วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “กล้วยน้ำไท” งัดคอนวีเนียนคลินิก ผุดพรึบ เจาะบัตรทอง-ประกัน

“กล้วยน้ำไท” งัดคอนวีเนียนคลินิก ผุดพรึบ เจาะบัตรทอง-ประกัน

โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ยุค “ศรัณยู ชเนศร์” เจเนอเรชันที่ 2 เร่งขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ Health Care 4.0 หลัง พูลชัย ชเนศร์ ผู้เป็นพ่อส่งมอบอาณาจักรธุรกิจมากกว่าสิบบริษัท โดยเฉพาะเกมรุกขยายคลินิกโครงข่ายกระจายทั่วกรุงเทพฯ ภายใต้นิยาม Convenience Health Care Clinic เพื่อยึดฐานตลาดคนเมืองให้อยู่หมั

ล่าสุด โครงข่ายคลินิกกล้วยน้ำไทเปิดให้บริการแล้ว 29 สาขาในเขตกรุงเทพฯ ใช้ 3 แบรนด์หลัก คือ คลินิกเวชกรรมกล้วยน้ำไท เคคลินิกเวชกรรม และเคสหคลินิก โดยเน้น 3 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มใช้สิทธิ์บัตรทอง สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์ประกันสุขภาพ

จุดขายสำคัญ คือบริการครบวงจรเหมือนโรงพยาบาล ตั้งแต่การตรวจรักษาโรคทั่วไป ตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจก่อนเข้าทำงาน ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ (Health Counseling Service) ให้คำปรึกษาด้านการใช้ยา ห้องทำหัตถการ (Treatment room) เอกซเรย์ (X-Ray) ห้อง LAB บริการให้คำปรึกษาผ่าน VDO Call มีแพทย์เฉพาะทาง สาขาอายุรกรรม หู คอ จมูก สูติ-นรีเวช รังสีแพทย์ ทันตแพทย์ และแพทย์แผนไทย

มีเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เครื่องมือตรวจหูคอจมูก เครื่องมือกล้องส่องตรวจโพรงจมูก และเครื่องมืออัลตราซาวนด์

ทำเลหลักๆ ของคลินิกเน้นปักหมุดในเขตชุมชนหนาแน่น ชุมชนเกิดใหม่ เน้นติดถนนใหญ่ เพื่อสร้างการรับรู้ หรืออยู่ในอาคารสำนักงานและศูนย์การค้า เช่น เคสหคลินิก อาคารอโศก ทาวเวอร์ส ย่านสุขุมวิท เคคลินิกเวชกรรมสาขาอ่อนนุช คลินิกเวชกรรมกล้วยน้ำไท สาขาสวนเพลิน คลินิกเวชกรรมกล้วยน้ำไท สาขาเพลินจิต คลินิกเวชกรรมกล้วยน้ำไท สาขาตลาดมหาสิน เคคลินิกเวชกรรม สาขาราม2 คลินิกเวชกรรมกล้วยน้ำไท สาขานิคมลาดกระบัง คลินิกเวชกรรมกล้วยน้ำไท สาขาสวนสยาม คลินิกเวชกรรมกล้วยน้ำไท สาขาสุทธิสาร

วันเวลาทำการหลัก ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ เริ่ม 08.00-18.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เริ่มเวลา 09.00-12.00 น. ในกรณีไม่ใช่สิทธิ์บัตรทอง บัตรประกันสังคมและบัตรประกันสุขภาพ ค่าบริการบวกค่าแพทย์เริ่มต้นที่ 250 บาท

ทั้งนี้ การเปิดเกมรุกของกลุ่มโรงพยาบาลกล้วยน้ำไททำให้ย้อนนึกถึงกรณีบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ประกาศสยายปีกเจาะทุกชุมชนทั่วประเทศเมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งเป้าหมายของมหาเศรษฐีไทย นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ไม่ใช่แค่การเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ต้องเป็นที่ 1 ในตลาดเอเชียแปซิฟิก เป็นยุทธศาสตร์โค่นล้มและสกัดคู่แข่งยักษ์ใหญ่สายพันธุ์มาเลเซีย ที่พยายามเจาะฐานประเทศไทยและประเทศอื่นๆ โดยรอบ เพื่อยึดตลาดอาเซียนในเวลานั้น

แผนของ BDMS ต้องการเปิด “คลินิกชุมชน” เป็นหน้าด่านแผนก OPD หรือ Out Patient Department เพื่อเปิดช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และจะกลายเป็นลูกค้าประจำของโรงพยาบาลแยกตามระดับกำลังซื้อ ซึ่ง BDMS มีเครือข่ายครบทุกระดับการรักษาพยาบาลและทุกกลุ่มตลาด ตั้งแต่ระดับซูเปอร์พรีเมียม ระดับพรีเมียม และระดับแมส

กระบวนการขยายฐานลูกค้ามี 5 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ตติยภูมิ (Top Tertiary Care Hospital) เป็นโรงพยาบาลระดับท็อป ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่

ระดับที่ 2 ศูนย์ตติยภูมิ (Tertiary Hub) ได้แก่ โรงพยาบาลสมิติเวช พญาไท 2 กรุงเทพพัทยา ภูเก็ต นครราชสีมา และเชียงใหม่

ระดับที่ 3 ตติยภูมิธรรมดา ได้แก่ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช

ระดับที่ 4 ทุติยภูมิ หรือโรงพยาบาลระดับกลาง ได้แก่ โรงพยาบาลเปาโล กรุงเทพพระประแดง โรงพยาบาลจอมเทียน จ.ชลบุรี และระดับที่ 5 ขั้นปฐมภูมิ (Primary) หรือคลินิกชุมชน ซึ่ง BDMS พุ่งเป้าขยายไปยังชุมชน หัวเมือง จังหวัดใหญ่ มากกว่า 100 แห่ง และแยกใช้แบรนด์ตามโรงพยาบาลแม่ในกลุ่ม

เช่น คลินิกชุมชนของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ใช้ชื่อว่า B+TELECARE Clinic (บีพลัส เทเลแคร์คลินิก) กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชใช้ชื่อว่า “สมิติเวช คลินิกเวชกรรม” เช่น สาขาเมืองทองธานี สาขาแจ้งวัฒนะ สาขาอมอรินี รามอินทรา สาขาลาซาล สาขาสนามบินสุวรรณภูมิ สาขาอีสเทิร์นซีบอร์ด สาขาชลบุรี สาขาแหลมฉบัง และสาขาเครือสหพัฒน์ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ใช้ชื่อว่า “พญาไท คลินิกเวชกรรม” อยู่ที่บ่อวินและศรีราชา

เหตุผลที่ BDMS พยายามผลักดันแนวคิดการขยายคลินิกชุมชน เนื่องจากการเปิดคลินิกมีต้นทุนการบริหารต่ำกว่าต้นทุนของโรงพยาบาล ประมาณ 20 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งทำให้ยอดค่าบริการต่ำกว่าและในข้อเท็จจริงการรักษาโรคกว่า 70-80% เป็นอาการพื้นฐาน ปวดหัว ตัวร้อน ท้องเสีย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล แต่คลินิกที่มีอยู่ในตลาดทั่วไปยังขาดจุดแข็งเรื่องคุณภาพ ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเพื่อมาโรงพยาบาล ทั้งค่าบริการ ค่าแพทย์ ค่ายา ที่คิดตามมาตรฐานโรงพยาบาล

การเปิดคลินิกชุมชนที่มีจุดแข็งด้านมาตรฐานและแบรนด์เป็นที่ยอมรับจึงน่าจะเป็นกลยุทธ์เจาะตลาดที่มีช่องว่างอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน ชนชั้นกลางที่ต้องการบริการที่ได้มาตรฐานมากกว่าคลินิกทั่วไปในราคาที่ถูกกว่าโรงพยาบาล หรือเฉลี่ยประมาณ 1,000 บาทต่อคน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกลยุทธ์คลินิกชุมชนของ BDMS ไปไม่ถึงฝันและเหลือเปิดบริการเพียงไม่กี่แห่งด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายรอบ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ใช้สิทธิ์สวัสดิการของรัฐมากกว่าการยอมจ่ายเพื่อแลกมาตรฐานการรักษาพยาบาลระดับพรีเมียม

ขณะที่หากประเมินภาพธุรกิจโรงพยาบาลล่าสุด Krungthai COMPASS สรุปตัวเลขการเติบโตในปี 2565 ขยายตัวต่อเนื่อง 42.5%YoY หลังจากปี 2564 ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้ 32.3%YoY โดยได้รับอานิสงส์จากการรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และความต้องการรักษาโรคที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 และการเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2565 ส่งผลดีต่อรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติสูงอย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สมิติเวช และ BDMS นั่นทำให้ BDMS เลือกรุกตลาดพรีเมียมและชาวต่างชาติหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว

แต่ในแง่กลุ่มลูกค้าคนไทยที่ยังหนีไม่พ้นพิษกำลังซื้อหดตัว ยังคงต้องเลือกใช้สวัสดิการของรัฐเป็นหลัก ซึ่งเข้าล็อกยุทธศาสตร์ Convenience Health Care Clinic เน้นดึงผู้ใช้สิทธิ์เปลี่ยนจากโรงพยาบาลสิทธิ์เดิมมาใช้คลินิกชุมชนของกล้วยน้ำไท

แผนขั้นต่อไปจึงอยู่ที่การเร่งกระจายโครงข่ายคลินิกในทุกชุมชนทั่วกรุงเทพฯ และอาศัยจุดแข็งด้านบริการครบวงจรมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลเป็นแม็กเน็ตเหนือกว่าคลินิกเวชกรรมที่ยังไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด.