วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > นายแป๊ะ เต๊กเฮงหยู จากยาแก้ปวดสู่กิจการหมื่นล้าน

นายแป๊ะ เต๊กเฮงหยู จากยาแก้ปวดสู่กิจการหมื่นล้าน

ความยิ่งใหญ่ของ “โอสถสภา” เริ่มต้นเมื่อปี 2434 จากร้านขายของเบ็ดเตล็ดย่านสำเพ็ง “เต๊กเฮงหยู” ของนายแป๊ะ จนเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน เมื่อนายแป๊ะนำสูตรยาจีนโบราณที่มีชื่อว่า “ยากฤษณากลั่น” มีสรรพคุณบรรเทาโรคปวดท้องต่างๆ มาจำหน่าย รวมถึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อใช้ในการซ้อมรบของกิจการเสือป่าที่จังหวัดนครปฐมด้วย

หลายปีต่อมา สรรพคุณยากฤษณากลั่นของร้านเต๊กเฮงหยูเป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเขียนแนะนำให้ใช้ยากฤษณากลั่นรักษาโรคท้องร่วง ในพระราชนิพนธ์ “กันป่วย” นอกจากนั้น ยังพระราชทานเข็มเสือป่าและทรงพระราชทานนามสกุลให้แก่นายแป๊ะ อันเป็นมงคลว่า “โอสถานุเคราะห์” เมื่อปี 2456

ปี 2475 ร้านเต๊กเฮงหยูย้ายไปยังถนนเจริญกรุงและเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “โอสถสภาเต๊กเฮงหยู” พร้อมๆ กับขยายการผลิตยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้ เช่น ยาธาตุ ยาแก้ไอ ยาอมวัน-วัน ยาอมโบตัน และยาทัมใจ

ปี 2492 โอสถสภาเต๊กเฮงหยู ขยายฝ่ายผลิตไปยังโรงงานย่านซอยหลังสวน โดยติดตั้งเครื่องจักรรองรับการผลิตที่เติบโต รวมทั้งจดทะเบียนบริษัท เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2492

วันที่ 13 ตุลาคม 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานครุฑตราตั้งให้แก่ บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด

ปี 2508 บริษัทขยายกิจการสู่ตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ด้วยการจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังแบรนด์แรกของประเทศไทย “ลิโพวิตัน-ดี” ซึ่งได้รับอนุญาตจากบริษัท ไทโช ฟาร์มาซูติคอล จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น

ปี 2517 บริษัทดึงสำนักงานที่เจริญกรุงและโรงงานในซอยหลังสวนมารวมกันอยู่ที่เดียวกัน ณ สำนักงานบนถนนรามคำแหง ย่านหัวหมาก บางกะปิ เนื้อที่กว่า 70 ไร่ และปี 2520 เปิดบริษัทสยามกลาสลงทุนธุรกิจผลิตขวดแก้ว รองรับแผนขยายตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง

ปี 2528 เปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังแบรนด์ “เอ็ม-150” ซึ่งปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท

ปี 2534 ขยายกิจการสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลสำหรับเด็ก แบรนด์ “เบบี้มายด์”

ปี 2535 ขยายกิจการสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามสำหรับผู้หญิง แบรนด์ “ทเวลฟ์ พลัส”

ปี 2538 บริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท โอสถสภา จำกัด”

ปี 2550 ขยายกิจการสู่ตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ แบรนด์ “เปปทีน”

ปี 2555 ร่วมทุนกับบริษัท เฮ้าส์ ฟู้ดส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศญี่ปุ่น) เปิดตัวเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์แบรนด์ “ซีวิท”

ปี 2556 ร่วมทุนกับบริษัท คาลพิส จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม แบรนด์ “คาลพิส” ในประเทศไทย และปี 2558 ร่วมลงทุนกับบริษัท ลอย เฮง จำกัด เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในเมียนมา

ปี 2559 โอสถสภาเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจและองค์กร และปี 2561 แปรสภาพเป็น บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ “OSP” พร้อมเปิดตัวโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งแรกในต่างประเทศที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา เมียนมา

ปี 2562 เข้าลงทุนในบริษัท เอเชีย เวนดิ้ง แมชชีน โอเปอร์เรชั่น จำกัด สัดส่วน 51% เพื่อดำเนินธุรกิจตู้จัดจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และเปิดให้บริการโอสถสภา เดลิเวอรี ส่งผลิตภัณฑ์ถึงบ้าน

ขณะเดียวกัน เข้าลงทุนใน OSOTSPA VTA JOINT STOCK COMPANY สัดส่วน 60% เพื่อขยายธุรกิจไปยังประเทศเวียดนาม และตั้งบริษัท MYANMAR GOLDEN EAGLE COMPANY LIMITED ผลิตขวดแก้วในเมียนมา

ปี 2563 เข้าซื้อหุ้นส่วนที่เหลือของบริษัท คาลพิส โอสถสภา จำกัด สัดส่วน 60%

2 ปีต่อมา ถือเป็นช่วงวิกฤตของหลายธุรกิจ ผลพวงจากพิษโควิดแพร่ระบาดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทางการต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การปิดด่านชายแดน แต่โอสถสภายังสามารถผลักดันการเติบโตของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศ รักษาส่วนแบ่งการตลาด 54.6% และกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ มีส่วนแบ่งการตลาด 37.3% พร้อมประกาศฉลองครบรอบ 130 ปี

ล่าสุด ปี 2566 โอสถสภาประกาศพลิกโฉมกลุ่มสินค้ายุคแรก ตรา “กิเลน” ในโอกาสครบรอบ 132 ปี โดยปรับแพ็กเกจจิ้งใหม่ ดีไซน์ร่วมสมัยสไตล์โมเดิร์นวินเทจ รับกระแสสินค้าสุขภาพและการใช้สมุนไพรภูมิปัญญาชาวบ้าน เหมือนตอกย้ำก้าวแรกของนายแป๊ะที่เริ่มปลุกปั้นชื่อเสียงจากยาแก้ปวดท้องก่อนขยายสู่อาณาธุรกิจที่มีสินทรัพย์มากกว่า 25,000 ล้านบาท.