ซีพี-เมจิ ใช้เวทีงานด้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดแห่งปี “Thailand Coffee Fest 2023” เปิดตัวโครงการ “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น” ชวนผู้บริโภคส่งแกลลอนนมเมจิ ซึ่งเป็นพลาสติกแบบขุ่น (HPDE) เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และแปรรูปเป็น “ถังขยะ” ก่อนส่งมอบให้ชุมชนในจังหวัดสระบุรี
บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ถือเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมนมพาสเจอร์ไรซ์ของไทย ที่ดำเนินธุรกิจมานานถึง 34 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซีพี-เมจิ ใช้แนวคิด “เพิ่มคุณค่าชีวิต” หรือ Enriching Life เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท
โดยคอนเซ็ปต์ “เพิ่มคุณค่าชีวิต” ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่
1. เพิ่มคุณค่าด้านสุขภาพ ผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
2. เพิ่มคุณค่าด้านสังคมและผู้คน ดูแลชุมชนและผู้คนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งผู้เลี้ยงโคนม ผู้ค้า พันธมิตร พนักงาน จนถึงผู้บริโภค
3. เพิ่มคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเสาหลักที่สำคัญและเป็นที่มาของแคมเปญ “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น”
ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายนมพาสเจอร์ไรซ์อันดับหนึ่งของไทย ผลิตนมออกสู่ตลาดและสร้างยอดขายแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งนั่นหมายถึงการส่งพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์ออกสู่สิ่งแวดล้อมในจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งทางซีพี-เมจิ ตระหนักถึงความรับผิดชอบด้านนี้จึงให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะมาโดยตลอด ทั้งการใช้พลังงานสะอาดภายในโรงงาน การจัดการน้ำเสียที่มีคุณภาพ ลดการใช้น้ำ ไม่ปล่อยน้ำเสียจากโรงงานสู่สภาพแวดล้อม รวมถึงการจัดการขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก
“บรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ ซีพี-เมจิ เป็นพลาสติกขุ่น หรือ HDPE (High Density Polyethylene) ยิ่งเราขายมาก เราก็ทำให้พลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปด้วย พลาสติกขุ่นนั้นสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ยังไม่ได้มีการทำอย่างแพร่หลายนัก ในฐานะที่เราใช้เยอะจึงถือโอกาสนี้ออกมารณรงค์ สร้างการรับรู้ ด้วยการเปิดตัวโครงการ ‘ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น’ ให้คนไทยร่วมกันส่งแกลลอนนมที่ใช้แล้วทุกยี่ห้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้อง และเพิ่มคุณค่าด้วยการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์ต่อชุมชนอย่างถังขยะเป็นต้น” ชาลินี พูนลาภมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด เปิดเผย
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการขยะพลาสติก และประธานกรรมบริหาร CirPlas อย่าง “ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์” ฉายภาพสถานการณ์ขยะพลาสติกในเมืองไทยว่า
“ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน โดยขยะมากกว่า 75% ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งมักจะถูกนำไปฝังกลบหรือเผาทำลาย ส่งผลให้เกิดการหลุดรอดและตกค้างในสิ่งแวดล้อม ส่วนพลาสติกที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลสูงที่สุดคือพลาสติกประเภท PET อยู่ที่ 70% รองลงมาคือ PP 25% และบรรจุภัณฑ์ประเภท HDPE อยู่ที่ 20% ซึ่งโครงการซีพี-เมจิ รีไซขุ่น จะทำให้ตัวเลขข้างต้นมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน”
โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ได้ด้วยการแยกขยะอย่างถูกวิธี เพียงแกะฉลาก นำแกลลอนแกว่งน้ำเพื่อลดการหมักหมม ปล่อยให้แห้ง และนำแกลลอนนั้นไปทิ้ง ณ จุดรับทิ้งของ CirPlas กว่า 60 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล และทางบริษัทฯ จะทำการเก็บและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ ซึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นถังขยะต่อไป โดยสามารถค้นหาข้อมูลของจุดรับทิ้งได้ที่ Facebook CirPlas หรือ Line Official (@cirplas) หรือสังเกตจากเครื่องหมายแคมเปญ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น ได้ทุกจุดรับทิ้งแกลลอน
สำหรับแคมเปญ “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น” ถือเป็นแคมเปญนำร่อง ตั้งเป้าเก็บให้ได้ 15,000 แกลลอน เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก ก่อนนำมาผลิตเป็น “ถังขยะ เพื่อแยกขยะ” จำนวน 500 ถัง และส่งมอบให้จังหวัดสระบุรี ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 สำหรับเหตุผลที่เลือกจังหวัดสระบุรี เพราะเป็นที่ตั้งของโรงงานซีพี-เมจิ
เมื่ออันดับหนึ่งอย่างซีพี-เมจิ เริ่มขยับ เห็นทีแบรนด์อื่นๆ คงต้องขยับตาม เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน