งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (Thai National Book Fair) จัดครั้งแรกเมื่อปี 2515 โดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กำหนดให้ช่วงวันที่ 1-7 เมษายนของทุกปี เป็นสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมคนไทยรักการอ่าน และกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดงานเป็นประจำทุกปี
สำหรับงานครั้งแรกใช้พื้นที่สังคีตศาลา โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นย้ายสถานที่จัดไปหลายแห่ง ได้แก่ สวนลุมพินี โรงเรียนหอวัง ท้องสนามหลวง คุรุสภา และถนนลูกหลวง ข้างกระทรวงศึกษาธิการ
ต่อมา สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยขอมีส่วนร่วมเป็นผู้จัดงาน มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมกว่า 20 สำนักและผู้เข้าชมงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ปี 2539 กระทรวงศึกษาธิการและสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ตกลงกันจัดงานปีละ 2 ครั้ง คือ ต้นปีเป็นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ส่วนปลายปีเป็นงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ โดยปีนั้นประเดิมจัดมหกรรมหนังสือระดับชาติ (Book Expo Thailand) ครั้งแรกที่ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์
ต่อมาจัดที่ท้องสนามหลวงและภายหลังทั้งสองงานจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งานหนึ่งต้นปี อีกงานหนึ่งปลายปีมาตลอด
ปี 2544 เพิ่มการจัดงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ (Bangkok International Book Fair) ไปพร้อมกันด้วย
ปี 2562-2563 งานมหกรรมหนังสือระดับชาติและงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ย้ายไปจัดที่ศูนย์ฯอิมแพ็ค เมืองทองธานี ชั่วคราว เพราะศูนย์ฯ สิริกิติ์ปิดปรับปรุง ส่วนปี 2564 จัดที่ไบเทค บางนา ควบคู่กับการจัดงานออนไลน์
ปี 2565 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ จัดที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อฉลองการจัดงานครบรอบ 50 ปี และครบรอบ 125 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนงานมหกรรมหนังสือระดับชาติช่วงปลายปีย้ายกลับไปจัดที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ตามเดิม
ปี 2566 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายน ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ โดยขยายเวลาให้นักอ่านถึงเที่ยงคืนในวันที่ 30 มีนาคม-1 เมษายน ส่วนวันที่ 2-9 เมษายน เปิดให้บริการปกติ 10.00-21.00 น. ใช้ธีมงาน Bookfluencer สะท้อนความนิยมของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ หรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจในยุคนี้ สร้างแรงดึงดูดให้ทุกคนเป็นคนใหม่ในเวอร์ชันที่ดีกว่าและสมาร์ตขึ้นผ่านการอ่านหนังสือ
ผู้จัดงานได้เผยโฉมโปสเตอร์งาน 2 เวอร์ชัน ชิ้นแรกเป็นผลงานของ อเล็ก เฟส (Alex Face) หรือ พัชรพล แตงรื่น ศิลปินผู้หลอมรวมโลกของสตรีทอาร์ตกับงานจิตรกรรมอิมเพรสชันนิสม์ นักสร้างงานกราฟฟิตี้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งออกแบบคาแรกเตอร์นักอ่านให้ดูสนุกสนานยิ่งขึ้น
ชิ้นที่สองเป็นผลงานของสปอนเซอร์หลัก BOOK☆WALKER มาพร้อมกับคาแรกเตอร์การ์ตูน 4 เรื่องเยี่ยม ได้แก่ โตเกียวรีเวนเจอร์ส (Tokyo Revengers) นินจาคาถา โอ้โฮเฮะ (Naruto) ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน และคุณอาเรียโต๊ะข้างๆ พูดรัสเซียหวานใส่ซะหัวใจจะวาย (Alya Sometimes Hides Her Feelings in Russian) เพื่อเพิ่มสีสันดึงดูดนักอ่านทั่วสารทิศ
หลายฝ่ายประเมินว่า งานสัปดาห์หนังสือปีนี้จะคึกคักมากขึ้น เพราะอยู่ในช่วงใกล้การเลือกตั้งประมาณเดือนพฤษภาคม ทั้งการเปิดตัวหนังสือ การเยี่ยมชมงานของแกนนำพรรคการเมืองเพื่อสื่อสารกับเยาวชนกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใหม่ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายตลอด 11 วัน จะมียอดผู้เข้าร่วมงานแตะ 1.5 ล้านคน ปลุกยอดขายราว 350 ล้านบาท เทียบงานปีก่อนๆ มีคนเข้าร่วมงานไม่เกิน 1 ล้านคนเพราะสถานการณ์โควิด
ที่น่าสนใจ แม้ธุรกิจสิ่งพิมพ์เติบโตลดลง ไม่ใช่เพราะคนไทยอ่านน้อยลงตามผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่เคยระบุถึงอัตราการอ่านหนังสือของคนไทย เฉลี่ยเพียงแค่ปีละ 8 บรรทัด แต่หันไปอ่านอีบุ๊กมากขึ้น อ่านผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ ทั้งแบบเป็นเล่ม และรายตอนในแอป ซึ่งราคาถูกกว่าการซื้อหนังสือเล่ม
ขณะเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรตั้งแต่ปี 2548-2561 เก็บข้อมูลจากชาวไทย 55,920 ครัวเรือนตัวอย่างในทุกภูมิภาคและทุกช่วงวัย พบว่า คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้เวลาอ่านเฉลี่ยมากถึงวันละ 80 นาที และเยาวชนไทยเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาอ่านหนังสือมากที่สุด เฉลี่ยวันละ 109 นาที
ดังนั้น แม้สื่อโซเชียลมาแรงแต่ยังมีนักอ่านจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบเสน่ห์การอ่านหนังสือเล่ม ซึ่งงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติถือเป็นมหกรรมใหญ่ที่สามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ชัดเจนที่สุด.