แม้จะเป็นเบอร์ 1 ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50% แต่ “มาม่า” ยังไม่หยุดสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาด ล่าสุดมีการเปิดตัว “MAMA Station” ร้านอาหารโมเดลต้นแบบที่มาพร้อมสารพัดเมนูจากมาม่า ที่ไม่ได้เป็นเพียงหน้าร้าน แต่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสร้าง Brand Awareness ที่น่าจับตา
ถ้ายังจำได้ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 มาม่ามีการนำโมเดล MAMA Shop ซึ่งเป็นรูปแบบร้านอาหารที่ขายเมนูเส้นจากผลิตภัณฑ์มาม่าโดยเฉพาะมาโชว์ในงาน ด้วยการเปิดตัว 3 เมนูอร่อยจาก 3 รสชาติสุดฮิต อย่าง มาม่าหมูสับ มาม่าเย็นตาโฟทะเล และมาม่าต้มยำกุ้งน้ำข้น เพื่อเป็นการชิมลางในการขยายธุรกิจสู่ธุรกิจร้านอาหาร และเพื่อสร้าง Brand Awareness ให้คนรุ่นใหม่รู้จักแบรนด์มาม่าในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ปลายปีที่ผ่านมามาม่าต่อยอดแนวคิดเดิมด้วยการเปิดตัวร้าน “MAMA Station Aroi” (มาม่า สเตชั่น อร่อย) ร้านมาม่าต้นแบบขึ้นในคอร์ตแบดมินตันของโครงการ Happy Hub ย่านลาดพร้าว เป็นสาขาแรก เป็นร้านเล็กๆ ที่เน้นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มาม่ารสชาติต่างๆ เป็นหลัก บวกกับทอปปิ้งที่มีให้เลือกอย่าง ไข่ ลูกชิ้น เต้าหู้ปลา ชีส
หลังจากนั้นในเดือนมกราคม 2566 มีการเปิดตัวร้าน “MAMA Station” อีกหนึ่งรูปแบบตามมา โดยเลือกทำเลในโครงการ มินิมอลล์ เพชรเกษม 98 เป็นที่ตั้ง เป็นร้านขนาด 18 ที่นั่ง ที่มีจุดขายคือการนำผลิตภัณฑ์มาม่ามารังสรรค์เป็นเมนูหลากหลาย โดยมาพร้อมกับวลีเด็ดอย่าง “แล้วโลกมาม่าของคุณ จะไม่ธรรมดาอีกต่อไป” ซึ่งทั้งสองสาขาถือเป็นร้านต้นแบบที่กำลังอยู่ในช่วงทดลอง
พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ “มาม่า” เปิดเผยว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นสิ่งที่ท้าทายและมีรายละเอียดเยอะ หลังจากที่ได้ทดลองเปิด MAMA Shop ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ไปแล้ว สุดท้ายมานั่งคิดว่าจะไปต่ออย่างไร จนมีรุ่นน้อง 2-3 คนเข้ามาคุยและสนใจที่จะทำ จึงช่วยกันคิดรูปแบบธุรกิจที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ จนกลายมาเป็น “MAMA Station” ร้านต้นแบบที่อยู่ในช่วงการทดลอง โดยแต่ละสาขาจะแตกต่างกัน เพื่อดูว่ารูปแบบไหนเหมาะสมที่สุด
ภูมิ ช่วยณรงค์ และ วันปิติ วัฒนพานิช 2 พาร์ตเนอร์ ของ MAMA Station
“เราเรียกมันว่าโมเดลลูกหมูสามตัว หมูตัวแรกไปสร้างบ้านฟาง ตัวที่สองไปสร้างบ้านไม้ ตัวที่สามไปสร้างบ้านปูน เผอิญบ้านหมูตัวแรกโดนหมาป่าเผา บ้านหมูตัวที่สองก็โดนหมาป่าเผา แต่สุดท้ายไม่มีหมูตัวไหนตาย หมูสองตัวแรกก็วิ่งไปหลบอยู่ในบ้านหมูตัวสุดท้ายที่แข็งแรงกว่า ผลสุดท้ายทุกตัวอยู่รอด เหมือนกับเราพยายามหาโมเดลที่มันดีที่สุด เพื่อที่คนที่เขามาลงทุนกับเราจะไม่เจ็บตัว” พันธ์อธิบายเพิ่มเติม
สำหรับ MAMA Station ร้านต้นแบบจะเป็นการคัดเลือกพาร์ตเนอร์หรือผู้สนใจลงทุนที่มีความพร้อมทั้งเงินลงทุนและทำเลมาเป็นผู้ทดลองทำ โดยพาร์ตเนอร์จะเปิดคนละสาขาซึ่งแต่ละสาขาจะแตกต่างกันออกไป และพาร์ตเนอร์เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเงินลงทุน คิดสูตรอาหาร จัดการร้าน และรับความเสี่ยงทั้งหมด ในขณะที่มาม่าลงทุนด้วยชื่อแบรนด์ และเป็นผู้ดูแลมาตรฐาน ซึ่งแน่นอนว่าแบรนด์ที่มีอายุกว่า 50 ปี มูลค่าแบรนด์ย่อมไม่น้อยเช่นกัน
ในขั้นแรกมีพาร์ตเนอร์หลักๆ 3 ราย รายแรกเปิดเป็นร้านเล็กๆ ในคอร์ตแบดมินตันของโครงการ Happy Hub ในชื่อ “MAMA Station Aroi” เน้นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์มาม่าเกือบทุกรสชาติและตัวทอปปิ้ง และเป็นเสมือนโชว์เคสที่บอกให้ผู้บริโภครู้ว่ามาม่ามีอะไรบ้าง
“สาขานี้ยอดขายไม่ได้เยอะมาก เพราะเป็นร้านเล็กๆ แต่จุดแข็งของสาขานี้คือมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว เพราะเป็นลูกค้าที่มาใช้บริการคอร์ตแบดฯ และใช้เงินลงทุนไม่เยอะเพราะพาร์ตเนอร์เป็นเจ้าของสถานที่เอง”
ส่วน MAMA Station สาขาที่สองตั้งอยู่ในโครงการ มินิมอลล์ เพชรเกษม 98 เป็นรูปแบบร้านอาหารขนาด 18 ที่นั่ง มีเมนูจากผลิตภัณฑ์มาม่าหลายรูปแบบ ทั้ง มาม่าหมูสับทรงเครื่อง มาม่าต้มยำทรงเครื่อง มาม่าฮอตโคเรียนผัดแห้ง มาม่าผัดไข่เค็มแห้ง มาม่าหม้อไฟเกาหลี ยำมาม่าไส้กรอกหมูสับ ราคาเริ่มต้นที่ 49 บาท จนถึง 139 บาท รวมถึงเมนูกินเล่นอย่างไก่ทอดมาม่าที่ราคาเพียง 39 บาท โดยคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 6-7 เดือน ส่วนพาร์ตเนอร์รายที่ 3 กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการโดยจะเปิดให้บริการในย่านพัฒนาการเป็นลำดับต่อมา
และไม่เพียงเท่านั้น ในปีนี้มาม่ายังมีพาร์ตเนอร์ที่สนใจลงทุนใน MAMA Station อีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการเจรจา
“ในปีนี้มีพาร์ตเนอร์ที่เราคุยๆ ไว้อีก 4-5 ราย เตรียมไปลงในโลเคชันที่ครอบคลุมและหลากหลาย ทั้งตลาด สปอร์ตเซ็นเตอร์ คอมมูนิตี้มอลล์ หน้าโรงเรียน หน้ามหาวิทยาลัย สวนสนุก สถานที่ท่องเที่ยว อีก 5-6 โลเคชันที่เราคิดไว้ ว่าตรงไหนทำได้ตรงไหนทำไม่ได้ สุดท้ายแล้วในวันที่พร้อมขายแฟรนไชส์เราจะได้มีข้อมูลได้ว่าเปิดตรงไหน ทำอย่างไร เมนูอะไรที่เหมาะกับโลเคชันนั้นๆ”
“เพราะฉะนั้นน้องๆ ที่เข้ามาทำมาม่าสเตชั่นกับเราตอนนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นหนูทดลอง ที่เราจะทดลองไปพร้อมๆ กัน ความเสี่ยงอยู่ที่เขา แต่ถ้าถึงจังหวะที่มันสเกลอัปและขายแฟรนไชส์ได้แล้ว เขาอยากจะเข้ามามีส่วนเป็นผู้ถือหุ้นด้วยไหมอันนี้คือแล้วแต่พวกเขา เพราะเขาคือคนที่ช่วยเราสร้างมา มันต้อง win-win ถ้าคิดตั้งแต่ต้นว่าเราจะได้อะไรมันจะไปได้ไม่ไกล”
เขายังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่กับ MAMA Station ในตอนนี้ รวมถึงการหาพาร์ตเนอร์ที่มีความพร้อมมาเป็นผู้ลงทุนและบริหารร้านต้นแบบนั้น เป็นไปตามสูตรของธุรกิจสตาร์ทอัป คือ “คิดใหญ่ ทำเล็ก และสเกลอัป (Scale up) ให้เร็ว” เพราะแม้เป้าหมาย ณ ตอนนี้ของมาม่าคือการสร้าง Brand Awareness แต่แน่นอนว่าเป้าหมายในระยะยาวนั่นคือการขายแฟรนไชส์ และภาพร้าน MAMA Station ที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ก็คือภาพใหญ่ที่วางไว้
“สูตรอาหารของแต่ละร้านเขาก็ไม่หวง สาขาแรกก็ถ่ายทอดให้สาขาที่สอง พาร์ตเนอร์เขาก็เตรียมขยายสาขาต่อไปเรื่อยๆ ระยะยาวถามว่า มาม่าได้อะไร สุดท้ายเราจะได้โมเดลที่มันถูกต้อง และสามารถทำเป็นแฟรนไชส์ได้ในอนาคต ซึ่งมันเป็นสูตรสตาร์ทอัป คือ คิดใหญ่ ทำเล็ก สเกลอัปให้เร็ว”
เขายังเปิดเผยต่อว่า หลังเปิดร้าน MAMA Station ได้ไม่นาน มีผู้ติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งติดต่อผ่านสหพัฒน์ มาม่า และติดต่อผ่านร้านโดยตรง แต่สิ่งที่เขาเน้นย้ำคือก่อนที่จะสเกลอัปและขายแฟรนไชส์ได้นั้น MAMA Station ต้องมีโมเดลต้นแบบที่นิ่งและชัดเจน มีสูตร เมนู ระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐาน รู้ต้นทุน รายได้ กำไร ช่วยวิเคราะห์ทำเลและให้คำแนะนำกับผู้ที่จะมาลงทุนได้
“อย่างเร็วสุดที่คิดว่าจะสามารถขายแฟรนไชส์ได้คงต้องเลยสิ้นปีนี้ เพราะอยากให้นิ่งก่อน ด้วยความเป็นมาม่า มันเป็นทั้งที่พึ่งและทางเลือกให้กับผู้บริโภค ปกติมีคนซื้อมาม่าไปวางขายหรือทำอาหารขายเขาก็ขายได้ ถ้าวันหนึ่งมาม่ากระโดดเข้าไปอีกโมเดลหนึ่งแล้วเขามาลงทุนกับเราแล้วมันทำให้เขาเจ๊ง มันก็ไม่ดี ต้องเอาให้ชัวร์ก่อนว่าคนซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วเขาได้รายได้แน่ๆ และเราต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนว่าคุณจะได้เดือนละเท่าไรถ้าคุณทำเท่านี้ ถ้าทำตามเราคุณจะไม่เจ๊ง ซึ่งเราต้องมีตรงนี้ก่อน ถ้าไม่มีก็ยังไม่ขาย”
และถ้าโมเดลนี้สำเร็จ ในอนาคตเราคงได้เห็นภาพ MAMA Station กระจายอยู่ในหลากหลายพื้นที่เป็นแน่ เพราะแค่เปิดตัวร้านต้นแบบก็มีคนรอเข้าแถวซื้อแฟรนไชส์กันเพียบ!!