วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “กาแฟพันธุ์ไทย” ติดเทอร์โบ อัด 5 ปี 5 พันสาขา

“กาแฟพันธุ์ไทย” ติดเทอร์โบ อัด 5 ปี 5 พันสาขา

“พีทีจี เอ็นเนอยี” เริ่มแตกไลน์ธุรกิจ “ร้านกาแฟพันธุ์ไทย” เมื่อปี 2555 ตามแผนยุทธศาสตร์อัปเกรดสถานีบริการน้ำมัน PT Station และรุกกลุ่ม Non-oil อย่างจริงจัง โดยปักหมุดแรก สาขาบางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เน้นเสน่ห์เอกลักษณ์ไทย สัญลักษณ์รูปช้าง กระทั่งล่าสุดขยายเครือข่ายมากกว่า 570 แห่ง และปีนี้ตั้งเป้าปูพรมแบบก้าวกระโดดครบ 1,500 สาขาด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ประกาศโรดแมป “PTG Business Outlook : Drive for Tomorrow” ภายใน 5 ปีข้างหน้า จะมี Retail Oil Market Share กว่า 25% มีจำนวนสมาชิก Max Card กว่า 30 ล้านสมาชิกครอบคลุมคนไทยทั่วประเทศ และมีจำนวนสาขากาแฟพันธุ์ไทยกว่า 5,000 สาขา

พิทักษ์กล่าวว่า ร้านกาแฟพันธุ์ไทยพร้อมเติบโตตามแผนกลยุทธ์ 4 ด้าน คือ 1. มุ่งขยายสาขาร้านกาแฟพันธุ์ไทยในรูปแบบแฟรนไชส์ ทั้งภายในและนอกสถานีบริการน้ำมัน PT 2. พัฒนาเมนูเครื่องดื่มใหม่ ๆ โดยใช้วัตถุดิบรสชาติดีและหาดื่มได้ยากจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เช่น การนำน้ำตาลดอกมะพร้าวจากอัมพวา ตาลโตนดจากสงขลา ส้มมะปี๊ดจากจันทบุรี มาพัฒนาเมนูต่างๆ

3. เน้น Delivery Platform มากขึ้น เพื่อเพิ่มการรับรู้ (Awareness) การมองเห็น (Visibility) และการเข้าถึงแบรนด์ของลูกค้า (Accessibility) และ
4. นำข้อมูลลูกค้าจากบัตรสมาชิก PT Max Card และ PT Max Card Plus มาเป็นเครื่องมือวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า เพื่อเพิ่มยอดขายและความถี่ของการเข้าใช้บริการร้านกาแฟพันธุ์ไทย

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จัดงาน “PunThai Open House: Investor Clinic” เปิดให้ผู้สนใจลงทุนเปิดร้านกาแฟได้พบที่ปรึกษาการลงทุนมืออาชีพ เพื่อศึกษาเทคนิคการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ และวางไทม์ไลน์การจัดโรดโชว์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน และจะจัดงาน Open House ให้ผู้สนใจชมการบริหารร้านกาแฟพันธุ์ไทยอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม

แน่นอนว่า การเปิดเกมติดเทอร์โบขยายสาขามาจากเทรนด์การเติบโตสูงของตลาดกาแฟสดและอัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยยังอยู่ในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับคนชาติอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียและแถบยุโรป เช่น ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งประเทศในแถบเอเชียด้วยกัน เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มีปริมาณการดื่มกาแฟเฉลี่ยต่อคนยังมากกว่าคนไทยเป็นเท่าตัว

ขณะเดียวกัน ข้อมูล ThaiFranchiseCenter ระบุว่า ตลาดกาแฟในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟนอกบ้าน หรือร้านคาเฟ่ทั่วๆ ไปประมาณ 27,000 ล้านบาท และกาแฟในบ้าน มูลค่ารวม 33,000 ล้านบาท อาทิ กาแฟปรุงสำเร็จ กาแฟกระป๋อง กาแฟแคปซูล ซึ่งถือเป็นตลาดที่เติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิดจากกระแสการทำงานที่บ้าน (Work from Home) แต่ปี 2566 จะเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เพราะตลาดกาแฟนอกบ้านมีทิศทางกลับมาเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

ที่สำคัญ ในวงการตลาดแฟรนไชส์ร้านกาแฟต่างเห็นสงครามการแข่งขันในกลุ่มร้านกาแฟบิ๊กเนม ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่อเมซอน อินทนิล สตาร์บัคส์ ทรูคอฟฟี่ แต่หากเจาะเฉพาะธุรกิจร้านกาแฟของ 3 ค่ายบริษัทน้ำมัน คือ คาเฟ่ อเมซอน อินทนิล และพันธุ์ไทย ต้องถือว่า “กาแฟพันธุ์ไทย” กล้าเปิดสงครามเพื่อเติบโตชัดเจนที่สุด

เพราะในช่วงที่ต้นทุนการดำเนินการต่างๆ พุ่งพรวด หลายๆ แบรนด์ทยอยปรับขึ้นราคาเครื่องดื่ม 3-10 บาท เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2565 แต่ “กาแฟพันธุ์ไทย” ประกาศตรึงราคาทุกเมนูเครื่องดื่ม โดยให้เหตุผลที่ชวนให้ติดตามว่า ต้องการสนับสนุนให้ทุกคนมี “เวลาเป็นไท” สามารถเข้าถึงความอร่อยสดชื่นได้เหมือนเดิม

นอกจากนั้น บริษัท กาแฟพันธุ์ไทยได้ดึง บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ อดีตนักการตลาดมือทองแห่งบาร์บีคิว พลาซ่า มาเป็นที่ปรึกษาด้านแบรนดิ้งและการขยายสาขานอกปั๊ม โดยช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เริ่ม Refresh แบรนด์ใหม่ เน้นแนวคิดการสร้าง “กาแฟพันธุ์ไทย” เป็นแบรนด์กาแฟของคนไทยพันธุ์ใหม่ และทุ่มงบกว่า 20 ล้านบาทส่งแคมเปญเวลาเป็นไท สื่อสารถึงกลุ่มคนทำงาน ลบภาพการดื่มกาแฟเพื่อทำงาน แต่สามารถดื่มเพื่อพักผ่อนได้

สำหรับเงื่อนไขการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ “กาแฟพันธุ์ไทย” ล่าสุด คำนวณเงินก้อนแรกเริ่มต้นเพียง 1.25 ล้านบาท ต่ำกว่า 2 แบรนด์คู่แข่งที่สูงมาก 1.5-4 ล้านบาท โดยวางรูปแบบร้าน 5 โมเดล เริ่มจาก Stand Alone พื้นที่เริ่มต้น 40 ตารางเมตร (ตร.ม.) ประเมินค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้น 1.88 ล้านบาท

รูปแบบ Built-in พื้นที่เริ่มต้น 35 ตร.ม. ค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้น 1.6 ล้านบาท

รูปแบบ Kiosk พื้นที่เริ่มต้น 9 ตร.ม. ค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้นประมาณ 1.2 ล้านบาท

รูปแบบ Food Trailer พื้นที่เริ่มต้น 8 ตร.ม. ค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้น 1.42 ล้านบาท

รูปแบบ Food Truck พื้นที่เริ่มต้น 8 ตร.ม. ค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้น 1.45 ล้านบาท

ขณะที่คิดค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ 150,000 บาท เงินประกันแบรนด์ 2 แสนบาท และค่าดำเนินการอีก 80,000 บาท

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก “กาแฟพันธุ์ไทย” แล้ว พีทีจี เอ็นเนอยี ยังมีอีกแบรนด์ร้านกาแฟระดับพรีเมียม คือ “คอฟฟี่ เวิลด์” ซึ่งบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ซื้อกิจการจากบริษัท จี เอฟ เอ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) และถือเป็นบริษัทย่อยของบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด จับลูกค้าระดับพรีเมียมและกลุ่มคนในเมือง ราคากาแฟต่อแก้วสูงกว่า 100 บาท เน้นเปิดให้บริการในพื้นที่นอกสถานีบริการ PT ในห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ คอมมูนิตี้มอลล์ และสนามบิน ล่าสุด เปิดให้บริการในไทยกว่า 100 สาขา แบ่งเป็นสาขาแฟรนไชส์ 40 แห่ง และบริหารเอง 60 สาขา

ในส่วนเงื่อนไขแฟรนไชส์คอฟฟี่เวิลด์มี 2 รูปแบบ รูปแบบแรก Shop/Open Space พื้นที่ 40-60ตร.ม. คิดค่าแฟรนไชส์ 400,000 บาท ค่าประกันแบรนด์ 200,000 บาท ค่าดำเนินการก่อนเปิดร้าน 30,000 บาท ค่าสำรวจสถานที่ 5,000-20,000 บาท ค่าออกแบบร้าน 80,000-120,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 800,000-1 ล้านบาท ค่าก่อสร้างตกแต่งร้าน 900,000-1,300,000 บาท รวมการลงทุนประมาณ 2,420,000 บาท มีค่า Royalty fee + Marketing Fee 6% + 2% จากยอดขายรายเดือน

อีกรูปแบบ Stand Alone พื้นที่ 100ตร.ม. ขึ้นไป คิดค่าแฟรนไชส์ 400,000 บาท ค่าประกันแบรนด์ 200,000 บาท ค่าดำเนินการก่อนเปิดร้าน 30,000 บาท ค่าสำรวจสถานที่ 5,000-20,000 บาท ค่าออกแบบร้าน 80,000-120,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 800,000-1 ล้านบาท ค่าก่อสร้างตกแต่งร้าน 900,000-1.3 ล้านบาท รวมการลงทุนประมาณ 3,070,000 บาท Royalty fee + Marketing Fee 6% + 2% จากยอดขายรายเดือนเช่นเดียวกัน ระยะเวลาสัญญา 6 ปี

ดังนั้น หากมองกลยุทธ์ของพีทีจี เอ็นเนอยี ที่มีทั้งกาแฟพันธุ์ไทยรุกกลุ่มลูกค้าทั่วไปและคอฟฟี่เวิลด์เน้นตลาดไฮเอนด์ ถือเป็นความพยายามเก็บตลาดทุกเซกเมนต์

ด้านเบอร์ 1 “คาเฟ่ อเมซอน” ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีสาขามากกว่า 4,000 แห่ง และเบอร์ 2 ร้านกาแฟอินทนิลของค่ายบางจากคอร์ปอเรชัน ปัจจุบันมีมากกว่า 800 สาขา และตั้งเป้าขยายครบ 1,200 สาขา ภายในปี 2568 ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ 2 ค่ายนี้สามารถเปิดร้านแฟรนไชส์อย่างรวดเร็ว เพราะมียอดขายต่อร้านสูง โดยเฉพาะคาเฟ่ อเมซอน เฉลี่ยสูงถึง 250 แก้วต่อวัน ทำให้ผู้ลงทุนแฟรนไชส์มองว่า “คุ้ม” และมีผู้สนใจสมัครขอซื้อแฟรนไชส์กว่า 500 รายต่อเดือน และยึดครองตำแหน่งแฟรนไชส์ร้านกาแฟสดอันดับ 1 ของเมืองไทยนานหลายปี

ดังนั้น ต้องพิสูจน์กันว่า การพลิกกลยุทธ์ยกเครื่องเงื่อนไขแฟรนไชส์ “กาแฟพันธุ์ไทย” รอบนี้ เทียบหมัดต่อหมัดจะโดนใจดึงดูดนักลงทุนแบบขาดลอยได้หรือไม่!!