หลายคนอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ธุรกิจที่เริ่มต้นจากศูนย์เป็นเรื่องยาก” และเข้าใจว่ากว่าจะประสบความสำเร็จคงต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคนานัปการ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายก็ไม่ต่างกัน เมื่อโครงการนี้มีจุดเริ่มต้นที่ “ศูนย์” กิโลเมตร
โครงการมูลค่ามหาศาลบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ หรือ Southern Corridor ที่เกี่ยวพันสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ไทย และญี่ปุ่น เข้าไว้ด้วยกัน แม้ในช่วงแรกญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาในนครย่างกุ้ง มากกว่าก็ตาม
เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอาจเรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เมื่อโครงการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2008 หากนับเวลาจนถึงปัจจุบันกลับปรากฏความคืบหน้าเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ นับว่าล่าช้ามากเมื่อเทียบกับโครงการขนาดเดียวกัน
สาเหตุของความล่าช้าที่เกิดขึ้นอาจมาจากรูปแบบการทำงานระบบราชการของเมียนมาที่ค่อนข้างใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทที่รับผิดชอบโครงการไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้สะดวกนัก และแม้ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการระดับ G2G แต่การขาดเสถียรภาพของรัฐบาลทั้งสองประเทศก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โครงการทวายก้าวหน้าไปได้ช้ามาก
ทั้งนี้บริษัท อิตาเลียน ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้ที่ได้สิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ภายใต้สัมปทานระยะเวลา 50 ปี และสามารถขยายได้อีก 25 ปี ดูจะมีเรื่องให้น่ากังวลไม่น้อย เมื่อแรกเริ่มจำเป็นต้องควักเงินลงทุนไปล่วงหน้า ทั้งๆ ที่ ITD และคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนเพิ่งจะจรดปากกาในสัญญาสัมปทานโครงการทวายในระยะแรกกับคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558
กระนั้นแผนพัฒนาโครงการในระยะแรก ประกอบไปด้วย 1. นิคมอุตสาหกรรม 16,000 ไร่ แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน A, B, C, D ซึ่งแต่ละโซนจะใช้ระยะเวลาในพัฒนา 2 ปี 2. ถนนขนาด 2 ช่องการจราจร ระยะทาง 140 กิโลเมตร เชื่อมต่อโครงการทวายกับด่านชายแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี 3. ท่าเรือขนาดเล็ก 4. Township ซึ่งเป็นที่พักสำหรับคนงานที่สามารถรองรับได้ 3 แสนคน 5. อ่างเก็บน้ำและระบบประปา 6. Boil-off Gas and Temporary Power Plants 7. โรงไฟฟ้า 8. ระบบโทรคมนาคม 9. LNG Terminal
ซึ่งแผนการพัฒนาในระยะแรกนั้นต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท นอกเหนือไปจากรายละเอียดของแผนการพัฒนาหรือเรื่องของงบประมาณแล้ว ประเด็นสำคัญที่ ITD ต้องเร่งดำเนินการเป็นอันดับต้นๆ คือการส่งรายชื่อนักลงทุนที่ให้ความสนใจโครงการทวายให้แก่รัฐบาลเมียนมาภายใน 90 วัน
ในจุดนี้เองที่ทำให้หัวเรือใหญ่ของ ITD อย่าง เปรมชัย กรรณสูต สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนที่จะซื้อที่ดิน คาดว่าจะซื้อที่ดินที่ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ด้วยการประกาศว่ามีเงินลงทุนที่จะใช้สำหรับโครงการระยะแรกแล้วมากกว่าครึ่ง
แม้จะมีข้อให้กังขาถึงแหล่งที่มาของเงินทุนที่จะใช้ในโครงการทวาย ซึ่งอิตาเลียนไทยเคยประสบปัญหาเดียวกันนี้มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2555 จนทำให้ถูกระงับโครงการไปช่วงหนึ่ง หากแต่เปรมชัยยังขยายความไปถึงโครงการที่บริษัทได้รับมอบหมายทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ว่ามีมูลค่ารวมสูงถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งปี พ.ศ. 2558-2560 บริษัทจะมีรายได้ประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม รายได้ของอิตัลไทย ดูจะไม่ใช่คำตอบที่ใครรู้มากนัก หากแต่ความเป็นไปของโครงการระดับ G2G ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวบนพื้นที่ทวายต่างหาก ที่เป็นเป้าหมายที่หลายคนจับตา โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่สามารถจอดเรือได้ 55 ลำพร้อมกัน รองรับสินค้าได้ 300 ล้านตันต่อปี พร้อมกับโรงเหล็ก อู่ต่อเรือขนาดใหญ่
ในขณะที่ ITD กลับมองว่าท่าเรือน้ำลึกยังไม่มีความจำเป็นสำหรับโครงการนี้ โดยในเบื้องต้นหากจะมีการขนส่งสินค้าทางเรือสามารถใช้ Small Port ที่สามารถจอดเรือได้เพียงหนึ่งลำ ที่สำคัญคือประเทศญี่ปุ่นดูจะให้ความสนใจร่วมลงทุน และอิตาเลียนไทยอาจจะไม่ยื่นประมูลแข่งขัน แต่จะพิจารณาบทบาทของผู้ร่วมทุนแทน
แม้ว่า ITD จะเป็นหนึ่งใน 3 ผู้นำตลาดก่อสร้างไทย ทั้งผลงานที่ปรากฏให้เห็นหลายโครงการ ความมั่นคงและการเติบโตที่ต่อเนื่องของบริษัททำให้ได้รับโอกาสบ่อยครั้ง หากแต่กรอบเวลา 90 วัน ในการส่งรายละเอียดของผู้ที่สนใจลงทุนในโครงการทวายที่รัฐบาลเมียนมายื่นให้พร้อมสัญญาฉบับสำคัญ อาจทำให้เกิดปัญหาสำหรับ ITD
ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังระส่ำอยู่ในหลายประเทศ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักธุรกิจชะลอการลงทุน แม้ว่าในอนาคตโครงการทวายจะมีศักยภาพสูงก็ตาม กระนั้นในห้วงเวลาของการเฝ้าคอยความเป็นไปบนเส้นทาง Southern Corridor การเข้ามาของญี่ปุ่นดูจะเป็นสัญญาณด้านบวกของโครงการนี้ รวมไปถึงการที่ ครม. อนุมัติปล่อยกู้ซอฟต์โลนกรอบวงเงิน 4.5 พันบ้านบาท แก่รัฐบาลเมียนมาเพื่อใช้ในการสร้างถนนจากทวายถึงบ้านพุน้ำร้อน รวมระยะทาง 140 กิโลเมตร
และนอกเหนือจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังประสบปัญหาอยู่นั้น อีกประเด็นที่เป็นที่น่าสนใจ คือผลการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา เมื่อรัฐบาลเมียนมาประกาศให้วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในรอบ 25 ปี
ทั้งนี้ระหว่างพรรคสหสามัคคีเพื่อการพัฒนา หรือ USDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอยู่ในขณะนี้จะส่ง เต็ง เส่ง ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หรือ ออง ซาน ซูจี จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ที่ประกาศตัวว่าจะลงชิงตำแหน่งด้วยนั้น หลายฝ่ายกำลังจับตามองว่า ผลการเลือกตั้งนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อโครงการทวาย
แน่นอนว่าหากนายพลเต็ง เส่ง ได้รับคะแนนเสียงและสามารถจัดตั้งรัฐบาลต่อไปได้อีกสมัย โครงการทวายคงจะดำเนินไปด้วยความต่อเนื่อง หรือหากพรรค NLD ได้รับชัยชนะ คงต้องรอดูว่าใครจะขึ้นมานั่งตำแหน่งประธานาธิบดี และการนำประเทศภายใต้นโยบายของ NLD นั้นจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของเศรษฐกิจหรือการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดบนแผ่นดินเมียนมา เมื่อต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในสิ้นปีนี้
นับจากวันที่มีการเซ็นสัญญาพัฒนาพื้นที่โครงการทวายในระยะแรก ไม่ใช่แค่บนเวทีอาเซียนเท่านั้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถูกจับตามอง หากแต่กำลังเป็นที่น่าสนใจบนเวทีโลก ทั้งด้วยตำแหน่งที่ตั้งของโครงการที่จะเข้ามาเป็นตัวเชื่อมเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ Southern Economic Corridor และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกไปตะวันตก East West Economic Corridor
เมื่อบทบาทของ ITD ต่อโครงการทวายดูจะไม่ค่อยราบรื่นนัก โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะดำเนินไปอย่างไร จะยังสบายดีอยู่หรือไม่ คงต้องเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด