วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > สบู่มาดามหลุยส์ อีกหนึ่งธุรกิจของ “หลุยส์ เตชะอุบล”

สบู่มาดามหลุยส์ อีกหนึ่งธุรกิจของ “หลุยส์ เตชะอุบล”

“เตชะอุบล” เป็นอีกหนึ่งตระกูลใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงนักธุรกิจและนักลงทุนของประเทศไทย คีย์แมนคนสำคัญของตระกูลคือ “สดาวุธ เตชะอุบล” นักธุรกิจเจ้าของอาณาจักร “คันทรี่ กรุ๊ป” โฮลดิ้ง คอมปานี ที่ลงทุนในธุรกิจหลากหลายประเภท รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มูลค่านับหมื่นล้าน

คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้ง มีบริษัทในเครืออย่างบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) บริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ครบวงจรชั้นนำของประเทศไทย, บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC บริษัทจัดการกองทุนแห่งแรกของประเทศไทย, บริษัท คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัลและบริษัทจัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกภายใต้บริษัทลูก “Elkrem Capital”

รวมไปถึงบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ที่รีแบรนด์มาจากบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ PDI เน้นลงทุนในธุรกิจโรงแรมและบริการ โดยโฟกัสที่โรงแรมระดับ upscale จนถึง ultra-luxury อย่างโรงแรมโฟว์ซีซันและ “Capella Hotels” โรงแรมระดับ 6 ดาวจากตะวันออกกลาง ที่ตั้งอยู่บนที่ดินขององค์การสะพานปลา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

สดาวุธมีบุตรทั้งสิ้น 4 คน ประกอบด้วย บี เบน หลุยส์ และทอมมี่ เตชะอุบล และถ้าจะบอกว่าทายาทของสดาวุธล้วนแต่เป็น “ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้น” ก็ไม่ผิดนัก เพราะลูกๆ ทั้ง 4 เจริญรอยตามความเป็นนักธุรกิจอย่างผู้เป็นพ่อทุกคน โดยบุตรชายทั้งสาม บี เบน และทอมมี่ รับหน้าที่สานต่อธุรกิจของครอบครัว ในขณะที่บุตรสาวเพียงคนเดียวอย่าง “หลุยส์ เตชะอุบล” เลือกเส้นทางธุรกิจในแบบฉบับของตัวเธอเอง

“บี เตชะอุบล” ทายาทคนโตที่นอกจากจะสานต่อธุรกิจของครอบครัวแล้ว เขายังเคยสร้างทอล์กออฟเดอะทาวน์ ในฐานะนักธุรกิจชาวไทยที่ทุ่มเงินกว่าหมื่นล้าน เพื่อเทกโอเวอร์สโมสรฟุตบอลระดับโลกแห่งลีกอิตาลีอย่างเอซี มิลาน ในช่วงปี 2558 อีกด้วย

“เบน เตชะอุบล” ลูกชายคนที่ 2 นั่งในตำแหน่งกรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ควบตำแหน่งกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

น้องสุดท้องอย่างทอมมี่ รั้งตำแหน่งกรรมการบริษัท, ประธานคณะกรรมการบริหาร, ประธานคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน และกรรมการบริหารความเสี่ยง ในบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

ส่วน “หลุยส์ เตชะอุบล” บุตรคนที่ 3 และเป็นบุตรสาวเพียงคนเดียวของสดาวุธ ได้แยกออกไปทำธุรกิจของตนเอง และกำลังกลายเป็นนักลงทุนและนักธุรกิจสาวแห่งตระกูลเตชะอุบลที่น่าจับตามอง ซึ่ง “ผู้จัดการ 360 องศา” จะพาไปรู้จักเส้นทางธุรกิจของเธอ

หลุยส์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีพาณิชยศาสตร์ ด้านการเงินและระบบสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจและการเงิน จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แหล่งสร้างคอนเน็กชันทางธุรกิจชั้นดี ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเส้นทางการศึกษาที่ผู้เป็นบิดาอย่างสดาวุธได้ขีดเส้นไว้ให้กับบุตรทุกคน

หลังสำเร็จการศึกษา ด้วยความที่ชอบเรื่องตัวเลขและการลงทุนทำให้เธอเริ่มทำงานด้วยการเป็นโบรกเกอร์ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ระยะหนึ่ง จึงเข้าไปช่วยธุรกิจครอบครัวโดยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อยู่อีกราวๆ 4-5 ปี ก่อนที่จะออกมาลงทุนส่วนตัวโดยการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TRITON) ซึ่งในระยะแรกหลุยส์เข้าไปซื้อหุ้นของไทรทันในอัตราส่วนเพียง 40% ก่อนที่เพิ่มเป็น 100% จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ไทรทัน โฮลดิ้ง เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจด้านการวางระบบรางและระบบรถไฟ มีบริษัทย่อยคือบริษัท ไทรทัน เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (TTEC) ผู้นำในการวางโครงสร้างระบบท่อ การวางท่อใต้ดิน และการขุดเจาะในแนวราบโดยไม่เปิดหน้าดิน และเป็นผู้บุกเบิกในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ และวิศวกวรรมการผลิตพลังงานจากของเสีย การก่อสร้างระบบราง และระบบรถไฟ การก่อสร้างทางรถไฟ การจ่ายพลังงาน ระบบอาณัติสัญญาณและระบบการสื่อสาร

“ไทรทันไม่ใช่บริษัทก่อสร้างทั่วไป แต่เป็นการก่อสร้างเฉพาะทาง หรือ Specialize Engineering อย่างท่อน้ำมัน การขุดเจาะใต้ดิน ท่อน้ำ ไฟ ซึ่งส่วนใหญ่เรารับงานจากรัฐวิสาหกิจและโครงการของรัฐบาล มันเป็นธุรกิจที่มี Profit Margin สูงกว่างานก่อสร้างทั่วไป”

ที่ผ่านมาไทรทันถือเป็นผู้นำในการขุดเจาะแนวราบแบบไม่เปิดหน้าดิน และยังได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างมากมาย เช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟรางคู่ (SRT Double Track Railway) ทั้งหมด 6 สะพาน ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงจังหวัดชุมพร รวมถึงโปรเจกต์ยักษ์อย่างการวางท่อน้ำมันที่ยาวที่สุดในเมืองไทยกว่า 600 กิโลเมตร จากบางปะอินขึ้นไปจนถึงลำปาง ด้วยการเซ็นสัญญากับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บาฟส์” ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี มูลค่าโครงการ 3,300 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการเฟส 1 และ 2 เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังจะเริ่มเฟส 3 ต่อไป

“หลุยส์ว่าสิ่งที่เราสร้างมันไม่ใช่แค่ท่อส่งน้ำมัน แต่มันช่วยพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นได้ มันช่วยลดปริมาณรถที่ต้องขนน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน และช่วยลดการใช้พลังงานในระยะยาว”

นอกจากเข้าไปลงทุนและบริหารงานในไทรทันแล้ว หลุยส์ยังได้เข้าไปลงทุนและบริหารงานในบริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจอาหาร และบรรจุภัณฑ์ ทั้งอาหารแปรรูปแช่แข็ง ผลไม้อบแห้ง อาหารทะเลแช่แข็งส่งออก และผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน “อีซี่โก” (EZYGO) อีกด้วย

“สิ่งสำคัญของการลงทุนและการทำธุรกิจคือ ธุรกิจนั้นต้องอยู่ในอินดัสทรีที่มีอนาคต” หลุยส์แชร์มุมมองในการลงทุนของเธอ

ส่งสบู่มาดามหลุยส์กรุยทางตลาด Personal Care

ล่าสุดนักธุรกิจสาวแกร่งแห่งบ้านเตชะอุบลยังขยายธุรกิจต่อไปอีกขั้น โดยรุกเข้าสู่ตลาด Personal Care ด้วยการเปิดตัว “สบู่มาดามหลุยส์” สบู่ก้อนพรีเมียมที่มีจุดขายคือใช้ส่วนประกอบที่เป็นธรรมชาติและไม่ทำลายผิว โดยเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อกลางปี 2565 ก่อนที่จะทยอยเปิดตัวสูตรอื่นๆ ออกมาเป็นระยะ พร้อมตั้งเป้าสร้างรายได้ 1,000 ล้านบาท และขึ้นเป็น Top 3 ภายใน 3 ปี

“ในบริษัทอาหารเราเก่งเรื่อง Distribution ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ทำอย่างไรถึงจะมีผลิตภัณฑ์ที่มันหลากหลายขึ้น ตอนแรกเรามองที่สบู่เหลวก่อน แต่สบู่เหลวมักมีสารกันบูดเพราะมีส่วนประกอบของน้ำอยู่ข้างใน ซึ่งสารกันบูดรวมถึงสารตีฟองนี่เองที่สร้างความระคายเคืองให้กับผิว และในระยะยาวเป็นสารที่ก่อมะเร็งได้ มันสะอาดจริงแต่มันทำลายผิว”

“อีกอย่างหลุยส์เป็นคนแพ้ง่าย ตอนแรกก็ใช้สบู่ออแกนิกจากต่างประเทศ เมืองไทยไม่ค่อยมี ถึงมีก็แพงมาก จริงอยู่ที่ในตลาดมีผลิตภัณฑ์สบู่เยอะ แต่เราหาสบู่ที่มีคุณภาพดี ไม่มีสารเคมีไม่ค่อยได้ มันไม่โอเคที่จะให้คนในครอบครัวใช้ เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราต้องทำสบู่ที่มีส่วนผสมที่ดี ไม่อันตราย ไม่ทำลายผิวออกมา และใช้ได้ทั้งตัว เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกสบู่ที่มีคุณภาพใช้ในราคาที่จับต้องได้ เพราะหลุยส์เชื่อว่าเราไม่ควรต้องใช้เงินเยอะกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด” หลุยส์เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของสบู่มาดามหลุยส์

สบู่ก้อนของมาดามหลุยส์ สบู่พรีเมียมในราคาที่จับต้องได้

สบู่มาดามหลุยส์เปิดตัวครั้งแรกเมื่อกลางปี 2565 เป็นสบู่ก้อนพรีเมียมที่มีจุดเด่นคือเป็นสบู่กลีเซอรีนแท้ 100% ผสมสารสกัดจากพืชและสมุนไพรธรรมชาติ ใช้ได้ทั้งผิวหน้าและผิวกาย ที่ได้ทั้งทำความสะอาดและบำรุงผิวไปพร้อมๆ กัน และยังใช้ได้ทุกเพศทุกวัย

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมถึงชื่อสบู่มาดามหลุยส์นั้น เธอเปิดเผยถึงที่มาของชื่อว่า “ทำไมถึงชื่อสบู่มาดามหลุยส์เหรอคะ ชื่อนี้มาจากป้าตือ ‘สมบัษร ถิระสาโรช’ ค่ะ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งด้วย ตอนแรกเราก็คิดกันหลายชื่อ ทั้งชื่อฝรั่ง ชื่อไทย สุดท้ายป้าตือบอกให้ชื่อสบู่ มาดามหลุยส์นี่แหละ เพราะแกมั่นใจว่ามันขายได้ เหมือนชื่อเราการันตีคุณภาพสินค้าไปในตัวอยู่แล้ว”

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สบู่มาดามหลุยส์มีทั้งสิ้น 5 สูตร ได้แก่ ไบร์ทตามิน สูตรสีส้ม มีวิตามิน C&E ช่วยลดผิวหมองคล้ำ สิว และอันตรายจากรังสียูวี, เอ็กตรีมไวท์ สูตรสีขาว, เคลียร์ แอนด์ ดีเฟนด์ สูตรสีเขียวที่ช่วยลดแบคทีเรียและระงับกลิ่นกาย, เอจดีไฟน์ สูตรสีทองที่มีส่วนผสมของทองคำแท้ และล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ โรส ไดมอนด์ สูตรสีชมพู ซึ่งมีส่วนผสมของสเต็มเซลล์จากดอกกุหลาบและสารสกัดจากเพชร

โดยราคาขายสำหรับก้อนเล็กขนาด 80 กรัม อยู่ที่ 48 บาท ขนาด 120 กรัม ราคา 240-380 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับท้องตลาด โดยมี ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์ เป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของแบรนด์ ซึ่งหลุยส์เปิดเผยต่อว่า สาเหตุที่สามารถทำราคาขายได้ใกล้เคียงกับตลาดทั้งที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติที่แพงกว่านั้นมาจากการใช้ทรัพยากรจากโกลบอล คอนซูเมอร์ ที่ทำเรื่องบรรจุภัณฑ์และมีทีมงานที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว และที่สำคัญบรรจุภัณฑ์ของสบู่มาดามหลุยส์ เธอยังเป็นผู้ออกแบบเองอีกด้วย

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายนั้น มีทั้งวางจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปขายยังต่างประเทศ โดยเน้นที่จีน ฮ่องกง และมาเก๊าเป็นหลัก วางขายที่ร้าน PARKnSHOP และวัตสันทั่วมาเก๊าและฮ่องกง และจำหน่ายแบบออนไลน์ใน Tmall และอาลีบาบาในจีน นอกจากนั้นในปีนี้หลุยส์จะบุกตลาดอเมริกาผ่านช่องทางอเมซอนอีกด้วย

นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อกลางปีที่ผ่านมาสบู่มาดามหลุยส์ได้รับการตอบรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างดี จากที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะขึ้นเป็น Top 3 ของตลาดสบู่สมุนไพรภายใน 3 ปี แต่จากกระแสการตอบรับที่ดีทำให้สบู่มาดามหลุยส์สามารถไต่ระดับขึ้นมาเป็น Top 3 ได้ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน เป็นรองเพียง เบนเนท และอิงอร แต่แน่นอนว่าหลุยส์ไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะเธอแง้มๆ ออกมาว่า เป้าหมายต่อไปคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Personal Care ที่หลากหลายออกสู่ท้องตลาดให้มากขึ้น

“ที่ผ่านมาผลตอบรับดี และต่อๆ ไปเราจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาเซอร์ไพรส์ตลาดอีกมาก จากตอนแรกที่บอกว่าจะทำสบู่ครอบครัวไม่เห็นด้วยเลย เพราะเขารู้ว่าเราทำงานเยอะอยู่แล้ว และดูเหมือนสเกลมันเล็ก แต่สำหรับเราคือใจรัก ต้องทำให้ได้ ก็มันยังไม่มีสบู่อย่างนี้ในตลาด ทำไมเราถึงไม่ทำ แล้วคนจะใช้อะไร พอทำออกมาปรากฏว่าออกมาดีทั้งตัวผลิตภัณฑ์และผลตอบรับ ตอนนี้ทุกคนก็แฮปปี้”

สำหรับภาพรวมของตลาดสบู่ พบว่าปัจจุบันตลาดสบู่มีมูลค่ารวมอยู่ 16,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสบู่ก้อนมูลค่า 8,000 ล้านบาท และสบู่เหลว 8,000 ล้านบาท โดยที่สบู่สมุนไพรคิดเป็นสัดส่วน 50% ของตลาดสบู่ก้อน หรือมีมูลค่า 4,000 ล้านบาท และมีการเติบโตถึง 40% ซึ่งหลุยส์บอกว่าตลาดสบู่ก้อนมันไม่เล็กอย่างแน่นอน

กับคำถามสุดท้ายที่ว่าในบรรดาธุรกิจต่างๆ ที่ทำมา อะไรคือสิ่งที่เธอชอบที่สุด
“ชอบทุกอย่าง ทั้งงานก่อสร้างมันเป็นงานที่ท้าทาย และมากไปกว่านั้นคือมันเป็นงานที่ทำให้ประเทศพัฒนาขึ้น ดีขึ้น ถ้าเรามีบริษัทก่อสร้างที่ซื่อสัตย์ ไม่โกง ตรงไปตรงมาเยอะๆ กว่านี้ ประเทศจะดีขึ้น ทุกอย่างที่หลุยส์ทำเรายึดตามหลักนี้ เน้นคุณภาพ ทำไปทำไม จะสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมได้อย่างไร คนจะได้อะไร ไม่ได้คิดแค่เรื่องกำไรขาดทุน ถ้าให้หลุยส์ไปสร้างอะไรที่ไร้สาระหลุยส์ก็ไม่ทำ” หลุยส์ นักธุรกิจสาวแกร่งแห่งบ้านเตชะอุบลกล่าวทิ้งท้าย.