วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ภาครัฐ-เอกชน พร้อมเดินหน้าอุตสาหกรรมยาไทย ความมั่นคงทางการยาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ภาครัฐ-เอกชน พร้อมเดินหน้าอุตสาหกรรมยาไทย ความมั่นคงทางการยาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในเรื่องการบริหารจัดการและรับมือต่อโรคอุบัติใหม่อย่าง โควิด-19  นอกจากนี้ เว็บไซต์ Numbeo ที่มีฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพและระบบสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยังได้จัดอันดับเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีระบบสาธารณสุขโดยรวมที่ดีที่สุดในช่วงกลางปี 2022 ปรากฏว่าจังหวัดเชียงใหม่ได้อันดับ 1 ที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุด

ในขณะที่กรุงเทพฯ และพัทยา ได้อันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งดัชนีระบบสาธารณสุขนี้เป็นการประมาณคุณภาพโดยรวมของระบบการดูแลสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ แพทย์ ค่าใช้จ่าย และอื่นๆ อ้างอิงจากการสำรวจผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ ขณะที่ภาครัฐมีเป้าหมายจะยกระดับให้ไทยก้าวสู่การเป็น Medical Hub ทว่า นอกจากการบริหารจัดการในระบบสาธารณสุขอาจยังไม่เพียงพอที่จะเอื้อให้ไทยก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายดังกล่าวได้ “อุตสาหกรรมยา” อาจเป็นอีกหนึ่งแรงขับที่สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจ

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า ปี 2565 มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 4.5-5.0% จากปี 2564 ผลจากความต้องการบริโภคยาและเวชภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่กลับสู่ระดับใกล้เคียงปกติ หลังความกังวลต่อการระบาดของ โควิด-19 ผ่อนคลายลง ขณะที่กำลังซื้อมีแนวโน้มขยับดีขึ้นตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทย การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปี 2566-2568 มูลค่าจำหน่ายยาจะเติบโตมากขึ้น

ประเด็นที่ท้าทายของธุรกิจยา คือ ไทยยังขาดศักยภาพในการผลิตยาที่จำเป็น จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งคนไทยและต่างชาติ และภาระต้นทุนของผู้ผลิตยาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการต้องปรับปรุงโรงงานผลิตยาให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S รวมถึงราคาวัตถุดิบนำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยข้างต้นจะเป็นข้อจำกัดในการทำกำไรของผู้ประกอบการ

“เมืองไทยยังเป็นประเทศที่ขึ้นอยู่กับการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตยา” รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวไว้ในงานแถลงข่าวการจัดงาน CPHI South East Asia 2023 (ซีพีเอชไอ เซาท์อีสต์ เอเชีย 2023) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคมนี้

“ยาเป็นธุรกิจที่ถูกลืม แต่ธุรกิจนี้กลับมาเติบโตอีกครั้งหลังโควิด-19  ความมั่นคงทางการยา คือการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้ เพราะยามีความหมายต่อชีวิต มีผลต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงทางอ้อม นั่นเพราะความเจ็บป่วยหากเกิดขึ้นแล้วส่งผลให้เศรษฐกิจไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รุ้งเพชร ขยายความ

อุตสาหกรรมยา ในที่นี้หมายความรวมถึงยาแผนปัจจุบันและเวชภัณฑ์ โดยยาแผนปัจจุบันได้แก่ ยาต้นตำรับ หรือเรียกว่ายาจดสิทธิบัตร คือยาที่ต้องผ่านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งใช้เวลานานในการศึกษาค้นคว้า มีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนสูง ผู้ผลิตยาต้นตำรับจะได้รับการจดสิทธิบัตรผูกขาดในการผลิตยาเป็นเวลา 20 ปี เมื่อสิทธิบัตรสิ้นสุดลง ผู้ผลิตรายอื่นจะสามารถผลิตยานั้นออกจำหน่ายได้

และยาชื่อสามัญ เป็นการผลิตลอกเลียนสูตรยาต้นตำรับ หรือยาต้นแบบซึ่งหมดสิทธิบัตรแล้ว เป็นการผลิตขึ้นภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าตามสิทธิของผู้ครองสิทธิบัตรยา แต่มีตัวยาสำคัญชนิดเดียวกับยาต้นตำรับ

ยาและเวชภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงในการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบ ทำให้ฐานการผลิตยาและเวชภัณฑ์หลักของโลกกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น

ภก.สุรชัย เรืองสุขศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสามารถเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งการจัดการ “ซีพีเอชไอ เซาท์อีสต์ เอเชีย 2023” ถือเป็นตัวกลางการประสานให้เกิดความร่วมมือที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมพัฒนาธุรกิจ การค้าการลงทุน ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาภาคธุรกิจเอกชนไทยให้แข็งแกร่ง มีความพร้อมร่วมกันที่จะวางรากฐานให้ประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างความมั่นคง

นโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยาของภาครัฐ โดยตั้งเป้าปี 2566-2570 เพิ่มมูลค่าผลิตยามากกว่า 1 แสนล้านบาท และขยายตลาดส่งออกเป็น 1.3 หมื่นล้านบาท สุรชัยมองว่า “ภายในกำหนดการดังกล่าว ไทยน่าจะสามารถที่จะก้าวสู่เป้าหมายนั้นได้ เพราะไทยมีแนวโน้มที่จะเป็น Medical Hub เรามีศักยภาพทางการแพทย์ มีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้ ถ้าเราสามารถผลิตวัตถุดิบสำหรับการใช้ในกระบวนการผลิตยา จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศแน่นอน”

ขณะที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า เป้าหมายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ต้องการให้ไทยเป็น Medical Hub นั้นมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะตลาดยาไทยมีโอกาสเติบโตสูงมาก และไทยมีชื่อเสียงด้านคุณภาพ เป็นที่ต้องการของต่างชาติ ทว่า ภาครัฐจำเป็นต้องช่วยในเรื่องขั้นตอนการขึ้นทะเบียนยาให้เร็วขึ้น

ด้านศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ส่งเสริมพัฒนาการใช้สมุนไพรอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์การใช้สมุนไพรภายในประเทศมากขึ้น ทางสถาบันจึงส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรผ่านการทำวิจัย โดยการศึกษาสมุนไพรทั้งด้านการสกัดและควบคุณคุณภาพ ศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยด้วยวิธีทดสอบที่ได้มาตรฐานสากล

วว. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาจากผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และวัสดุทางการแพทย์ จึงได้ยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำในมนุษย์ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้ได้รับการรับรองตามหลักการ OECD GLP นับเป็นการเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วยมาตรฐานการทดสอบที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ จนทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการขึ้นทะเบียนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยมีการยอมรับข้อมูลการทดสอบ เมื่อต้องการส่งผลิตภัณฑ์ไปขายต่างประเทศทำให้ไม่ต้องทดสอบซ้ำ ทั้งยังมีการพัฒนายาใหม่จากพืชสมุนไพร มาผลิตเป็นวัตถุดิบสำคัญทางยาและระบบควบคุณคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองสุขภาพของคนไทย รวมถึงการเพิ่มมูลค่าการส่งออก ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป

ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศเป็นบริษัทสัญชาติไทย 80% และต่างชาติ 20% ซึ่งการสร้างโรงงานสำหรับผลิตยาเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน GMP.PIC/S ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 800 ล้านต่อโรงงาน ภญ. ลลนา เสตสุบรรณ นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน เปิดเผยว่า สมาคมฯ มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตยาแผนปัจจุบันที่ผลิตในประเทศไทยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานทัดเทียมกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังมีส่วนช่วยยกมาตรฐานของอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันในไทยให้เพียงพอแก่ความต้องการของประเทศ

ข้อมูลจากการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจหมวดยา เวชภัณฑ์ และขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์จากเดิม 994 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 1,792 ราย สะท้อนว่าอุตสาหกรรมยากำลังอยู่ในความสนใจของนักลงทุน

ธำรงชัย เอกอมรวงศ์ นักลงทุนอิสระ มีมุมมองความคิดต่ออุตสาหกรรมยาว่า “อุตสาหกรรมนี้มีสเกลที่ใหญ่ โอกาสเติบโตสูง ด้านการลงทุนในรายย่อยพบว่าผลประกอบการบริษัทยาอยู่ในเทรนด์ขาขึ้นแทบทุกบริษัท สาเหตุของการเติบโตเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะปัจจุบันคนมีเงินมากขึ้น อายุยืนขึ้น ใส่ใจสุขภาพร่างกายของตัวเองมากขึ้น จึงกลายเป็นความต้องการยาทั้งในแง่มุมของการรักษาโรคและอาหารเสริม

ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกคือ การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาสดใส และชื่อเสียงของไทยด้านสาธารณสุขในครั้งที่สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างดี ทำให้เพิ่มโอกาสให้ตลาดนี้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของกลุ่มศัลยกรรมตกแต่ง ที่ไทยได้รับความสนใจจากลูกค้าต่างชาติเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น ยาจึงเป็นส่วนประกอบของกลไก Medical Hub และการขยายตัวของธุรกิจเฮลท์แคร์ โรงพยาบาล เครื่องมือแพทย์ ที่มีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ยาซึ่งผลิตโดยบริษัทไทยยังมีอยู่จำกัด นี่เป็นช่องว่างการเติบโตในแง่การลงทุนที่มีอยู่มาก หากมองในมุมของนักลงทุนที่ยึดผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นหลัก

อุปสรรคของผู้ผลิตยาในไทยคือ ภาวะการแข่งขันกับยาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่จึงได้เปรียบในเรื่องการผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตยา และยังทำให้ยามีต้นทุนต่ำกว่าไทย ขณะที่การลงทุนสร้างโรงงานผลิตยาซึ่งจะต้องได้มาตรฐาน GMP-PIC/S ที่ต้องใช้ต้นทุนสูง 500-800 ล้านบาท ย่อมส่งผลต่อต้นทุนการผลิตยาโดยตรง แม้ว่าไทยจะสามารถผลิตยาเพื่อส่งออกไปขายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านได้ เช่น เมียนมา สปป.ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพราะได้รับการยอมรับในแง่ของมาตรฐาน แต่ภายในประเทศกลับเป็นรองยานอก หรือยานำเข้า โดยเฉพาะยารักษามะเร็ง ที่ต้องนำเข้าสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท และราคาขายต่อเม็ดสูงหลักพันบาท

การต่อสู้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการยาของประเทศจึงไม่ใช่เพียงความพร้อมของภาคเอกชน หรือนักลงทุนเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องอาศัยการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ แรงสนับสนุน หากจะตอบสนองนโยบายการเป็น Medical Hub  ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต การแข่งขัน และป้อนยาไทยให้เข้าสู่ระบบ ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศให้มากขึ้น.