การเปิดประเทศของจีนเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ ทั้งในแง่การท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทยก็ได้รับอานิสงส์ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ การค้าการลงทุน
ศูนย์วิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจจากสถาบันต่างๆ ล้วนประเมินและคาดการณ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดประเทศของจีน ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน แม้ว่าภาคการส่งออกปีที่ผ่านมาจะชะลอตัวลงไปบ้าง
ขณะที่ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ประจำปี 2565 ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยออกมา น่าจะเป็นสิ่งสะท้อนแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี ข้อมูลระบุว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัทจัดตั้งใหม่ ทั่วประเทศ 76,488 ราย เพิ่มขึ้น 3,530 ราย หรือเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์
อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ ที่จะเป็นการชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดคือ มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 429,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท หรือ 87.04 เปอร์เซ็นต์ โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 7,061 ราย รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,833 ราย และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 3,014 ราย
นอกจากนี้ อีกหนึ่งธุรกิจมีกระแสขาขึ้นอยู่ไม่น้อย และเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งในปี 2566 คือ ธุรกิจอีเวนต์ แม้ว่าธุรกิจอีเวนต์ เทรดแฟร์ คอนเสิร์ต จะเริ่มส่งสัญญาณบวกนับตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา เห็นได้จากการการเปิดอย่างเป็นทางการของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ปิดปรับปรุงเป็นเวลา 3 ปี และเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 บรรยากาศความคึกคักของงานแฟร์ งานอีเวนต์ต่างๆ เริ่มปรากฏชัดขึ้น
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเคยจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่งในปี 2566 โดยพิจารณาจากยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน ความต้องการของผู้บริโภคและกระแสนิยม โดยปัจจัยบวกในปี 2566 มาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะแรงหนุนเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวจีน จากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด รวมทั้งการเลือกตั้งในปี 2566 หนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งปี 2566 คือ ธุรกิจงานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้า ธุรกิจอีเวนต์
ล่าสุด บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI ในฐานะผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ระดับภูมิภาค เล็งเห็นว่าธุรกิจอีเวนต์ในปี 2566 จะสร้างอัตราการเติบโตของบริษัทได้ และหนึ่งในแผนงานที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้บริษัท คือการต่อยอดการเป็นผู้จัดการด้านยานยนต์ระดับภูมิภาค สู่การเป็นผู้จัดงานอีเวนต์รูปแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
งานสถาปนิก’66 ที่จะถูกจัดขึ้นช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ นับเป็นอีกหนึ่งอีเวนต์ใหญ่แห่งปี เป็นมหกรรมจัดแสดงสินค้าและนวัตกรรม ถ่ายทอดแนวคิดและสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบและก่อสร้าง โดยความร่วมมือของ 5 องค์กรวิชาชีพ ทั้งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และสภาสถาปนิก
นอกจากผู้แสดงสินค้าที่เป็นบริษัทชั้นนำของไทยแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ เช่น ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และจีน
ศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะออแกไนเซอร์ผู้จัดงาน กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า ปีนี้คาดว่าจะกลับมาจัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่เต็มพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นถึง 33.3 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2565 เทียบเท่าก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และการเปิดประเทศของจีนและประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมจัดแสดงสินค้ามีความมั่นใจและตัดสินใจเพิ่มพื้นที่ในการออกบูธ
“การที่ไทยเป็น Travel Destination ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ การท่องเที่ยว การบริการ การลงทุนภาคเอกชน และงานสถาปนิกปีนี้ผู้จัดแสดงที่มาจากต่างประเทศทั้งหมด 15 เปอร์เซ็นต์มาจากจีน ต้องบอกว่าปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับงานก่อสร้างของจีนพัฒนาไปได้ค่อนข้างเร็วและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาทำตลาดในไทยส่วนใหญ่คือ รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน”
“หากมองในด้านเศรษฐกิจของจีน มีอัตราการขยายตัวในระดับที่ค่อนข้างดี หากเปรียบเทียบกับยุโรป ซึ่งในงานสถาปนิกผู้จัดแสดงสินค้าจากยุโรปยังไม่กลับมาเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาด้านภาวะเศรษฐกิจ”
โดยผู้จัดงานคาดว่าตลอดระยะเวลา 6 วันของงานสถาปนิก’66 จะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 300,000 คน เพิ่มจากปี 2565 ที่มีผู้เข้าร่วมงาน 250,000 คน และคาดว่าผู้เข้าร่วมชมงานจากต่างประเทศที่เคยมีสัดส่วน 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมชมงานทั้งหมดในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิดจะกลับเข้ามาร่วมชมงาน
ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดจากยอดการสั่งซื้อสินค้าที่นำมาจัดแสดงในงานตามมาภายหลังจากจัดงานสูงถึง 22,000 ล้านบาท นับว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด แน่นอนว่า นี่จะเป็นอีกหนึ่งอิทธิพลจากการเปิดประเทศของจีน หลายฝ่ายคาดว่า จะมีกำลังซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยแนวตั้ง น่าจะมียอดจองหรือสั่งซื้อตามมาอีกจำนวนไม่น้อย
ทั้งมุมมองจาก ศุภแมน มรรคา ผู้จัดงานสถาปนิก ต่อการเปิดประเทศของจีน และการประเมินภาพรวมของสถาบันการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างๆ ที่สอดคล้องกัน ชี้ให้เห็นว่า ไทยไม่ใช่แค่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของจีนเท่านั้น เมื่อผู้ประกอบการจากจีนมักจะตอบรับ และเลือกไทยเป็นเป้าหมายทั้งในแง่ของการลงทุน การค้า และภาคอุตสาหกรรม
หากประเมินจากทิศทางความเป็นไปในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ไทยคงไม่ใช่แค่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเท่านั้นสำหรับจีน แต่ไทยยังมีอีกหลายมิติที่จีนมีความปรารถนาที่จะเข้ามาเชื่อมสัมพันธ์กับไทย ด้วยมุ่งหวังที่จะเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความใกล้ชิด ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ไทยไม่แทรกแซงกิจการภายในของจีน ภายใต้หลักการความเคารพซึ่งกันและกัน.