วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ฟอร์ดพลิกกลยุทธ์รุกลูกค้ารายใหญ่ เจาะตลาดรถกระบะดัดแปลง บุกหนักไม่เกรงใจใคร

ฟอร์ดพลิกกลยุทธ์รุกลูกค้ารายใหญ่ เจาะตลาดรถกระบะดัดแปลง บุกหนักไม่เกรงใจใคร

ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของฟอร์ด ประเทศไทย ทั้งจากความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ในแบรนด์ ที่เป็นผลมาจากภาพยนตร์โฆษณาชิ้นดังอย่าง Ford Ranger Raptor ที่ได้เสียงพากย์ของ “กฤต สุขวัฒน์” หรือ Krit Tone ที่มีเอกลักษณ์มาสร้างความแปลกใหม่ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่หลายๆ คนลุกขึ้นมาเลียนแบบเสียงในโฆษณากับประโยค “ดุดัน! ไม่เกรงใจใคร Ford Ranger Raptor” กันทั่วบ้านทั่วเมือง

ไม่เพียงเท่านั้นยอดขายในปี 2565 ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของฟอร์ดด้วยเช่นกัน โดยสามารถกวาดยอดขายไปได้สูงถึง 43,628 คัน เติบโตขึ้น 35% สูงกว่าตลาดรวมซึ่งเติบโตอยู่ที่ 11.9% และเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่ฟอร์ดเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยที่ยอดขายรวมต่อเดือนไต่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม โดยฟอร์ด เรนเจอร์ ครองตำแหน่งรถกระบะที่ขายดีที่สุดอันดับ 3 และฟอร์ด เอเวอเรสต์ ติดอันดับ 3 รถขายดีที่สุดต่อเดือนในตลาดรถยนต์นั่งอเนกประสงค์

ในขณะที่ฟอร์ดเองยอมรับว่ายอดขายที่เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากความสำเร็จของฟอร์ด เรนเจอร์ ที่ได้สร้างนิยามใหม่ให้กับตลาดรถกระบะ และฟอร์ด เอเวอเรสต์ เอสยูวี รถยนต์อเนกประสงค์ขนาดกลางที่เจาะตลาดได้ดี โดยสามารถทำยอดขายได้ดีกว่าอุตสาหกรรมโดยรวม และขยายส่วนแบ่งการตลาดให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556

นอกจากนั้น ในการประกาศรางวัลรถยอดเยี่ยมแห่งปี หรือ Car of the Year 2023 ซึ่งจัดโดยบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ฟอร์ดยังตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดรถกระบะในไทยด้วยการคว้า 3 รางวัลรถยอดเยี่ยมมาครอง ได้แก่ ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เจเนอเรชันใหม่ กับรางวัล BEST 4WD PETROL PICKUP, ฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่น ไวลด์แทรค คว้ารางวัล BEST HIGH-LIFT PICKUP UNDER 2000 cc และฟอร์ด เอเวอเรสต์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่น ไทเทเนียม พลัส 4×4 คว้ารางวัล BEST DIESEL 4WD PPV UNDER 2000 cc

ล่าสุดฟอร์ด ประเทศไทย เคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง ประกาศกลยุทธ์รุกตลาดลูกค้ารายใหญ่ เจาะกลุ่มรถกระบะดัดแปลงเพื่อผลักดันธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งการรุกตลาดรถยนต์ดัดแปลงครั้งนี้มาจากการเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ บวกกับจุดแข็งของรถยนต์ฟอร์ดที่โดดเด่นด้วยสมรรถนะซึ่งน่าจะตอบโจทย์ตลาดได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญฟอร์ดไม่ได้บุกตลาดเพียงลำพัง แต่มาพร้อมกับพันธมิตรผู้ดัดแปลงรถยนต์มือฉมังอย่าง บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด และบริษัท เอส เอส เอส ออโตโมทีฟ อินดัสทรี จำกัด

โดยสถิติการซื้อขายรถยนต์ในปี 2565 ระบุว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศไทยมีปริมาณรวมทั้งสิ้น 849,388 คัน และที่น่าสนใจคือในตัวเลขดังกล่าวเป็นรถกระบะถึง 46% โดยที่ 17% ของตลาดรถกระบะเป็นแบบกระบะตอนเดียวราว 68,000 คัน ทั้งนี้ 80% ของรถกระบะตอนเดียวที่ขายในประเทศไทยเป็นรถยนต์ดัดแปลงติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ราว 54,000 คัน แบ่งออกเป็น การติดตั้งตู้แห้ง 45%, ติดตั้งคอก/รั้ว 35%, ตู้เย็น 7%, เซอร์วิส 5%, กระบะพื้นเรียบ 3% และอื่นๆ 5%

แน่นอนว่าจากตัวเลขข้างต้นจึงเป็นโอกาสทองในการรุกตลาดรถยนต์ดัดแปลงในประเทศไทยของฟอร์ด โดยฟอร์ดจะมุ่งเจาะกลุ่มตลาดลูกค้ารายใหญ่ 6 กลุ่มที่มีความต้องการใช้รถยนต์ดัดแปลงเป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มยาและเวชภัณฑ์, กลุ่มขนส่งโลจิสติกส์, กลุ่มอาหาร, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มเกษตรกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง

รัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย ตอกย้ำถึงการบุกตลาดรถกระบะดัดแปลงครั้งนี้ว่า “ฟอร์ดเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มตลาดลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมีความต้องการใช้รถยนต์ดัดแปลงเพื่อการพาณิชย์ จึงเข้ามารุกตลาดนี้ แต่เข้ามาทั้งทีเราต้องสร้างความแตกต่าง ทั้งจากจุดแข็งของรถยนต์ฟอร์ด เจเนอเรชันใหม่ ที่โดดเด่นด้านสมรรถนะและความอเนกประสงค์ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นมาทำเป็นรถยนต์ดัดแปลงที่มีคุณภาพ พร้อมยกระดับมาตรฐานไปอีกขั้นด้วยโปรแกรม Qualified Vehicle Modifier (QVM) ซึ่งเป็นมาตรฐานการดัดแปลงรถยนต์ระดับโลกของฟอร์ด ซึ่งวิศวกรฟอร์ดจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรผู้ดัดแปลงในการนำเสนอโซลูชันเพื่อตอบโจทย์และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของลูกค้า”

ซึ่งฟอร์ดจะใช้รถยนต์ฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ เป็นตัวนำขบวนเพื่อนำไปดัดแปลงเป็นรถประเภทต่างๆ เช่น รถพยาบาลฉุกเฉิน รถกระเช้า รถตู้เย็น รถจัดส่งสินค้า รถบริการเคลื่อนที่ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มองหารถยนต์ดัดแปลง โดยจะทำงานร่วมกับผู้จำหน่ายและพันธมิตรผู้ดัดแปลงที่ผ่านการรับรองจากโปรแกรม QVM เพื่อแก้เพนพอยต์หลักของรถยนต์ดัดแปลงทั่วไปที่ดัดแปลงโดยปราศจากพื้นฐานทางวิศวกรรม

โดยสาเหตุที่ใช้ฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่เป็นตัวนำเพราะเป็นรุ่นที่มีข้อได้เปรียบด้วยฐานล้อที่กว้างขึ้น ทำให้มีพื้นที่กระบะเพิ่มขึ้น ติดตั้งตู้ได้กว้างและยาวมากขึ้น โดยมีความกว้างสูงสุด 1,910 มม. มีศักยภาพในการนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ได้หลากหลายในราคาที่คุ้มค่า

สำหรับโปรแกรม QVM เป็นชื่อมาตรฐานการดัดแปลงรถยนต์ของฟอร์ดที่เริ่มจากฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา ก่อนเข้าสู่ยุโรปประมาณปี 2000 และเข้าประเทศไทยในปี 2005 ซึ่งนับว่ายังเป็นของใหม่ในประเทศไทย

ด้านบริษัทผู้ดัดแปลงรถยนต์ที่เป็นพันธมิตรของฟอร์ดทั้ง บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด และบริษัท เอส เอส เอส ออโตโมทีฟ อินดัสทรี จำกัด ก็ถือเป็นผู้ดัดแปลงรถยนต์มือฉมัง ที่เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในวงการมานานนับสิบปี

บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด เป็นผู้ประกอบและผลิตรถยนต์ดัดแปลงพิเศษรายใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 30 ปี มีการประกอบและผลิตอยู่ทั่วโลกทั้ง ตุรกี แอฟริกาใต้ ดูไบ ออสเตรเลีย เมียนมาร์ กัมพูชา และไทยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี นอกจากนี้ อาร์เอ็มเอยังเป็นดีลเลอร์ของฟอร์ดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนปาล บังกลาเทศ และศรีลังกา อีกด้วย

โดยรถยนต์ดัดแปลงของฟอร์ดที่ดำเนินการโดยอาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ ประกอบด้วย “รถพยาบาลฉุกเฉิน” ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ 4×4 ที่มาพร้อมอุปกรณ์ ทั้งเปลสนาม ที่นั่งผู้ดูแลผู้ป่วย 3 ที่นั่ง ตู้ยาและระบบถังออกซิเจน และระบบแสงไฟยูวี บันไดทางเข้าด้านหลัง ไซเรน

“รถกระเช้าไฟฟ้า” ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ 4×4 มีแขนเหล็กคุณภาพสูงสามารถยืดหดได้ พร้อมระบบควบคุมฉุกเฉินของฐานควบคุมและกระเช้าไฟฟ้า มีขาค้ำยันปรับระดับด้านหน้าและด้านหลัง สามารถปรับระดับตัวรถได้

“รถให้บริการเคลื่อนที่อเนกประสงค์” (Mobile maintenance – MMT Box) ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ 4×4 มาพร้อมพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ ถังเก็บน้ำมันและถังเก็บน้ำ รวมถึง “รถทำสีพิเศษ” ที่ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ ไวลด์แทรค ให้เป็นสีประจำองค์กรตามความต้องการของลูกค้า

ในส่วนของบริษัท เอส เอส เอส ออโตโมทีฟ อินดัสทรี จำกัด เป็นผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ดัดแปลงรายใหญ่ของประเทศ และอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์มานานกว่า 40 ปี มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้งรถบัส รถพยาบาล รถเพื่อการขนส่ง ตู้แห้ง ห้องเย็น รถศูนย์บริการเคลื่อนที่ รถขนเงิน รถหุ้มเกราะ รวมถึงรถที่ใช้ทางราชการเพื่อความมั่นคงประเภทต่างๆ

ซึ่งรถยนต์ดัดแปลงของฟอร์ดที่เอส เอส เอส ออโตโมทีฟ อินดัสทรี เป็นผู้ประกอบ เช่น “รถตู้เย็น” ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ และใช้คอมเพรสเซอร์ที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์ (engine-driven compressor), “รถตู้เย็นแบบ DC-Driven” ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ ที่ใช้ตัวรถเป็นตู้ทำความเย็นแบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฟอร์ดนำคอมเพรสเซอร์แบบไฟฟ้ามาใช้ในการทำความเย็นให้กับตู้เย็นที่ติดตั้งในรถกระบะ และมีการติดตั้งแบตเตอรี่ลูกที่สอง ทำให้เครื่องคอมเพรสเซอร์สามารถทำงานต่อได้อย่างยาวนาน แม้ว่าตัวเครื่องยนต์จะดับไปแล้ว จึงเหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการคุณภาพในการควบคุมอุณหภูมิสินค้า เช่น ผู้ผลิตสินค้าเวชภัณฑ์

“รถบริการเคลื่อนที่” ซึ่งดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นโอเพ่นแค็บยกสูง, “รถตู้แห้งขนของแบบครึ่งท่อน” (half cargo box) รุ่นดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ ใช้แผ่นไฟเบอร์จากประเทศเยอรมนี ทำให้แข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา รองรับแรงกระแทกได้ดี, “รถพยาบาล” พัฒนามาจากรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ มาพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ตามข้อกำหนดของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

โดยเมื่อผ่านขั้นตอนการดัดแปลงเรียบร้อยแล้วทั้งฟอร์ดและพันธมิตรต่างรับประกันว่า ราคาขายจะใกล้เคียงหรือถูกกว่าท้องตลาด แต่มาตรฐานและคุณภาพที่ได้จะดีกว่าอย่างแน่นอน อย่างที่ฟอร์ดใช้คำว่า “คุณภาพและมาตรฐานสูงในราคาที่เข้าถึงได้”

ปัจจุบันฟอร์ดเข้ามาทำตลาดในไทยมากกว่า 25 ปี และเป็นหนึ่งในบริษัทยานยนต์ที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 รวมกว่า 3,400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1 แสนล้านบาท

มีโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (เอฟทีเอ็ม) มีกำลังการผลิตรถรวมอยู่ที่ 135,000 คันต่อปี และบริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (เอเอที) มีกำลังการผลิตรถรวมอยู่ที่ 270,000 คันต่อปี เพื่อผลิตรถยนต์รุ่นต่างๆ ออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีโชว์รูมทั่วประเทศกว่า 180 แห่ง.