ๆ จากทั่วโลก ทำให้ตลาดเสริมอาหารมีความคึกคัก และเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งจากภาคส่วนเดิมและภาคส่วนอื่นที่เริ่มขยายมาจับตลาดเสริมอาหารมากขึ้น”
ทั้งนี้ ด้วยองค์ประกอบของอุตสาหกรรมเสริมอาหารในตลาดเอเชียที่กำลังขยายตัว และความตั้งใจในการผลักดันโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจในไทยให้เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดงาน “ไวต้าฟู้ด เอเชีย 2023” (Vitafoods Asia 2023) งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมส่วนผสมสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย
รุ้งเพชรให้เหตุผลที่เลือกจัดงานในไทยว่า ตลาดนิวทราซูติคในไทยเติบโตเร็วสุดในเอเชีย ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ค่าครองชีพถูก และความพร้อมของตลาด MICE ซึ่งช่วยให้ค่าใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงานถูกลงกว่าประเทศอื่นถึง 15 เปอร์เซ็นต์
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีการขับเคลื่อนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้านอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร และสารกลุ่ม Functional Ingredients โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของไทย โดยมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ส่วนผสมฟังก์ชันจากจุลินทรีย์ Probiotics, Prebiotics, Postbiotics, Starter Culture, Food enzyme และ Peptides รวมทั้งสารสกัดสมุนไพรและจุลินทรีย์ มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีการทดสอบเพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ Ingredients ในด้านต่างๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าวัตถุดิบ และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุน ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้มีโอกาสการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรในประเทศไทย นับเป็นตลาดที่ใหญ่และมีโอกาสสูง สามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล ปัจจุบันตลาดมีมูลค่าสัดส่วนสูงกว่า 30% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับแนวโน้มในปี 2566 นี้ มองว่าตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีโอกาสขยายตัวที่ดีอีกครั้ง จากปัจจัยบวกการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
“ตลาดไทยโตแบบ Local ซึ่งเราเองต้องการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อการส่งออก แม้ว่าไทยยังจำเป็นต้องส่งวัตถุดิบที่มีเพื่อสกัดสารสำคัญในต่างประเทศ จากนั้นจึงจะนำเข้าสารสกัดกลับเข้ามา ซึ่งนี่เองที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีราคาสูงขึ้น”
“สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับทำสารสกัดในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วยกัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขยายตัวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชงดื่ม กลุ่มสร้างภูมิคุ้มกัน ที่โตเร็วจากโควิด-19 และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้เซลล์ในร่างกายแข็งแรง ซึ่งเป็นการเติบโตแบบพุ่งทะยานอย่างน่าสนใจ”
สถานการณ์โควิดคลี่คลายทำให้ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นในเทรนด์รักสุขภาพกลับมาเป็นกระแสร้อนแรงอีกครั้ง ส่งผลให้ความต้องการ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ของผู้บริโภคในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ภายใต้กระแสความนิยมที่ขยายตัวสูง ยังต้องจับตาดูทิศทางการแข่งขันในตลาดปีนี้ที่จะกลับมามีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และน่าจะมีผู้ประกอบการรายเล็กๆ หน้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น
ด้าน เมธา สิมะวรา ประธานกลุ่มสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตที่มีศักยภาพด้านสมุนไพรและวัตถุดิบธรรมชาติที่หลากหลาย และที่ผ่านมาภาคการผลิตของไทยยังขาดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ หากสามารถยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย โดยดึงจุดเด่นของสมุนไพรแต่ละชนิด ใช้เทคโนโลยีและการวิจัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า และต่อยอดสารสกัดจากสมุนไพรไทยสู่ตลาดสากลได้ ก็จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เติบโตขึ้นอีกมากในอนาคต
“แม้ไทยจะมีพื้นที่ปลูกวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มสมุนไพร ทว่า สิ่งที่น่าเสียดายคือ การผลิตสารสกัดในไทยมีต้นทุนที่สูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องนำเข้าสารสกัด โดยแต่ละปีมีการนำเข้ามากกว่า 2 พันล้านบาท ราคานี้ยังถูกกว่าการผลิตสารสกัดเองภายในประเทศ หากภาคเอกชนรวมตัวกันและภาครัฐให้การสนับสนุนอาจจะมีความเป็นไปได้ว่า เราจะสามารถผลิตสารสกัดได้ภายในประเทศโดยที่มีต้นทุนต่ำลง”
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์ของคนไทยยังไม่ใช่เจ้าตลาด แต่สามารถเบียดและไล่ตามคู่แข่งสำคัญมาอย่างใกล้ชิด นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ แนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาเล่นในตลาดที่มีมูลค่าแสนล้าน จำเป็นต้องสร้างความเชื่อใจให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค พัฒนาผลิตภัณฑ์แบบไม่ฉาบฉวย สร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย อาจจะเริ่มจากเล็กๆ ก่อน
งาน Vitafoods Asia 2023 ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งรายใหญ่-รายเล็ก ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ทั้งนี้ก็ยังมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย แม้เทรนด์รักษาสุขภาพจะยังมาแรงต่อเนื่อง แต่แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทรนด์แนวทางการป้องกันรักษาโรคเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา.