ระยะเวลากว่า 2 ปี หลังเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ชูโลโก้ Lotus’s ตัดคำว่า Tesco ออกและปรับใช้สีโทนพาสเทลละมุนละไม พร้อมๆ กับยกเครื่องโมเดลสาขาใหม่ เพื่ออัปเกรดรุกฐานลูกค้าระดับพรีเมียม ดูเหมือนว่า ห้างโลตัสภายใต้อาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีการจัดทัพใหญ่หลายขนานและยึดกุมเป้าหมายแบบ 360 องศาอย่างลงตัวแล้ว
หากย้อนเส้นทางห้างโลตัส เกิดจากความต้องการขยายรูปแบบร้านค้าปลีกของกลุ่มซีพี โดยตั้งบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2536 มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และประเดิมสาขาทดลองแห่งแรกที่ซีคอนสแควร์ ใช้ชื่อ “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2537 และเปิดสาขา 2 ตามมาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 ใช้ชื่อ โลตัส ดิสเคาน์สโตร์ ที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
แต่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนกลายเป็นวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ทำให้ปีต่อมากลุ่มซีพีตัดสินใจขายหุ้น 75% ของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทมให้กลุ่มเทสโก้ ประเทศอังกฤษ มูลค่า 365 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้เงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งเครือซีพี ย้ำว่า ต้องเลือกสละบางอย่างเพื่อรักษาเรือและเอาชีวิตให้รอด
หลังจากนั้นโลตัสจึงเปลี่ยนชื่อเป็น เทสโก้ โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น เทสโก้ โลตัส นับตั้งแต่นั้น โดยกลุ่มซีพีถือหุ้น 25% แต่ได้ทยอยขายหุ้นจนช่วงปลายปี 2545 กลุ่มซีพีถือหุ้นไม่ถึง 1% จึงตัดสินใจขายหุ้นที่เหลือทั้งหมด
แม้เทสโก้ โลตัสสามารถกวาดส่วนแบ่งในสมรภูมิค้าปลีกไทย แต่บริษัทแม่ในอังกฤษเจอวิกฤตขาดทุนครั้งใหญ่จนต้องตัดใจขายกิจการในไทยและมาเลเซีย โดยเปิดรับข้อเสนอจากเอกชน 3 ราย คือ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ผลปรากฏว่า ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง ของกลุ่มซีพีเป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด 338,445 ล้านบาท และลงนามสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ก่อนกระบวนการซื้อขายทั้งหมดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563
ต่อมา ในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 บริษัท ซีพี ออลล์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทร่วมกับที่ประชุมกลุ่มบริษัทเครือซีพีมีมติให้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) รับโอนกิจการของ บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกิจการห้างโลตัสในไทยและมาเลเซีย
ปัจจุบันโลตัสมีสาขา 4 รูปแบบ
1. โลตัส (Lotus’s) รูปแบบไฮเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ พื้นที่ 5,000-15,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ โดยยุบโมเดลเดิมของเทสโก้โลตัสคือ เทสโก้ โลตัส ตลาด คุ้มค่า ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เอ็กซ์ตร้า และพลัสมอลล์ ปรับเปลี่ยนเป็นห้างโลตัส ล่าสุดมี 426 สาขา
2. โกเฟรช ซูเปอร์มาร์เก็ต (Go Fresh Supermarket) เป็นร้านค้าที่มีลักษณะคล้ายกับโลตัสใหญ่ แต่เน้นพื้นที่ขายและพื้นที่ให้เช่ามากขึ้น ขนาดพื้นที่ 5,000-7,000 ตร.ม. ล่าสุดเปิดให้บริการประมาณ 230 สาขา
3. โกเฟรช (Go Fresh) รูปแบบร้านสะดวกซื้อประเภท Discount Store มีสาขาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ตามอำเภอต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัด บางแห่งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ และบางสาขาอยู่ในพื้นที่ของโลตัสไฮเปอร์มาร์เก็ต เน้นการจำหน่ายอาหารสด และอาหารนำเข้า เพื่อให้เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ขนาดพื้นที่ 250-2,000 ตร.ม. ล่าสุดเปิดให้บริการ 1,574 สาขา
4. โลตัส พรีเว (Lotus’s Privé) เป็นพรีเมียมไฮเปอร์มาร์เกตที่แตกต่างจากแบรนด์ Lotus’s ทั้งรูปลักษณ์แบรนด์ การออกแบบตกแต่งภายในสาขา โดยประเดิมสาขาแรกในโครงการมิกซ์ยูส “ICS” ริมถนนเจริญนคร ขนาดพื้นที่ 2,900 ตร.ม. เน้นสินค้าพรีเมียมหลากหลายมากขึ้นและบริการเสริมต่าง ๆ โดยเฉพาะแผนกอาหารสด เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ายุคใหม่
ทั้งนี้ คำว่า privé เป็นคำในภาษาฝรั่งเศส อ่านออกเสียงว่า “พรี-เว่” มีความหมายเหมือนคำว่า private ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นส่วนตัว ความพิเศษ
สำหรับเหตุผลที่เลือกปักหมุดในโครงการไอซีเอสมาจากความเหมาะสมของกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีทั้งโครงการคอนโดมิเนียมระดับหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา โรงแรมชั้นนำ เช่น โรงแรม Hilton Garden Inn ที่ตั้งอยู่ในโครงการไอซีเอส ชุมชนที่พักอาศัย ย่านธุรกิจที่สำคัญ และโครงการ ICONSIAM มีการเชื่อมต่อกับโครงการไอซีเอสผ่านรถไฟฟ้าสายสีทองสถานีเจริญนคร
ขณะเดียวกัน ช่วงปลายปี 2565 โลตัสเปิดตัว โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์ สาขาแฟล็กชิปต้นแบบศูนย์รวมการใช้ชีวิตแบบสมาร์ตของทุกคนในชุมชน พื้นที่รวมกว่า 47,000 ตารางเมตร มีไฮเปอร์มาร์เกต ขนาด 4,500 ตร.ม. จำหน่ายสินค้ากว่า 28,000 รายการ และสินค้าประเภทอาหาร 13,000 รายการ เป็นสินค้าเกรดพรีเมียมทั้งในและนำเข้าจากต่างประเทศ
ส่วนโซนศูนย์การค้ามีพื้นที่เช่ารวมกว่า 10,000 ตารางเมตร มีร้านค้าเช่าทั้งหมด 130 ร้าน ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 73 ร้าน มีโซน Lotus’s Eats ร้านอาหารแบรนด์ดัง เช่น ภัตตาคารเชียงการีล่า ภัตตาคารกวนอา The Bibimbab รสสยามนู้ดเดิ้ล Okonomiyaki Takuya และจกโต๊ะเดียว ร้าน MoMo Paradise พรีเมียมชาบูและสุกี้ยากี้จากญี่ปุ่น
มีพื้นที่กิจกรรม E-gokart by Monowheel สนามโกคาร์ตไฟฟ้ากลางแจ้ง พื้นที่สนามแข่งมากกว่า 700 ตารางเมตร และ true health ศูนย์บริการสุขภาพย่อยนอกพื้นที่โรงพยาบาล พร้อมให้บริการสุขภาพพื้นฐาน อาทิ เจาะเลือด x-ray รับวัคซีน
เมื่อเร็วๆ นี้ โลตัสได้ฉลองโอกาสครบรอบ 28 ปี การก้าวผ่านวิวัฒนาการของค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทย ตั้งแต่ยุค Retail 1.0 การเริ่มต้นของร้านค้ารูปแบบไฮเปอร์มาร์เกต โดยโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาแรกเปิดให้บริการในปี 2537
ยุค Retail 2.0 การพัฒนาพื้นที่ศูนย์การค้า เพิ่มร้านค้าหลากหลาย เพื่อเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งสาขาขนาดกลางและขนาดเล็ก
ยุค Retail 3.0 การเกิดขึ้นของ e-commerce โดยเปิดตัวแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ จำหน่ายสินค้าทุกหมวดหมู่ รวมถึงอาหารสด โดยสามารถจัดส่งสินค้าจากสาขา และเปิดรูปแบบ click & collect ให้ลูกค้าสามารถรับสินค้าได้ด้วยตนเอง
ยุค Retail 4.0 การเติบโตของค้าปลีกแบบ omni-channel และ personalization โดยโลตัสเปิดตัวแอปพลิเคชัน Lotus’s SMART App รวมออนไลน์ชอปปิ้งกับโปรแกรมขอบคุณลูกค้า MyLotus’s เพื่อเชื่อมบริการทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมากกว่า 5.3 ล้านราย และผลักดันให้ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์โตขึ้นกว่า 12 เท่าตัว
กระทั่งก้าวมาถึงยุค Retail 5.0 New SMART Retail ตั้งแต่ปี 2566 โลตัสวางยุทธศาสตร์การเปิดสาขา next generation หลากหลายรูปแบบตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ โดยทุกสาขาต้องทำหน้าที่เป็น fulfillment center จัดส่งสินค้าสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ และตั้งเป้าภายใน 3 ปี ผลักดันยอดขายจากแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มเป็น 20% ของยอดขายรวมทั้งหมด
ด้านพื้นที่ศูนย์การค้าเน้นเพิ่มพื้นที่เป็น Everyday SMART Community Center เน้นการเป็น inspiring food destination โดยวางแผนภายใน 3 ปี ปรับพื้นที่ศูนย์การค้า 140 สาขา ควบคู่กับการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ต่อยอดสู่การเป็นผู้พัฒนาและบริหารโครงการค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต.