วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐีไทยโตไม่หยุด ต่างชาติรุกธุรกิจ Wealth Management

เศรษฐีไทยโตไม่หยุด ต่างชาติรุกธุรกิจ Wealth Management

ธุรกิจ Wealth Management หรือบริการบริหารความมั่งคั่ง และบริการที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล (Private Banking) ในไทย ช่วง 3-5 ปี ขยายตัวมากขึ้นพร้อมๆ กับความมั่งคั่งของเศรษฐีไทยที่เติบโตไม่หยุด จนมีการระบุว่า ประเทศไทย คือเมืองหลวงของมหาเศรษฐีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะเดียวกัน McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลกในสหรัฐอเมริกา คาดการณ์แนวโน้มการบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทยจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องอีก 5 ปี มูลค่าสินทรัพย์จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี

อาร์โนลด์ เทลิเยร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บีเอ็นพี พาริบาส์ เวลท์ แมเนจเม้นท์ ประจำเอเชีย (BNP Paribas Wealth Management) กล่าวว่า บีเอ็นพี พาริบาส์ให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่และครอบครัวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2522 โดยล่าสุดประกาศเปิดตัวธุรกิจด้านการบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทย เพื่อให้บริการแก่นักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) ในประเทศไทย เพราะเห็นศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตของตลาด

เอ็นพี พาริบาส์ เวลท์ แมเนจเม้นท์ ยังหยิบยกข้อมูลวิจัยจากนิตยสาร Hurun Global Rich List ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ระบุว่า เมื่อปี 2565 ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวน  46 คน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 2 คน และจัดอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความต้องการผู้ให้บริการด้านกลยุทธ์การวางแผนรักษาความมั่งคั่ง การกระจายการลงทุน และการธนาคารระหว่างประเทศ

ตัวเลขดังกล่าวเป็นอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศในโลกมีกลุ่มเศรษฐีลดลงจากปีก่อน เช่น จีน ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของมหาเศรษฐีโลก มี 969 คน ลดลงจากปีก่อน 164 คน สหรัฐอเมริกา 691 คน ลดลง 25 คน อินเดีย 187 คน ลดลง 28 คน เยอรมัน 144 คน ลดลง 1 คน สหราชอาณาจักร 134 คน ลดลง 16 คน สวิตเซอร์แลนด์ 100 คน ลดลง 7 คน

ถ้าแบ่งกลุ่มมหาเศรษฐีตามภูมิภาคยังพบว่า เอเชียมีจำนวนมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก 1,535 คน แม้สัดส่วนลดลง 210 คนเทียบกับปีก่อน มูลค่าทรัพย์สินรวม 5,361 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 15.5%

ตามด้วยอเมริกาเหนือ 758 คน ลดลง 26 คน มูลค่าทรัพย์สินรวม 4,760 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 8%

ยุโรป 679 คน ลดลง 26 คน มูลค่าทรัพย์สินรวม 3,097 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 2.3%

อเมริกาใต้ 75 คน ลดลง 10 คน มูลค่าทรัพย์สินรวม 233 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 7.6%

โอเชียเนีย 43 คน เพิ่มขึ้น 3 คน มูลค่าทรัพย์สินรวม 209 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 10%

แอฟริกา 18 คน ไม่เปลี่ยนแปลง แต่มูลค่าทรัพย์สินรวม 83 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 0.6%

เมื่อรวมทุกภูมิภาคมีมหาเศรษฐีทั่วโลก 3,112 คน ลดลงกว่าปีก่อน 269 คน มูลค่าทรัพย์สินรวม 13,742 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 9.9% ซึ่งการลดลงมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งกรณีโควิดแพร่ระบาดและผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่ตัวเลขในภาพรวมยังสะท้อนศักยภาพของภูมิภาคเอเชียและไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการบริการ Wealth Management รวมถึงไพรเวตแบงกิ้ง

ทั้งนี้ บีเอ็นพี พาริบาส์ เวลท์ แมเนจเม้นท์ เป็น Private Bank ที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มยูโรโซน มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการมากกว่า 4.11 แสนล้านยูโร ณ เดือนธันวาคม 2565 ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ 3 แห่งในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง โดย บีเอ็นพี พาริบาส์ เป็นธนาคารของสหภาพยุโรป มีการดำเนินงานใน 65 ประเทศ มีสามกลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ Retail Banking, Investment & Protection Services และ Corporate & Institutional Banking

การรุกขยายบริการเพื่อเจาะตลาดประเทศไทยย่อมหมายถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นด้วย โดยสมรภูมินี้มีผู้เล่นหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยที่เน้นการบริการทางการเงินอย่างครบวงจร (Universal Banking) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (Broker) และกลุ่มบริษัทประกันชีวิต

ด้านธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นค่ายแบงก์ที่ให้บริการบริหารความมั่งคั่งเจ้าแรกๆ รับกลุ่มลูกค้าที่มีเงินฝากและเงินลงทุนกับธนาคารตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ล่าสุดงัดบริการใหม่ Reconciliation Service การแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว ซึ่งถือเป็นหนึ่งปัญหาที่มักเกิดขึ้นเสมอในกลุ่มมหาเศรษฐี

พีระพัฒน์ เหรียญประยูร กรรมการผู้จัดการ Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านระหว่างรุ่น และการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินธุรกิจครอบครัว ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงเกิดความตื่นตัวในการบริหารจัดการและวางแผนทรัพย์สินครอบครัว ลูกค้าส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญเรื่องการวางแผนการส่งต่อธุรกิจครอบครัวเพิ่มขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม ลูกค้ารวมกว่า 4,000 ราย หรือประมาณ 790 ครอบครัว กว่า 15% ของลูกค้าที่มีความต้องการวางแผนการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว มักเจอปมความขัดแย้งภายในครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวถึงขั้นสะดุดหยุดลงได้

ขณะที่ต้องยอมรับว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยกว่า 80% ของ GDP มาจากรายได้ของธุรกิจครอบครัว และ 3 ใน 4 ของธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ กลุ่มธุรกิจครอบครัว นี่คือโอกาสของบริการใหม่

“KBank Private Banking เคยมีบริการช่วยลูกค้าแก้ไขความขัดแย้งผ่านการกำหนดกติกาครอบครัวหรือการทำธรรมนูญครอบครัว หรือ Family Continuity Planning แต่ลูกค้ากว่า 15% มีระดับความขัดแย้งมากเกินกว่าจะหาข้อตกลงร่วมกันเองได้ ทำให้เราต้องเปิดบริการ Reconciliation Service มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยใช้หลักจิตวิทยาและหลักกฎหมายเข้ามาช่วยลูกค้ายุติข้อพิพาท เพื่อให้การจัดการกงสีและธุรกิจครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้” นายพีระพัฒน์

สำหรับบริการ Reconciliation Service เน้น 3 กลยุทธ์หลัก คือ การรักษาสายสัมพันธ์ครอบครัว เพราะที่ผ่านมาความขัดแย้งมักถูกยกระดับขึ้นเป็นการฟ้องร้องและสร้างความขัดแย้งหนักมากขึ้น การเร่งยุติความขัดแย้งในระยะเวลาอันสั้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการฟ้องร้องในชั้นศาล และสุดท้ายเน้นจัดการกงสีอย่างราบรื่นที่สุด

ปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการไพรเวตแบงกิ้งรวมแล้วกว่า 4,000 ราย หรือประมาณ 790 ครอบครัว มูลค่าทรัพย์สินครอบครัวภายใต้การบริหารงานกว่า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่า บริการตัวใหม่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าเพิ่มมากขึ้น รักษาความมั่งคั่งในระยะยาวได้.