บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TF ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท เพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จากไต้หวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิต กับบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ซึ่งรับผิดชอบในด้านการตลาดและการจำหน่ายสินค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ “มาม่า” โดยมี “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกคนสำคัญ
หลังการดำเนินธุรกิจในปีแรกผ่านไป หุ้นทั้งหมดถูกโอนไปยังผู้ถือหุ้นคนไทยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จนกระทั่ง ปี 2560 ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ได้ควบรวมกับบริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มาจากข้าวเป็นหลัก โดยภายหลังการควบรวมบริษัทยังคงใช้ชื่อเดิมคือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA มีบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 25.98 และกลุ่ม “พะเนียงเวทย์” ตามมาเป็นลำดับ 4 ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 14.47
เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ในวาระครบรอบ 50 ปีของไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือ มาม่า “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยถึงความสำเร็จและแผนธุรกิจของมาม่า พร้อมกับการเปิดตัวทายาทรุ่น 2 ของ “พะเนียงเวทย์” กำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของมาม่าและบริษัทในเครือ อย่าง ดร.พจน์ พะเนียงเวทย์ ที่ปัจจุบันนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ, ดร.พจนี พะเนียงเวทย์ รองผู้อำนวยการ, พจนา พะเนียงเวทย์ กรรมการบริษัทและกรรมการธรรมาภิบาลและบริหารความเสี่ยง, เพชร พะเนียงเวทย์ กรรมการบริษัทและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด 2 บมจ. สหพัฒนพิบูล และที่ปรึกษา TFMAMA และพันธ์ พะเพียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ
“ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “พันธ์ พะเนียงเวทย์” บุตรชายคนเล็กของคุณพิพัฒ ที่ตามหลังพี่ๆ เข้ามาทำงานในบริษัทเป็นคนสุดท้ายของบ้าน ที่แม้จะเข้ามาเป็นคนสุดท้ายแต่ปีนี้ก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 24 ที่เขาเข้ามาทำงานในอาณาจักรของมาม่า ซึ่งนานพอที่จะฉายภาพการเดินทางตลอด 50 ปีของมาม่าให้เราได้พอเห็นภาพ
“MAMA Station” ย่านเพชรเกษม 98 ร้านอาหารโมเดลต้นแบบของมาม่า ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานและกำลังถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ คือสถานที่ที่เขาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้
“ปี 2565 เป็นปีที่มาม่าครบรอบ 50 ปี คนน่าจะอยากเห็นภาพว่าหลังจาก 50 ปีแล้วยังไงต่อ คุณพิพัฒก็เลยบอกอย่าไปชูตัวเขาคนเดียวเลย ปีที่แล้วเขาก็อายุ 83 แล้ว จะให้คนอายุ 80 กว่ามาเป็นไอคอนของบริษัทไปเรื่อยๆ มันก็ไม่ค่อยดี ครั้งนั้นก็เลยมีการแนะนำทีมบริหาร อาจจะไม่ถึงขั้นเปิดตัวทายาท เพราะมาม่าคือบริษัทมหาชน และบ้านเราอยู่ในฐานะคนทำงานมากกว่า”
พันธ์เท้าความว่า ในช่วงวัยเรียนเขาไม่มีความคิดที่จะเข้ามาทำงานในเครือของมาม่า เพราะเห็นว่าพี่ๆ เข้ามาทำกันหมดแล้วและทำมาดีมาก ซึ่งคงไม่มีอะไรให้เขาทำมากนัก แต่พอได้เข้ามาทำจริงๆ กลับไม่ใช่อย่างที่เขาเคยคิด
“ปีที่เริ่มเข้ามาทำงานในไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์คือปี 2542 ทำประสานงานสำนักงานผู้อำนวยการเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่ คิดว่าทำแป๊บๆ เดี๋ยวก็คงไปเรียนต่อ แต่พอทำไปทำมามันมีอะไรที่เราต้องช่วยแบ่งเบาเยอะ ตอนที่เข้ามาคุณพ่อก็อายุ 60 แล้ว และตอนนั้นมาม่าถูกสร้างมาแล้วเกือบ 27 ปี ซึ่งรุ่นก่อนเขาทำไว้ดีมาก การรักษาสิ่งที่ถูกสร้างมาอย่างดีให้ดีต่อไปได้มันคืออีกหนึ่ง mission ที่สำคัญ”
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและได้ทดลองทำงานในสายงานอื่นๆ ระยะหนึ่ง เขากลับเข้ามาทำงานในไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์อีกครั้งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคล เพื่อดูแลพนักงานของมาม่าที่มีอยู่ราวๆ 3-4 พันคน ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในการนำระบบ ERP มาปรับใช้ในองค์กรพอดี
และหลังจากเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลอยู่ราวๆ 4 ปี เขาได้รับมอบหมายจากคุณพิพัฒให้ไปทำงานบริษัทในเครืออีก 2-3 แห่ง ก่อนกลับมาที่ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์อีกครั้งในตำแหน่งผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการจนถึงปัจจุบัน
“ปี 2515 เป็นช่วงที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มเข้ามาในไทย สหพัฒน์โดยนายห้างเทียมท่านมีดำริว่า มันเป็นสินค้าที่น่าจะผลิตขาย แทนที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นั่นเลยกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของมาม่าในไทย ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยเกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆ ยี่ห้อ ทั้งไวไว ยำยำ มาม่า ซันวา” พันธ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของมาม่า
เขาเปิดเผยต่อไปว่า แม้มาม่าจะมีมาตั้งแต่ปี 2515 แต่กว่าจะผลิตขายได้จริงๆ คือประมาณปี 2517-2518 เพราะช่วงแรกๆ คนยังไม่รู้จัก ยังเป็นของใหม่ในตลาดประเทศไทย ประกอบกับเทคโนโลยีในการผลิตปีแรกๆ ยังใหม่อยู่จึงต้องใช้เวลา โดยมาม่ารสชาติแรกที่ผลิตออกวางจำหน่ายคือ “มาม่ารสซุปไก่” ในราคา 2 บาท ซึ่งปัจจุบันรสซุปไก่ยังมีวางขายในต่างประเทศเกือบทุกประเทศ และเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในตลาดอเมริกาและยุโรป
จากซุปไก่สู่ต้มยำกุ้ง Turning Point ของการเป็นเบอร์ 1
หลังจากเปิดตัวด้วยรสซุปไก่ มาม่ามีการพัฒนารสชาติใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวที่ทำให้มาม่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด และก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือการเกิดขึ้นของ “มาม่ารสต้มยำกุ้ง”
มาม่าเปิดตัวรสต้มยำกุ้งน้ำใสครั้งแรกเมื่อปี 2523 และเป็นดังการสร้างปรากฏการณ์ให้กับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย เพราะนอกจากรสชาติที่แปลกใหม่ อร่อยถูกใจผู้บริโภคแล้ว ยังมาพร้อมกับแพ็กเกจจิ้งแบบซอง Metalized สีเงิน ซึ่งมาม่าเป็นรายแรกของโลกที่ใช้ซองประเภทนี้ นั่นทำให้มาม่ารสต้มยำกุ้งมีความโดดเด่นและแตกต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนั้น สร้างยอดขายได้อย่างก้าวกระโดด และทำให้มาม่าก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในที่สุด
ปัจจุบันมาม่ามีกำลังการผลิต 6 ล้านหน่วยต่อวัน ถือเป็นเบอร์ 1 ของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 45%-50% ในขณะที่เบอร์ 2 และ 3 อย่างยำยำและไวไว ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ราวๆ 10%-20% ทั้ง 3 เจ้ารวมกันมีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 90% และยังคงมีมาม่าต้มยำกุ้งเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่ง
“ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้มาม่าประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ คงต้องบอกว่ามาจากจุดขายของมาม่าคือ ‘สะดวก อร่อย ประหยัด’ รวมแล้วมันคุ้มค่าในการบริโภค และหลังจากติดตลาดไปแล้ว เราก็ไม่หยุดนิ่ง ยังคงพัฒนาและรักษามาตรฐานเอาไว้ในระดับที่เป็นที่พอใจของผู้บริโภค”
ก้าวต่อไปของมาม่าเน้นนวัตกรรมพร้อมรุกตลาดต่างประเทศ
สำหรับทิศทางในการขับเคลื่อนธุรกิจต่อจากนี้มาม่าจะโฟกัสที่ตลาดต่างประเทศ โดยตั้งเป้าสร้างยอดส่งออกให้มีรายได้เท่ากับยอดขายในประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมปรับกลยุทธ์จาก volume based สู่ food innovations เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น
“ตลาดต่างประเทศต้องโต และพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น เพราะตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมีข้อจำกัด การไปต่อหลังจากนี้ถ้าใช้การเพิ่มจำนวนซองต่อคนต่อปีคงเพิ่มได้อีกไม่มาก เพราะฉะนั้นต้องเพิ่มจำนวนเงินที่เขาจ่ายให้กับผลิตภัณฑ์ จึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อแก้โจทย์ตรงนี้”
เขาเปิดเผยต่อว่ามาม่ามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งบะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม สินค้าสุขภาพ สินค้าผู้ป่วย สินค้า plant based เพียงแต่ต้องรอจังหวะตลาดที่เหมาะสมและภาพลักษณ์ของแบรนด์มาม่าที่จะค่อยๆ ปรับ ก่อนที่จะทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด
“สินค้าสุขภาพเราก็มี แต่ด้วยความเป็นแบรนด์มาม่า คนอาจจะไม่เชื่อว่ากินแล้วสุขภาพดี แต่กินอย่างไรให้มันกระเทือนสุขภาพได้น้อยลง เราต้องมีทางเลือกให้ผู้บริโภค ไม่มีไม่ได้”
สำหรับแผนการขยายตลาดต่างประเทศนั้น มาม่ามีแผนตั้งโรงงานผลิตเพิ่มในทวีปแอฟริกาเพราะเป็นตลาดที่กำลังเติบโต โดยเป็นโมเดลที่ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ไม่ได้เข้าไปลงทุนเองทั้งหมด แต่ใช้วิธีเทคโนโลยีทรานส์เฟอร์ นอกจากนั้น ยังวางแผนจะตั้งโรงงานหรือลงทุนในทุกทวีปทั่วโลกตามการเติบโตของตลาดที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันมาม่ามีโรงงานผลิตที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศรวม 4 แห่ง ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี โดยโรงงานที่ฮังการีถือเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าทางฝั่งยุโรป ในขณะที่กัมพูชาเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงสุด และครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 60%
“เราคิดว่าอีก 5 ปี ยอดขายต่างประเทศจะต้องเป็นครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งหมด ตอนนี้อัตราส่วนรายได้อยู่ที่ 30:70 เป็นยอดขายต่างประเทศ 30 ยอดขายในประเทศ 70”
อยากเห็นมาม่าในปีที่ 51 เป็นแบบไหน?
ในฐานะหนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ของประเทศ สิ่งที่เราอยากรู้คือ เขามองภาพของมาม่าในปีที่ 51 ไว้อย่างไร
“สิ่งเก่าต้องรักษาให้ดีที่สุด และสิ่งใหม่ก็ทิ้งไม่ได้ อย่างแรกเลยคือ อยากให้สิ่งที่เป็นมาอยู่เดิมซึ่งมันดีมากๆ มันไม่หายไป ต้องรักษาฐานเดิม รักษาแกนหลักให้มันแน่นและดีขึ้น สินค้าหลักของเราปล่อยไม่ได้ อยู่ๆ จะไปเห่อกระโดดไปทำอะไรใหม่ๆ จนของเก่าไม่แน่นมันก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นฐานเดิมต้องเอาให้นิ่ง อย่างมาม่าต้มยำกุ้ง หมูสับ มาม่าโอเค ต้องรักษาให้แน่น ส่วนที่จะขยายใหม่อาจจะเป็น 10%-20% ต้องค่อยๆ เดิน ต่อให้เราอยากเห็นอะไรใหม่ๆ แค่ไหนก็ต้องค่อยๆ ไป อย่าง MAMA Station เป็นสิ่งใหม่ที่เรากำลังทำอยู่ก็ต้องค่อยๆ ไปเช่นกัน เพราะสิ่งใหม่คือสิ่งที่เราไม่รู้ สิ่งที่เราเชี่ยวชาญและทำได้แน่ๆ แล้วเราต้องไม่ทิ้ง ต้องรักษาให้ดีเท่าเดิม หรือดีกว่าเดิม”
และถ้าถามต่อว่า ณ ตอนนี้ “พิพัฒ พะเนียงเวทย์” ในฐานะผู้บุกเบิกและสร้างความเป็นมาม่ามากว่า 50 ปี วางมือหรือยัง?
“ยังครับ เพียงแค่เปลี่ยนบทบาท แทนที่จะลงมาคุมเอง สั่งเองทุกอย่างเหมือนที่เคยทำ ตอนนี้เปลี่ยนเป็นคนคุมหางเสือแทน คอยคุมจังหวะและทิศทางของบริษัทว่าควรไปทิศทางไหน” พันธ์ พะเนียงเวทย์ กล่าวทิ้งท้าย.