ปี 2564 มีข่าวออกมาว่า ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) มีแผนจะออกจากธุรกิจลูกค้าบุคคล (Consumer Banking) ใน 13 ตลาด ทั้งในออสเตรเลีย บาห์เรน จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย ไต้หวัน เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย
14 มกราคม 2565 ซิตี้กรุ๊ปเคลื่อนไหวอีกครั้งด้วยการออกมาประกาศบรรลุดีลในการขายธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคล ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม ให้กับกลุ่มธนาคารยูโอบี (UOB) กลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่แห่งสิงคโปร์ ซึ่งดีลดังกล่าวรวมธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยและธุรกิจบัตรเครดิต แต่ไม่รวมธุรกิจลูกค้าสถาบันของธนาคาร โดยที่ดีลในการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะครอบคลุมพนักงานของซิตี้แบงก์ที่จะโอนไปยังธนาคารยูโอบีเมื่อเสร็จสิ้นการเข้าซื้อกิจการกว่า 5,000 คนอีกด้วย
กระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 อีกหนึ่งดีลประวัติศาสตร์สัมฤทธิผลไปอีกขั้น เมื่อธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ออกมาประกาศว่ากลุ่มธนาคารยูโอบีได้ดำเนินการเข้าซื้อกิจการธนาคารลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซียและประเทศไทยเสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ส่วนในอินโดนีเซียและเวียดนามคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1.07 แสนล้านบาท) และค่าพรีเมียม 915 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.4 หมื่นล้านบาท)
ซึ่งกิจการธนาคารลูกค้ารายย่อยนี้ประกอบด้วยกลุ่มลูกค้าสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจเงินฝากรายย่อย โดยการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ถือเป็นการเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมให้โมเดลธุรกิจรายย่อยของกลุ่มยูโอบีในอาเซียนแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนให้กลุ่มยูโอบีสร้างการเติบโตในกลุ่มลูกค้ารายย่อยได้เป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าซื้อกิจการแล้ว คาดว่าขนาดธุรกิจธนาคารลูกค้ารายย่อยในทั้ง 4 ประเทศของยูโอบีจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า มีการให้บริการลูกค้าจำนวน 5.3 ล้านคน และเสริมทีมงานให้แกร่งขึ้นด้วยพนักงานอีก 5,000 โดยคาดว่าการโอนย้ายลูกค้าทั้งระบบจะแล้วเสร็จในอีก 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า ซึ่งทางยูโอบีเองก็ยืนยันว่าการเข้าซื้อกิจการจากซิตี้กรุ๊ปในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า ทั้งค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ย สิทธิประโยชน์ การชำระเงิน และคะแนนสะสมใดๆ ทั้งสิ้น โดยทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจยังแยกระบบกันอีก 1 ปี ก่อนปรับเข้ามารวมกันในที่สุด
นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งถือเป็นวันแรกที่ควบรวมได้สำเร็จและเป็นวันที่มีการโอนย้ายกิจการมาธนาคารยูโอบี ผ่านมากว่าครึ่งปีคำถามที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันสถานการณ์ความเป็นไปทางฝั่งยูโอบีหลังควบรวมแล้วเป็นอย่างไร
10 มีนาคม 2566 กลุ่มธนาคารยูโอบีประกาศผลกำไรจากธุรกิจหลักสุทธิสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และหากรวมค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่เกิดจากการซื้อกิจการธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ปในมาเลเซียและไทย กำไรสุทธิจะสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 4.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ด้านธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ก็ออกมาเปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจว่า ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังการโอนย้ายกิจการ ธุรกิจของยูโอบีมีการเติบโตอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง จำนวนลูกค้ารายย่อยของยูโอบีในภูมิภาคอาเซียนมีมากกว่า 7 ล้านราย เฉพาะในประเทศไทยมีถึง 2.5 ล้านคน เติบโตขึ้น 2.2% หลังจากควบรวมกิจการ
ก่อนการควบรวมยูโอบีสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศแม่ของยูโอบี มีสัดส่วนธุรกิจลูกค้ารายย่อยใหญ่ที่สุดในภูมิภาค แต่หลังควบรวมสัดส่วนของประเทศต่างๆ ก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด และไทยก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 รองจากสิงคโปร์ในเวลาเพียงไม่นาน โดยถ้านับจากไตรมาส 1 จากปีที่แล้วมาปีนี้ ยูโอบีมียอดเงินฝากโตขึ้นถึง 12%
สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อต่างๆ หลังควบรวมยังคงเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งพอร์ตเดิมของซิตี้กรุ๊ปมีสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ เมื่อรวมแล้วทำให้ไทยเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
โดยจำนวนฐานลูกค้าบัตรเครดิต ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีถึง 2,300,000 ใบ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินเป้าที่คาดไว้ โดยทางยูโอบีคาดว่ามาจากกิจกรรมทางการตลาดที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขช่วง 6 เดือนแรกเป็นไปได้ดี และที่สำคัญยังทำให้ยูโอบี ประเทศไทย สามารถก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ในกลุ่มผู้ให้บริการบัตรเครดิตในไทยได้อีกด้วย
ในขณะที่จำนวนลูกค้าบัตรเครดิตรายใหม่ยังคงความสามารถในการหาได้อย่างคงที่ ถ้าเปรียบเทียบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงมีนาคม 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เปอร์เซ็นต์การเติบโตอยู่ที่ 35%, 75%, 73%, 77% และ 49% ตามลำดับ
มาดูตัวเลขยอดสินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิตยูโอบี ไตรมาส 1 สิ้นเดือนมีนาคม เติบโตถึง 13% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว ในขณะที่ภาพรวมของตลาดเติบโตอยู่ที่ 6% นั่นหมายความว่า ยูโอบีสามารถสร้างการเติบโตของสินเชื่อคงค้างได้เป็น 2 เท่าของตลาด
ด้านยอดใช้จ่ายผ่านบัตรก็อยู่ในวิสัยเดียวกัน นั่นคือเติบโต 2 เท่าของตลาด โดยยูโอบีมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่เติบโตถึง 30% ในขณะที่ตลาดรวมโต 17% ทั้งที่ประเทศเพิ่งฟื้นจากวิกฤตโควิด-19
อีกหนึ่งปัจจัยที่นำมาเป็นเกณฑ์ในการวัดความเชื่อมั่นของลูกค้าบัตรเครดิตคือ “ยอดคะแนนสะสมคงเหลือ” ที่ลูกค้ายังไม่ได้แลก อันเนื่องมาจากมีการวิเคราะห์กันว่าถ้าลูกค้าบัตรเก่าจากซิตี้เกิดไม่มั่นใจในการเปลี่ยนผู้ให้บริการแล้วขอปิดบัตร สิ่งที่ลูกค้าจะทำคือแลกคะแนนสะสมที่มีอยู่ แต่ที่ผ่านมายอดคะแนนสะสมคงเหลือยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในหลักหมื่นล้านคะแนน นั่นแปลว่าลูกค้ามั่นใจและยังคงใช้บัตรต่อไป
จากแนวโน้มการเติบโตที่เกิดขึ้น ทำให้ยูโอบี ประเทศไทย ตัดสินใจปรับเป้าการเติบโตของยอดลูกค้าบัตรเครดิตที่เคยวางไว้ที่ 2,300,000 ใบ เป็น 2,400,000 ใบ และมุ่งเพิ่มมาร์เกตแชร์ในทุกธุรกิจ โดยใช้กลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ และสร้างแคมเปญการตลาดที่ตอกย้ำความเป็นแบรนด์และจูงใจลูกค้า รวมถึงใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม อย่างแอปพลิเคชัน UOB TMRW ที่จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการหาลูกค้ารายใหม่ๆ และบริการลูกค้า
นับจากการควบรวมสำเร็จ นี่อาจเป็นตัวเลขการเติบโตที่น่าสนใจ แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ ตัวเลขการเติบโตในระยะต่อๆ ไป ก็น่าติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว.