วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > Good Noodle บุกเบิก ปลุกบะหมี่ดีไอวาย

Good Noodle บุกเบิก ปลุกบะหมี่ดีไอวาย

อังกูร วงศ์กลธูต ใช้เวลากว่า 2 ปี ปลุกปั้นร้านอาหารแนวใหม่แบรนด์ Good Noodle Bkk โดยรวบรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากทั่วสารทิศ มากกว่า 300 รสชาติ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “มาแต่ละครั้ง จะได้ลองชิมรสชาติใหม่ๆ และเราได้เลือกให้คุณแล้ว” พร้อมไอเดีย DIY หรือ Do it yourself  ให้ลูกค้าสามารถเลือกทอปปิ้งสร้างสรรค์เมนูโดนใจด้วยตัวเองได้

อังกูรเล่าถึงจุดเริ่มต้นการสร้างอาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแห่งแรกในประเทศไทยมาจากความพยายามพลิกวิกฤตโควิด เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจและอยากสร้างโมเดลร้านอาหารที่ไม่ธรรมดา ไม่ใช่แค่ร้านครัวซองต์ ร้านกาแฟ หรือคลาวด์คิทเช่น รวมทั้งเป็นจังหวะพอดีเพื่อนจากต่างประเทศส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เขามองกระป๋องบะหมี่สำเร็จรูปถ้วยนั้นอยู่นานและเกิดจุดประกายไอเดียขึ้นมาทันที

เขาเริ่มทำรีเสิร์ชตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติต่างๆ จากหลากหลายแบรนด์ ทั้งแบรนด์ในประเทศ แบรนด์เกิดใหม่ แบรนด์ไทยๆ ของกลุ่มเอสเอ็มอีที่รสชาติดีแต่ขาดเงินทุนทำตลาด แบรนด์โด่งดังในโซเชียล และแบรนด์จากต่างประเทศ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม

“เดิม ผมเป็นที่ปรึกษาแบรนด์มาก่อน เช่น คิวเฮาส์, 3 เคแบตเตอรี่, ทรูคอร์ปอเรชั่น แบรนด์ดังๆ พอเกิดโควิดระบาดหนัก งานเริ่มน้อยลง และตอนนั้นเป็นอะไรที่ทุกคนมองธุรกิจอาหารและทำในสิ่งที่เหมือนๆ กัน ซึ่งถ้าคิดแบบนี้เหมือนติดกับดักตัวเอง ต้องแข่งกับร้านที่มีอยู่ในตลาดแล้ว”

“ผมมองสวนออกมาว่า ต้องมีอะไรที่คนคิดไม่ถึง ผมผุดไอเดีย Good Noodle เปรียบเสมือน Portal หรือเว็บท่าที่แต่ละคนมีคอนเทนต์ของตัวเอง แบรนด์ต่างๆ มีคอนเทนต์และสร้างแบรนด์ได้ดีด้วย มีรสชาติของตัวเอง มีความหลากหลายของตัวเอง เราคิดว่า เราทำได้ ลองรวบรวมจาก Mind Map สร้างจุดดึงแต่ละแบรนด์เข้ามารวบรวมไว้”

ขณะเดียวกัน ห้างยูเนี่ยนมอลล์อยู่ระหว่างการหาจุดขายใหม่ในเวลานั้น เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้า การเริ่มต้นโปรเจกต์ Noodle Portal จึงชัดเจนมากขึ้นและตัดสินใจเปิดร้านหลังทางการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด ไฟเขียวให้ศูนย์การค้าเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคม 2564

8 พฤศจิกายน 2564 อังกูรได้ฤกษ์เปิดร้าน Good Noodle Bkk ปรากฏว่า เพียงไม่กี่วันกระแสตอบรับดีมาก ดังเปรี้ยงปร้าง มีคนรีทวีตและยูทูบเบอร์มารีวิวหลายสิบคลิป ต้องเพิ่มที่นั่งในร้านจากไม่กี่สิบที่นั่งเป็นหลักร้อย เพราะกลุ่มลูกค้าชื่นชอบคอนเซ็ปต์” อาณาจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” มีให้เลือกเยอะมาก หลายแบรนด์หารับประทานได้ยากในเมืองไทย และสามารถต้มกินในร้านได้ เรียกว่าสนุกสนานกับการเลือกรสชาติบะหมี่ พร้อมทอปปิ้งมากกว่า 30 ตัว ไม่ใช่แค่ไข่ออนเซ็น ปูอัด กิมจิรสชาติเกาหลีต้นตำรับ ผักชีญี่ปุ่น แต่มีตัวใหม่ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดเวลา พร้อมเครื่องดื่ม ขนมหวานและไอศกรีมอีกมากมาย

สำหรับราคาบะหมี่เริ่มต้นตั้งแต่ซองละ 6 บาท ไม่รวมทอปปิ้ง และแพงสุดขึ้นอยู่กับขนาด แบรนด์ อย่างบะหมี่ไต้หวันกับจีนร้อยกว่าขึ้นไปต่อซอง โดยมีจุดเด่นที่เส้นและน้ำซุป

ขณะที่เส้นเกาหลีมักเป็นเส้นหนาๆ ต้องใช้อุณหภูมิต้มให้พอเหมาะ ไม่เช่นนั้นเส้นจะแข็ง หรืออาจเละไปเลย ซึ่งแบรนด์ที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากเกาหลีตามกระแสโลกออนไลน์ กระแสซีรีส์เกาหลี และลูกค้าคนไทยคุ้นเคยกับบะหมี่เกาหลีที่เข้ามาค่อนข้างเยอะ

ส่วนการเลือกเปิดร้านในยูเนี่ยนมอลล์มาจากการจัดคอนเสิร์ตวงดนตรีเกาหลีที่ผ่านๆ มาและเป็นแหล่งรวมคนมีกำลังซื้อจริง ไม่ใช่คนมาเดินเล่น แต่มาซื้อจริง

ปัจจุบัน Good Noodle Bkk ยังไม่ได้ขยายร้านสาขาใหม่ แม้อังกูรเคยกล่าวกับสื่อว่า มีคนอยากร่วมลงทุนและสอบถามถึงการขายสิทธิ์แฟรนไชส์จำนวนมาก แต่เขายังต้องการเวลาวางระบบต่างๆ ให้มั่นคงแข็งแรง เน้นการเลือกซัปพลายเออร์ เพราะอยากให้คนได้รับประทานสิ่งที่ดี เน้นจุดขาย ไม่ใช่แค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เคยรับประทาน แต่สามารถเลือกทอปปิ้ง ชิม และซื้อกลับบ้านได้ รับประทานเป็นครอบครัวได้ มีประสบการณ์กับบะหมี่ที่หลากหลายมากที่สุด

ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีก่อนอังกูรเคยวางแผนอยากเปิดร้าน Stand alone พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายและอยากจัดพื้นที่โชว์จุดขายต่างๆ ให้ลูกค้าเช็กอินต่อยอดปลุกกระแสโซเชียลด้วย

ที่ผ่านมามีหลายคนพูดถึง Good Noodle เหมือน The Instant Ramen Museum พิพิธภัณฑ์ราเมนของ Nissin แต่อังกูรบอกว่า พิพิธภัณฑ์ราเมนของนิชชินเป็นโชว์เคสแบรนด์เดียว ซึ่งถ้าทำแบรนด์เดียวจะขาดความวาไรตี้ของสินค้า ไม่น่าสนใจสำหรับคนไทย และถ้าต้องผูกพันกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะเหมือนโดนสปอนเซอร์ไปแล้ว ติดกับดักตัวเองอีก

ดังนั้น แม้ Good Noodle ยังต้องการเวลาเติมเต็มกลยุทธ์และหาพันธมิตร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อังกูรทำให้เกิดปรากฏการณ์การแข่งขันในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่รุนแรงขึ้น ทุกค่ายต่างเร่งพัฒนารสชาติแข่งบะหมี่ต่างชาติ หรือแม้กระทั่งการพลิกโฉมร้านอาหารให้มีจุดขายแปลกแหวกแนวด้วย.