ตลาดป๊อปคอร์นในประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท โดยตลาดป๊อปคอร์นหน้าโรงภาพยนตร์มีสัดส่วนมากสุด 1,000 ล้านบาท ตามด้วยป๊อปคอร์นคั่วสดพรีเมียม 600-700 ล้านบาท และป๊อปคอร์นสำเร็จรูปบรรจุซองอีก 300-400 ล้านบาท ที่น่าสนใจ คืออัตราเติบโตสูง 30-40% ต่อปี ทำให้ค่ายเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เร่งปูพรมคีออสก์ POPSTAR ในห้างค้าปลีกและเจาะช่องทางขายรอบด้าน 360 องศา
เหตุผลไม่ใช่แค่แนวโน้มการเติบโตที่ยังไปได้อีกไกล แต่ป๊อปคอร์น POPSTAR ในวันนี้ คือ อาวุธชิ้นสำคัญที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้ค่ายเมเจอร์ฯ เป็นกอบเป็นกำและสวนกระแสวิกฤตได้ ซึ่งเห็นได้จากช่วงโควิดแพร่ระบาดอย่างหนักเมื่อ 3 ปีก่อน
ทั้งนี้ หากย้อนดูรายได้รวมของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ Major ช่วงปี 2562 มีรายได้รวม 10,822 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,170 ล้านบาท
ปี 2563 เจอพิษโควิดแพร่ระบาดอย่างหนักและทางการสั่งปิดโรงภาพยนตร์นานหลายเดือน รายได้หดเหลือ 3,936 ล้านบาท ขาดทุน 527 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกที่เมเจอร์ฯ ขาดทุน ในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่จดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2545
ในปีนั้นค่ายเมเจอร์ฯ งัดกลยุทธ์นำสินค้าป๊อปคอร์นจากเคาน์เตอร์ขายหน้าโรงภาพยนตร์มาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มฟูดดีลิเวอรี ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก และเริ่มขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พร้อมอัดโปรโมชันพิเศษ จนยอดขายขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งในช่องทางอีคอมเมิร์ซของบริษัท
ปี 2565 ขณะที่รายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ยังไม่กลับมาปกติเหมือนก่อนโควิด ป๊อปคอร์น POPSTAR ได้บุกขยายช่องทางขายเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด ทั้งซูเปอร์มาร์เกตทั่วไปและร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น โดยยอดขายป๊อปคอร์นบางเดือนขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วน 70% ของรายได้เมเจอร์ฯ และปิดปีด้วยยอดขายกว่า 2,500 ล้านบาท
ส่วนปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตพุ่งขึ้นเท่าตัว หรือไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท แยกเป็นยอดขายในโรงหนัง 40% นอกโรงหนัง 60% โดยช่วงไตรมาสแรกมีอัตราเติบโตสูงในช่องทางดีลิเวอรี ติดอันดับแบรนด์ร้านดัง “Super Brand Day” ในแพลตฟอร์มออนดีมานต์ LINE MAN
ปัจจุบัน POPSTAR by Major Cineplex วางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 13,000 สาขา กรูเมต์ มาร์เก็ต และ โฮม เฟรช มาร์ท จำนวน 16 สาขา วิลล่ามาร์เก็ต 36 สาขา ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต 25 สาขา ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ 67 สาขา โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 117 สาขา และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 33 สาขา
ด้านคีออสก์หรือบูธ Popstar by Major Cineplex เปิดให้บริการแล้ว 29 สาขา ได้แก่ สาขาสยามพารากอน เซ็นทรัลเวสต์เกต เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน เมกาบางนา เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เซ็นทรัลพระราม 3 เซ็นทรัลระยอง วี-สแควร์ นครสวรรค์ เซ็นทรัลบางนา เซ็นทรัลพิษณุโลก เซ็นทรัลอุบลราชธานี ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต โลตัสศรีนครินทร์ อิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง เซ็นทรัลอุดรธานี เซ็นทรัลหาดใหญ่
เซ็นทรัลจันทบุรี อยุธยาซิตี้พาร์ค โลตัสบางกะปิ แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา ท็อปส์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เดอะมอลล์ โคราช เอเชียทีค เซ็นทรัลเชียงใหม่ เฟสติวัล เซ็นทรัลเชียงราย เซ็นทรัลอีสต์ วิลล์ เซ็นทรัลศรีราชา และสาขาสายไหม อเวนิว ซึ่งเปิดเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา
สำหรับการเปิดคีออสก์หรือบูธ Popstar by Major Cineplex เน้นทำเลคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ ไฮเปอร์มาร์เกต และศูนย์การค้าครบวงจร มีซูเปอร์มาร์เกตและศูนย์อาหารที่มีลูกค้าใช้บริการจำนวนมาก เพราะให้บริการซื้อกลับบ้าน ขนาดพื้นที่ร้าน 6-10 ตารางเมตร รวมถึงร้านสแตนด์อโลน ป๊อปอัพสโตร์ นอกโรงภาพยนตร์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มดีลิเวอรีและลูกค้าวอล์กอิน เช่น ปั๊มน้ำมัน ออฟฟิศ
ในส่วนรสชาติของป๊อปสตาร์แบ่งตามเซตต่างๆ ได้แก่ ป๊อปสตาร์ พรีเมียม คัดเกรดป๊อปคอร์นผสมคาราเมลและถั่วต่างๆ มี 3 รสชาติ คือ รสแมคคาเดเมีย คาราเมล รสช็อกโกแลตเฮเซลนัต รสทอฟฟี่แอปเปิลชินนามอน
เซตป๊อปสตาร์ สแน็ค (POPSTAR Snack) ในรูปแบบซองพกพา มี 5 รสชาติ ได้แก่ รสอัลมอนด์คาราเมล มัคคิอาโต้ รสช็อกโกแลตสตรอเบอร์รี รสสตรอเบอร์รีเวลเวท รสบานอฟฟี่ และ รสดับเบิลชีส
เซตป๊อปสตาร์ ไมโครเวฟ รสชีส (POPSTAR Microwave – Cheese Flavor) เป็นชุดทำป๊อปคอร์นแบบง่ายๆ นำเข้าไมโครเวฟพร้อมผงปรุงรสชีสในซอง และเซตป๊อปสตาร์ ทินแคน (POPSTAR Tin Can) ส่วนผสมจากธรรมชาติ น้ำตาลคาราเมลและถั่วต่างๆ บรรจุในกระป๋อง มี 3 รสชาติ คือ รสแมคคาเดเมียคาราเมล ช็อกโกแลตเฮเซลนัตและทอฟฟี่แอปเปิลชินนามอน
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการรุกช่องทางขายผ่านโมเดลต่างๆ แล้ว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) จำนวน 69 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5% ราคาซื้อสูงสุดที่หุ้นละ 8.2565 บาท คิดเป็นมูลค่าราว 569 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงยุทธศาสตร์การรุกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยการ Synergy ร่วมกัน เพราะเถ้าแก่น้อยมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจขนมขบเคี้ยว ส่วนเมเจอร์ฯ มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงภาพยนตร์ สามารถต่อยอดและแตกไลน์ใหม่ๆ ได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ภาพรวมธุรกิจของเถ้าแก่น้อยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภทสาหร่าย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่สาหร่าย (Non-Seaweed) เช่น เวย์โปรตีน My Whey อาหารเสริม Back up ธัญพืชอัดแท่ง My Whey Power Bar มีผลิตภัณฑ์ขนมขึ้นรูป (Extrude) ทั้งขนมข้าวโพดอบกรอบโคบุก ขนมข้าวโพดอบกรอบ Corn war มันฝรั่งอบกรอบห่อสาหร่าย Z-Roll Farm ขนมขบเคี้ยวจากปลา TinTen และนมพาสเจอร์ไรซ์รสชานม “Just Drink”
กลุ่มที่ 2 ร้านขายของฝาก “เถ้าแก่น้อยแลนด์” รองรับลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยว ประกอบด้วยสินค้าสาหร่ายและขนมขบเคี้ยวของบริษัท กลุ่มสินค้าฝากขาย และสินค้าเฮาส์แบรนด์
กลุ่มที่ 3 ร้านข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น “ฮิโนยะ” (Hinoya Curry) เป็นร้านอาหารรูปแบบแฟรนไชส์ข้าวแกงกะหรี่จากประเทศญี่ปุ่น และร้านอาหารรับประทานเล่น Bomber Dog เป็นร้านแฟรนไชส์ประเภท Food Kiosk ซึ่งบริษัทพัฒนาแบรนด์ในคอนเซ็ปต์ร้านอาหาร Street Food เน้นกลุ่มขนมฮอตดอก
ทั้งสามกลุ่มสามารถ Synergy ร่วมกันได้ โดยเฉพาะ Popstar by Major Cineplex เพราะเถ้าแก่น้อยสามารถรุกช่องทางในโมเดิร์นเทรดและร้านค้าทั่วไป (traditional trade) ทั่วประเทศ ขยายตลาดต่างประเทศ และพัฒนารสชาติได้หลากหลาย โดยมีโรงงานเถ้าแก่น้อยเสริมกำลังผลิตป๊อปคอร์นอีกด้านหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้ เถ้าแก่น้อยได้เปิดตลาดสแน็กกลุ่มข้าวโพดคั่วสดพรีเมียมแบรนด์ “ต๊อบคอร์น” มีการเพิ่มไลน์การผลิตป๊อปคอร์นในโรงงานที่จังหวัดปทุมธานีและในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ฝั่งเถ้าแก่น้อยมองว่า ตลาดป๊อปคอร์นเติบโตดีมาก ไม่ต่ำกว่า 30-40% ต่อปี สูงกว่าสแน็กกลุ่มอื่นที่เฉลี่ยเติบโตเพียง 3-4% จากมูลค่าตลาดรวมสแน็กในไทยประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไอเดียเข้าล็อกไม่ต่างจากกลุ่มเมเจอร์ฯ แต่อย่างใด.