วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > เนด้า หนุนการรถไฟลาว เอื้อเศรษฐกิจเวียงจันทน์ หนองคาย

เนด้า หนุนการรถไฟลาว เอื้อเศรษฐกิจเวียงจันทน์ หนองคาย

หากเอ่ยถึงองค์การที่ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา JICA หรือ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น เป็นหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่น ที่คอยให้คำปรึกษาตลอดจนความช่วยเหลือด้านการพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น

ขณะที่ไทยมีหน่วยงานที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency หรือ NEDA (เนด้า) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ด้วยบทบาทหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ทั้งด้านการเงินและวิชาการ โดยประเทศที่เนด้าให้ความช่วยเหลืออยู่ในกลุ่ม CLMV เป็นหลัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สปป.ลาว ซึ่งที่ผ่านมาเนด้าได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 30 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท และอีกหนึ่งโครงการใน สปป.ลาว ที่เนด้าให้ความช่วยเหลือคือ การก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ที่เริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 โดยใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 994.68 ล้านบาท ปัจจุบันยังไม่ได้ทำการส่งมอบเนื่องจากยังต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทยแล้วเสร็จ ซึ่งการส่งมอบและพิธีเปิดน่าจะเกิดขึ้นในช่วงการประชุมความร่วมมือ “อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง” หรือ ACMECS ครั้งที่ 10 ซึ่ง สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพ

พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการ NEDA เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 (รถไฟไทย-ลาว) หรือสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) สปป.ลาว เป็นการขยายระบบคมนาคมขนส่งทางรางของ สปป.ลาว ต่อเนื่องจากระยะแรกของเส้นทางหนองคาย-ท่านาแล้ง ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร และเส้นทางท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมระบบอาณัติสัญญาณ บ้านพักเจ้าหน้าที่ทางเข้าสถานีเวียงจันทน์ งานจุดตัดทางรถไฟ และงานก่อสร้างสถานีเวียงจันทน์ โดยสถานีรถไฟสายนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมรถไฟ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ได้รับเงินกู้สนับสนุนจากรัฐบาลไทยผ่าน NEDA  สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ถูกออกแบบเพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วยระบบรางขนาด 1 เมตร

ระยะที่ 2 ส่วนที่ 1 คือ งานก่อสร้างย่านกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) เป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางรถไฟแห่งชาติลาว (National Railway Development Strategy) ที่ต้องการพัฒนาการขนส่งสินค้าในปริมาณทางราง เชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว งานก่อสร้างอาคารสำนักงานกรมรถไฟ และอาคารที่พักเจ้าหน้าที่ ทำให้กรมรถไฟมีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น รองรับการขยายตัวของสำนักงานกรมรถไฟ

นอกจากนี้ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว (สฟล.) ร่วมอบรมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับการเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ สปป.ลาว คาดการณ์ว่า หลังเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการแล้วจะมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยต่อวันถึง 7,500 คน

แม้เส้นทางท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ (สถานีบ้านคำสะหวาด) จะไม่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ที่สถานีเวียงจันทน์ได้ เนื่องจากอยูู่ห่างกันประมาณ 7.8 กิโลเมตร ซึ่งทางการลาวกำลังพัฒนาเส้นทางที่ผู้เดินทางจะเชื่อมต่อได้ด้วยรถสาธารณะ รถขนส่งมวลชน เพื่อสร้างให้เกิดรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการหลังสถานีรถไฟบ้านคำสะหวาดเปิดใช้บริการ

จะเห็นว่า ความพยายามของทางการ สปป.ลาว คือการปรับเปลี่ยนพื้นที่จาก Land Lock ไปสู่ Land Link เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางเข้าด้วยกัน ทั้งสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ แน่นอนว่านั่นหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาในอนาคตด้วย

แม้ว่าหลายคนจะยังไม่เข้าใจบทบาทของเนด้ามากนัก ในการออกไปพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยจะได้ประโยชน์อะไร นอกจากความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไทยจะได้ประโยชน์ หากประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การค้า การลงทุน

เส้นทางระบบรางคืออีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการนำเข้าและส่งออก ความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและประเทศใกล้เคียง ขณะที่เส้นทางดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงสินค้าไทยให้ส่งออกไปยังจีนและเวียดนามได้อีกมาก นับว่าเป็นการลดต้นทุนในการขนส่งได้อย่างดี

พีรเมศร์ กล่าวว่า “ผลจากการสร้างสถานีบ้านคำสะหวาดไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ต่อคนไทยและชาวลาว หากยังเกิดประโยชน์กับประชาชนแถบภูมิภาคนี้ด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินภายในประเทศ ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครหลวงเวียงจันทน์เป็นหมุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจำนวนมาก เพราะสามารถเดินทางต่ออีกเพียง 6-8 กิโลเมตร ก็สามารถนั่งรถไฟความเร็วสูงจากสถานีเวียงจันทน์ (สปป.ลาว) ไปยังสถานีบ่อเต็นของจีนได้อย่างง่ายดาย”

นอกจากการใช้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ในการสร้างสถานีรถไฟแล้ว อีกหนึ่งความช่วยเหลือที่เนด้าจะมอบให้ สปป.ลาวคือ การให้คำปรึกษาแผนการพัฒนาธุรกิจทั้งภายในสถานีและพื้นที่โดยรอบสถานี ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับ สปป.ลาว ในการสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นภายในสถานีและพื้นที่โดยรอบ

ผอ. เนด้ามองว่า “เชื่อว่าต่อไปเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะดี เพราะด่านตรวจคนเข้าเมืองจากที่เคยอยู่สถานีท่านาแล้ง จะย้ายมาอยู่ที่นี่ทั้งหมด ส่วนสถานีท่านาแล้งจะดำเนินการเรื่องขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่นั่งรถไฟจากหนองคายเพื่อเข้านครหลวงเวียงจันทน์ จะต้องมาดร็อปที่นี่ก่อน และยังสามารถพักค้างคืนที่นี่ 1-2 วัน ก่อนจะเดินทางไปหลวงพระบาง บ่อเต็น ต่อไปได้ ฉะนั้นนอกจากจะทำให้ระบบการคมนาคมขนส่งเกิดความคึกคักยังทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนบริเวณนี้ด้วย”

ด้าน หินเพชร ละคอนวง รองอธิบดีกรมรถไฟ สถานีรถไฟแห่งชาติลาว มีแผนพัฒนาพื้นที่ในสถานีว่า “เรามีแผนธุรกิจคร่าวๆ ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร จากการที่ประเมินเบื้องต้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการประมาณ 7,500 คนต่อวัน ปัจจุบันมีรถไฟจากไทยวิ่งเข้ามายังสถานีท่านาแล้งเพียง 1 เที่ยวต่อวัน ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มเป็น 5 เที่ยวต่อวัน โดย 1 ขบวนจะมีตู้คอนเทนเนอร์ 25 ตู้ ส่วนใหญ่ขนส่งผลไม้ เช่น ทุเรียน และปุ๋ย เป็นการส่งผ่านไปยังประเทศจีน และ สปป.ลาว ขณะเดียวกันเรามีการส่งออกเบียร์ลาว กาแฟ และสินค้าอื่นๆ ไปยังประเทศไทยด้วย”

ขณะที่ร้านค้าที่จะเข้ามาให้บริการเชิงพาณิชย์ในบริเวณสถานีจะมีทั้งร้านค้าเชนชื่อดัง และร้านค้าจากชุมชน เพื่อกระจายรายได้ให้คนในชุมชน คนในท้องถิ่น ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นลักษณะประมูล ทั้งหมดจะเริ่มต้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับส่งมอบสถานีจากทางการไทยเรียบร้อยก่อน

รถไฟ สำหรับ สปป.ลาว ถือเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากทางการลาวไม่มีรถไฟ เพิ่งมีรถไฟจีน-ลาว และสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เป็นเงินกู้จากไทย ปัจจุบันรถไฟที่เดินทางจากไทยมา สปป.ลาว มาได้แค่สถานีท่านาแล้งเท่านั้น ซึ่งหากจะเดินรถมาถึงสถานีบ้านคำสะหวาดไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสัญญาการเดินรถ แม้ว่าขบวนรถไฟจากไทยจะสามารถเดินทางเข้ามาที่สถานีนี้ได้ แต่หากใช้คนไทยเป็นผู้ขับไม่สามารถทำได้

ดังนั้น ระหว่างรอการเปิดสถานีอย่างเป็นทางการ สปป.ลาว จะส่งคนมาฝึกอบรมและเรียนรู้วิธีการขับรถไฟจากการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาการอบรมประมาณ 1-2 เดือน เบื้องต้นรองอธิบดีกรมรถไฟ จะส่งเจ้าหน้าที่มาเข้าอบรมประมาณ 15 คน โดยแบ่งเป็น 5 คนสำหรับเรียนเรื่องการขับรถไฟ อีก 10 คนเรียนรู้เรื่องการบำรุงรักษา พนักงานเดินรถ ระบบขายตั๋วโดยสาร

นี่เป็นอีกหนึ่งโครงการความช่วยเหลือจากเนด้า ถึง สปป.ลาว ที่ไม่ใช่เพียง สปป.ลาว เท่านั้นที่จะเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์ ไทยจะได้รับอานิสงส์ในอุตสาหกรรมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว.