วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ก้าวใหม่ “บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค” บริษัทยาของคนไทย ที่พร้อมแข่งในตลาดโลก

ก้าวใหม่ “บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค” บริษัทยาของคนไทย ที่พร้อมแข่งในตลาดโลก

หลังจากคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมยามานานถึง 30 ปี “บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค” กำลังสร้างตำนานบทใหม่ให้กับบริษัท ด้วยการเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นครั้งแรกในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “BLC” เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยาของประเทศไทย

“ยา” ถือเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และในขณะเดียวกัน “อุตสาหกรรมยา” ก็นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศด้วยเช่นกัน โดยในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย มีมูลค่าตลาดถึง 2.4 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโต 3-5% แบ่งเป็น การผลิตในประเทศ 30% และนำเข้า 70% ซึ่งมีมูลค่าการตลาดที่สูงและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาระหว่างปี 2566-2568 จะมีอัตราการเติบโต 5-6% ต่อปี

แต่ที่น่าสังเกตคือ 70% จากมูลค่าตลาด 2.4 แสนล้านบาทนั้น เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ หากสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และหันมาส่งเสริมการผลิตยาในประเทศจะเป็นการสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยาของไทย และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในอนาคตต่อไปได้

โดยปัจจุบันผู้ผลิตยาในไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ องค์การเภสัชกรรมและโรงงานเภสัชกรรมทหาร เน้นผลิตยาชื่อสามัญและจำหน่ายในประเทศ เพื่อทดแทนยานำเข้าจากต่างประเทศ และ 2. บริษัทยาเอกชน ที่มีทั้งบริษัทยาของคนไทยที่เน้นผลิตยาชื่อสามัญทั่วไป และบริษัทยาของต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย

และในบรรดาบริษัทยาเอกชนที่เป็นของคนไทยนั้น ชื่อของ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC กำลังเป็นที่สนใจทั้งในมุมของอุตสาหกรรมยาและในมุมของนักลงทุน เพราะเป็นผู้ผลิตยาที่คร่ำหวอดในธุรกิจนี้มานานถึง 3 ทศวรรษ และยังเป็นบริษัทที่เข้าจดทะเบียนและมีการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปหมาดๆ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

BLC เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเภสัชกร 3 คน ที่จบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยมหิดลรุ่นเดียวกัน ได้แก่ ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์, ภก.สมชัย พิสพหุธาร และ ภก.ศุภชัย สายบัว โดยหลังจากเรียนจบแต่ละคนได้แยกย้ายไปทำงานที่ต่างกัน กระทั่งปี พ.ศ. 2533 จึงได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ด้วยการก่อตั้ง บริษัท บางกอกดรัก จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตนเอง

พอเข้าปี 2536 จึงได้ขยายธุรกิจ ดำเนินการก่อตั้งโรงงานผลิตยาภายใต้ชื่อ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์คอสเมติค จำกัด ขึ้นที่ จ.ราชบุรี และในปี 2556 บริษัทฯ ก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการก่อตั้งศูนย์วิจัย บีแอลซี (BLC Research Center) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ของตนเอง รวมถึงวิจัยผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ท้องตลาด

“เรา 3 คน ไปตั้งโรงงานที่ราชบุรี ตั้งแต่ถนนยังเป็นลูกรัง ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ยังไม่มี ตอนนั้นเงินทุนยังมีจำกัด เริ่มสร้างจากพนักงานไม่กี่คน ปัจจุบันโรงงานของ BLC ใหญ่เป็นเบอร์ต้นๆ ของประเทศ ด้วยพื้นที่ถึง 140 ไร่” ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BLC  เท้าความถึงการเริ่มก่อตั้งโรงงาน พร้อมฉายภาพการเดินทางตลอด 30 ปีของ BLC ให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” ได้เห็นภาพชัดขึ้นว่า

10 ปีแรก BLC เน้นเรื่องการทำโรงงานและกระบวนการผลิตให้ประสบความสำเร็จ มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน โดยได้รับมาตรฐานระดับสากล ทั้ง GMP และ ISO มาเป็นเครื่องหมายการันตี

10 ปีที่สอง เป็นช่วงแห่งการสร้างโมเดลธุรกิจ (Business Model) เพราะมองเห็นว่าธุรกิจยาเป็นธุรกิจที่ใหญ่และบริษัทข้ามชาติเข้ามากินตลาดค่อนข้างมาก บริษัทที่จะประสบความสำเร็จได้นอกจากมีฐานโรงงานการผลิตที่ดีแล้ว ยังต้องมีทีมการตลาดที่แข็งแกร่ง เพราะ ภก.สุวิทย์ มองว่าตลาดยาเมืองไทยถ้าไม่มีทีมการตลาดที่สามารถสื่อสารการตลาดกับหมอได้ โอกาสที่จะเติบโตยาก เพราะฉะนั้นในทศวรรษที่ 2 BLC จึงเริ่มสร้างโมเดลธุรกิจ ด้วยการก่อตั้งบริษัทฝ่ายขายและทำการตลาดโดยเฉพาะถึง 5 บริษัท เพื่อให้เหมาะกับประเภทสินค้า

10 ปีที่สาม เน้นหนักนวัตกรรม เพราะจากข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทยาที่จะสามารถแข่งขันกับบริษัทยาข้ามชาติในตลาดได้ต้องมี 2 เรื่องหลัก คือ นวัตกรรม และการก้าวเข้าสู่แหล่งทุน ทำให้ทศวรรษนี้ BLC เน้นหนักเรื่องนวัตกรรม ทั้ง Product Innovation ที่มีทั้งยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวชสำอาง และสารสกัดสมุนไพร รวมถึงพัฒนาช่องทางการจำหน่าย และพัฒนาบุคลากร

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ BLC ผลิตและจัดจำหน่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา (Pharmaceuticals) ได้แก่ ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญและยาสามัญใหม่ (Generic Drugs, New Generic Drugs) ทั้งยาเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ยาผิวหนัง ยาทางเดินอาหาร ยาทางเดินหายใจ โดยเป็นยาสามัญตามสูตรยาต้นตำรับ หรือยาจดสิทธิบัตรที่สิทธิบัตรหมดอายุการคุ้มครองไปแล้ว รวมถึงยาสมุนไพร (Herbal Medicines) และยาสำหรับสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อภายในฟาร์มปศุสัตว์

2 กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ได้แก่ เครื่องสำอาง ที่ผลิตและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของบริษัท และรับจ้างผลิตในรูปแบบ OEM, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เกี่ยวกับการดูแลข้อต่อ กล้ามเนื้อ กระดูก และดูแลสายตา, ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เจลหล่อลื่น สเปรย์ฉีดกันยุง เป็นต้น

ด้านช่องทางการจำหน่าย ครอบคลุมทั้งตลาดโรงพยาบาลรัฐที่มีสัดส่วนถึง 60% โรงพยาบาลเอกชน คลินิกทั่วไป คลินิกเสริมความงาม ร้านขายยา ผู้ประกอบการฟาร์มปศุสัตว์ ผ่านตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ และช่องทาง อี-คอมเมิร์ซ

โดยมีบริษัทที่ทำหน้าที่จัดจำหน่ายและทำการตลาดในเครือถึง 5 บริษัท เพื่อให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเภท ประกอบด้วย บริษัท บางกอกดรัก จำกัด ที่เชี่ยวชาญด้านยากระดูกและข้อ, บริษัท บีรีช (ประเทศไทย) จำกัด ทำการตลาดเวชสำอาง, บริษัท ฟาร์มาไลน์ จำกัด ทำการตลาดยาแผนปัจจุบัน, บริษัท ฟาร์ม่า อัลลิอันซ์ จำกัด ทำการตลาดในต่างประเทศ และบริษัท บางกอก เมดิก้า จำกัด สำหรับผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์

สำหรับผลประกอบการและสถานะทางการเงินของ BLC ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ยที่ 9.8% ยอดขายปี 2565 อยู่ที่ราวๆ 1,300 ล้านบาท โดยไตรมาส 1/2566 มีรายได้จากการขายและบริการ 337 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า 56.2 ล้านบาท เติบโตถึง 20% ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 30.3 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรที่ 9% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผลิตภัณฑ์กลุ่มยาเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทถึง 84%

ภก.สุวิทย์ ได้เน้นย้ำถึงจุดเด่นของ BLC ว่ามาจากการมีโรงงานผลิตและศูนย์วิจัยที่ครบวงจรสามารถผลิตได้ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาสามัญใหม่ สมุนไพร เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งไม่เพียงผลิตยาเท่านั้น แต่ BLC ยังมีทะเบียนตำรายาอีกหลักร้อยรายการ นอกจากนั้น ยังมีโมเดลธุรกิจและทีมการตลาดที่สามารถทำการแข่งขันได้ทั้งในประเทศและระดับสากล รวมถึงพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่งอีกด้วย

“เราเชื่อมั่นว่าบริษัทยาในเมืองไทยที่มีโมเดลธุรกิจแบบ BLC หายาก เพราะ BLC มีโรงงานที่พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์ของตนเอง มีศูนย์วิจัย และมีไลน์การผลิตที่ครบถ้วน”

สำหรับทศวรรษใหม่ สิ่งที่เป็นธงของ BLC คือสร้างการเจริญเติบโตอย่างยืน และการก้าวเข้าสู่แหล่งทุนด้วยการเข้าจดทะเบียนและเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ถือเป็นก้าวใหม่ที่สำคัญของ   BLC

และถ้าลงรายละเอียดในการเสนอขายหุ้นสามัญที่ผ่านมา ระบุว่า BLC มีทุนจดทะเบียนจำนวน 300,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 600,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.5 บาท และมีทุนที่ชำระแล้วจำนวน 240,000,000 บาท โดยเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) 150,000,000 หุ้น ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำเงินมาพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาอาคารใหม่ ใช้ในการวิจัยพัฒนาและผลิตยาสามัญใหม่ ปรับโครงสร้างทางการเงิน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และขยายช่องทางการตลาด

ทั้งนี้ BLC ตั้งเป้าภายใน 3 ปีจากนี้ จะเพิ่มยอดขายปีละ 200 ล้านบาท และทำให้ยอดขายรวมแตะ 2,000 ล้านบาทภายในปี 2569 สำหรับปัจจัยที่จะทำให้เติบโตได้ตามที่วางไว้มาจากผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง “ยาสามัญใหม่” เพราะเป็นยาที่มีตลาดใหญ่ ถ้าทำสำเร็จนอกจากจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เพราะต้นทุนยาจะถูกลง โดยได้เปิดตัวไปแล้ว 2 รายการ และจะเปิดตัวอีก 14 รายการ ตั้งเป้าผลิตและวางจำหน่ายอย่างน้อยปีละ 2 รายการ เช่น ยาเบาเหวาน ยาความดัน เป็นต้น และจะเริ่มวางขายตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ซึ่งยาสามัญใหม่จะเป็น New S-Curve ให้กับ BLC ในอนาคต

นอกจากยาสามัญใหม่แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างการเติบโตคือการพัฒนาสมุนไพรให้เป็นยาเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน และขยายตลาดไปสู่ผลิตภัณฑ์กลุ่มยาสำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติม อีกทั้งยังโตด้วยช่องทางจัดจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศที่เพิ่มการจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด และการขยายตลาดสู่ต่างประเทศทั้งจีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง ตะวันออกกลาง และ CLMV

โดยหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงก้าวใหม่ของ BLC ในครั้งนี้ไว้ว่า “การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของ BLC และหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วเราจะเป็นบริษัทยาของคนไทยที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และสามารถแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่”

แน่นอนว่าในแง่การดำเนินธุรกิจนี่คือก้าวย่างที่น่าจับตา แต่ที่มากไปกว่านั้นคือความเคลื่อนไหวของบริษัทยาของคนไทยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านยาให้กับประเทศก็คงไม่ผิดนัก.