วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ชาญ ศรีวิกรม์ เร่งมิกซ์ยูส เกษรวิลเลจ โกยท่องเที่ยว

ชาญ ศรีวิกรม์ เร่งมิกซ์ยูส เกษรวิลเลจ โกยท่องเที่ยว

ชาญ ศรีวิกรม์ ประธานบริหารกลุ่มเกษร พร๊อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป กำลังเร่งนับถอยหลังแผนเปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ของ “เกษรอัมรินทร์ (Gaysorn Amarin)” ตามยุทธศาสตร์การเติมเต็มโปรเจกต์มิกซ์ยูส “เกษรวิลเลจ (Gaysorn Village)” และสร้างย่านราชประสงค์เป็นคอมมูนิตี้รวมชีวิตผู้คนตามพระราชประสงค์ที่มุ่งมั่นไว้ตั้งแต่แรก

ทั้งนี้ เกษรวิลเลจ มีชื่อเดิมว่า “เกษรพลาซ่า” เปิดทำการเมื่อปี 2537 ในลักษณะศูนย์การค้าที่รวบรวมสินค้าชื่อดังจากทั่วทุกมุมโลกมาไว้ในที่เดียว เพื่อจับกลุ่มลูกค้าระดับบน ต่อมามีการปรับรูปแบบโครงการใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างไลฟ์สไตล์วิลเลจสำหรับคนเมือง (Lifestyle Urban Village)

ชาญกล่าวว่า เกษร พร๊อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ต้องการยกระดับเกษรวิลเลจสู่ความเป็น Placemaking Destination หรือ ‘พื้นที่ที่มีความหมาย’ ให้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการพัฒนาศูนย์กลางไลฟ์สไตล์อื่นๆ ของกรุงเทพฯ เราไม่ได้สร้างอาคารขึ้นใหม่ แต่ใช้อาคารเก่าที่มีเรื่องราวความเป็นมาและความทรงจำอันรุ่งเรืองในอดีต ปรับภาพลักษณ์ใหม่และเชื่อมโยงมิกซ์ยูสทั้ง 3 อาคาร คือ เกษรทาวเวอร์ เกษรเซ็นเตอร์ และเกษรอัมรินทร์

สิ่งสำคัญ คือการดึงผู้คนทุกทิศทางของย่านราชประสงค์เข้าสู่ Lifestyle Urban Village โดยอาศัย “ราชประสงค์วอล์ก” หรือ R Walk ทางเดินยกระดับที่เชื่อมต่อตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าชิดลมและสถานีรถไฟฟ้าสยาม มายังตัวโครงการ และเชื่อมต่อเพิ่มเติมไปยังย่านประตูน้ำ โดยใช้ทางเชื่อมผ่านหน้าโรงแรมอโนมา บิ๊กซี ราชดำริ ศูนย์การค้าเดอะมาร์เก็ตบายแพลทินัม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และสิ้นสุดเส้นทางที่ศูนย์การค้าแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ถนนเพชรบุรี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับท่าเรือคลองแสนแสบ ประตูน้ำ และสถานีประตูน้ำ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ตามแนวถนนราชปรารภและถนนเพชรบุรีตัดใหม่ในอนาคต

สำหรับการรีแบรนด์อาคาร “เกษรอัมรินทร์” ภายใต้แนวคิด ‘Live your own Legacy’ ซึ่งเตรียมเผยโฉมปลายปี 2566 นั้น ใช้งบลงทุนรวม 1,000 ล้านบาท โดยนำอาคารอัมรินทร์พลาซ่า ศูนย์การค้าในตำนานของกรุงเทพฯ และอยู่คู่ย่านราชประสงค์มานานกว่า 38 ปี มาต่อยอดด้วยดีไซน์และองค์ประกอบใหม่ๆ เปลี่ยนสถานที่ ‘เดิม’ เป็นจุดหมายใหม่ของกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางไลฟ์สไตล์ (Bangkok’s Capital of Lifestyle District) ใจกลางเมือง 4 รูปแบบ 4 แนวคิด

ไอเดียแรก MINGLE หรือ Place for Tasteful Moments มีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ Hanging Garden พื้นที่อินดอร์กึ่งเอาต์ดอร์ใหม่ด้านหน้าอาคาร มีดีไซน์ฟีเจอร์ของ Gaysorn Cocoon ใส่พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ โอบล้อมเสาโรมัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เก่าแก่ของเกษรอัมรินทร์ มีกิจกรรมรวมเหล่ากูรูด้านอาหารและเครื่องดื่ม เช่น งาน เกษร เล วองดองช์ (Gaysorn Les Vendanges) เทศกาลไวน์ระดับตำนาน ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี

ไอเดียที่ 2 “ADORE” หรือ Place Where Artisans and Admirers Meet ประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วน คือ Piazza ลานอเนกประสงค์ด้านหน้าอาคาร เป็นพื้นที่โล่งตลอดแนวถนนหน้าตึก รองรับอีเวนต์รูปแบบใหม่ๆ, Forum โถงด้านในใต้สกายไลต์ หรือหลังคากระจกฉลุลวดลายดอกไม้ เป็นอีเวนต์สเปซ โชว์เคสโปรดักส์ใหม่ หรือผลงานศิลปะ และ Infinity Escalator พื้นที่รวมร้านค้าสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ต่อยอดจาก Designer Lane รวบรวมทั้งแบรนด์ไทยและระดับโลก

ไอเดียที่ 3 “BOOST” หรือ Place for Urbanist Wellness ให้คนเมืองดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความงาม ด้านสุขภาพกาย และด้านสุขภาพใจ

ไอเดียสุดท้าย THRIVE หรือ Place to Collaborate & Grow Creatively มีสำนักงานเกรดเอในอาคารสถาปัตยกรรมโพสต์โมเดิร์น Gaysorn Amarin Tower พื้นที่ Co-Working Space มีโซลูชัน Working Pods รองรับรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด กระจายอยู่ในจุดต่าง ๆ ทั่วอาคาร นอกจากนั้น ยังมี Gaysorn Urban Resort ศูนย์กลางแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้สำหรับคนทำงาน โปรแกรมกิจกรรมและอีเวนต์ ทั้งสายเทค สตาร์ทอัป และผู้ประกอบการในด้านต่างๆ

แน่นอนว่า การดีเดย์ของเกษรอัมรินทร์เพื่อเติมเต็มมิกซ์ยูสเกษรวิลเลจถือเป็นช่วงจังหวะการพลิกฟื้นอย่างเต็มที่ของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สรุปภาพรวมการท่องเที่ยวไทยไตรมาส 1/2566 ฟื้นตัวเร็วกว่าที่ประเมินไว้ค่อนข้างมาก โดยเดือนมกราคม 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 2.14 ล้านคน ขยายตัว 1,502.76% และไตรมาส 1 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 6 ล้านคน คาดการณ์ตลอดทั้งปีนี้มีลุ้นจะทะลุเกิน 25-30 ล้านคน

ยิ่งไปกว่านั้น ททท. ตั้งเป้าหมายปี 2566 ประเทศไทยจะมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว 2.38 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยออกเดินทางภายในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.8 แสนล้านบาท

เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย ในกรณีที่ดีที่สุด (best case scenario) จำนวน 25-30 ล้านคน จะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะช่วงปลายปี ทั้งเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เป็นช่วงพีกสูงสุดของตลาดด้วย.

ตระกูลศรีวิกรม์ เศรษฐีที่ดิน นักการเมืองรุ่นใหญ่

“ตระกูลศรีวิกรม์” ถือเป็นมหาเศรษฐีที่ดินรายใหญ่ของเมืองไทย มีรกรากอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี  ต้นตระกูลเดิมนามสกุล “สิงคะเนติ” คือ พระยาศรีวิกรมาทิตย์ (สงวน สิงคะเนติ) กับคุณหญิงวาด (สกุลเดิม จาติกวนิช) ภายหลังได้รับพระราชทานให้ใช้นามสกุลตามราชทินนามว่า “ศรีวิกรมาทิตย์” และเปลี่ยนเป็น “ศรีวิกรม์” มีบุตร-ธิดา 3 คน

คนที่ 1 นายสุทธิพงศ์ ศรีวิกรม์ เป็นบิดาของนายชาย และ ชาญ ศรีวิกรม์ เจ้าของห้างเกษรพลาซ่า และ เอราวัณ อมรินทร์พลาซ่า ในย่านราชประสงค์

คนที่ 2 ท่านผู้หญิงสมศรี เจริญรัชตภาคย์ สมรสกับ ดร เจริญ เจริญรัชตภาคย์ (นามสกุลเดิม วัฒนะพาณิชย์) อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม มีบุตร คือ เกริกชัย-ชัชวิน-นรวัฒน์ เจริญรัชตภาคย์ เจ้าของธุรกิจที่ดินและพัฒนาที่ดินใจกลางสุขุมวิท ซึ่งชัชวินสมรสกับดารณี บุตรสาวของนายอานันท์และท่านผู้หญิงสดสี ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

คนที่ 3 เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีวิกรม์ เจ้าของโรงแรม เจ้าของที่ดินหลายแปลงในย่านสี่แยกราชประสงค์และถนนสุขุมวิท โดยตำแหน่งสุดท้ายเป็นประธานกรรมการบริษัท ศรีวิกรม์ กรุ๊ป โฮลดิ้ง บริษัท เพรสสิเด้นท์ โฮเต็ลแอนด์ทาวเวอร์ บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย บริษัท ศรีธาราแลนด์ และบริษัท ที.ซี.เอซ. ซูมิโอเนะ

ขณะเดียวกันถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหญ่ เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ รวมถึงเป็นรองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม สมรส กับ คุณหญิงศศิมา วุฑฒินันท์ มีบุตรทั้งหมด 5 คน เป็นชาย 4 หญิง 1 โดยบุตรชายคนโต คือ พิมล ศรีวิกรม์ เป็นอดีต ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2548

ส่วนบุตรสาวคนสุดท้อง คือ นางทยา ทีปสุวรรณ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสมัย ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ สมัยแรก สมรสกับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งขณะนั้นสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

ยุควิกฤตการณ์การเมืองไทยปี 2556–2557 ณัฏฐพลลาออกจากการเป็น ส.ส. และสมาชิกพรรค ปชป. เข้าร่วมเป็นแกนนำการชุมนุมของ กปปส. รวมถึง ทยา ทีปสุวรรณ ภรรยา เข้าร่วมชุมนุมด้วย ซึ่งต่อมา ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา แต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

ต่อมา ณัฏฐพลเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เป็นรองหัวหน้าพรรค และได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

24 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุกณัฏฐพล  6 ปี 16 เดือน ต้องพ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีและถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เขายื่นหนังสือลาออกจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อ และในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของณัฏฐพล ทีปสุวรรณ สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2564.