วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > แบรนด์เนมมือสองโตพรวดๆ ลุ้น Hub Center ตามรอยญี่ปุ่น

แบรนด์เนมมือสองโตพรวดๆ ลุ้น Hub Center ตามรอยญี่ปุ่น

ว่ากันว่า เคยมีการคาดการณ์ตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสอง (Pre-owned luxury) ในตลาดโลก มีมูลค่ามากกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.7 แสนล้านบาท เฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องหนังและเสื้อผ้ามือสองมีมูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท
ยิ่งเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และอาจเจอวิกฤตอีกหลายรอบ ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังระดับโลกหลายค่ายไม่ได้พุ่งกระฉูดเหมือนก่อน แม้มีความพยายามเจาะตลาดประเทศใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งการเปิดชอปและการส่งสินค้าจำหน่ายผ่านเอาต์เล็ตระดับโลก เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าหันไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองมากขึ้น อัตราเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์
เพราะไม่ใช่แค่ประหยัดเงินชอปปิ้ง ได้ใช้สินค้าแบรนด์เนมหรูๆ ง่ายขึ้น หลากหลายขึ้น เบื่อก็ซื้อชิ้นใหม่ได้ และยังเป็นช่องทางการลงทุน นำกลับมาขายต่อได้ หรือลงทุนซื้อมือหนึ่งเก็บไว้ เพื่อรอปล่อยขายเมื่อบริษัทเจ้าของแบรนด์เนมลดราคาทุกต้นปีและทุกกลางปี อย่างน้อย 2 ครั้ง ชนิดที่ว่า เก็บแพ็กไว้ไม่เกิน 6 เดือน ฟันกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 15% โดยเฉพาะกระเป๋าถือแบรนด์ดังสัญชาติฝรั่งเศสอย่างแอร์เมส (Hermes) ถือเป็นสินค้ายอดฮิตมากที่สุด
สำหรับประเทศไทยเคยมีการคาดกันว่า ตลาดรวมผลิตภัณฑ์ลักชัวรีแบรนด์มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท และตลาดสินค้าแบรนด์หรูมือสองมีการซื้อขายสินค้าผ่านช็อป (Official Shop) ถึง 10-20% ไม่รวมตลาดในช่องทางออนไลน์และการซื้อขายกันเองอีกจำนวนมาก ซึ่งทุกช่องทางล้วนมีแนวโน้มขยายตัวอีกยาวๆ
ศุภาณัท จรูญพรภักดี นายกสมาคมแบรนด์เนมมือสองแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า ก่อนสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด 4-5 ปี มูลค่าตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็นหลักหลายหมื่นล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดเร็วมาก สินค้าแบรนด์เนมหายากมากขึ้นและกลายเป็นสินค้าน่าลงทุน
“อย่างกระเป๋ามือหนึ่งชาแนล (CHANEL) เราซื้อเก็บสะสม เดี๋ยวชาแนลขึ้นราคาต้นปีและกลางปี สินค้าที่เราซื้อทำกำไรแล้ว ชาแนลขึ้นราคาทุกปี อย่างน้อย 2 ครั้ง บางปีขึ้น 3 ครั้ง หรือ 4 ครั้ง แม้กระทั่งในสถานการณ์โควิดยังมีการขึ้นราคา คนซื้อลงทุนมือหนึ่ง เก็บใบเสร็จได้ 6 เดือน ยังถือเป็นของใหม่ ไม่ใช้เลยนะ เอามาขายได้กำไรแล้ว แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์ ซึ่งทุกคนจะทราบ ลงทุนชาแนลได้ แอร์เมส (Hermes) และไม่ใช่ทุกรุ่น หลุยส์วิตตอง (LOUIS VUITTON) บางรุ่นอาจจะได้ แอร์เมสบางรุ่นได้ เช่น รุ่นคลาสสิก”
ขณะเดียวกัน แม้เศรษฐกิจย่ำแย่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ตลาดแบรนด์เนมมือสองยังเติบโตได้ เพราะลูกค้ามีการหมุนเวียนปล่อยขายสินค้า อยากเปลี่ยนเป็นเงิน และแบรนด์เนมมือสองไม่เน่าเสีย คนซื้อมาเก็บไว้ เมื่อเศรษฐกิจฟุบสามารถเอาออกมาขายต่อได้และแทนที่ลูกค้าใช้เงินซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือหนึ่ง ประหยัดลงซื้อสินค้าแบรนด์มือสอง หรือซื้อแบบลงทุนและใช้ได้ด้วย
“แบรนด์เนมมือสอง ทั้งลงทุนได้ ใช้เอง ขายเอง หรือฝากตึ๊งที่โรงรับจำนำ คนเอามาซ่อมสปาก่อนแล้วค่อยปล่อยขาย สินค้าแบรนด์เนมจึงเป็นที่นิยม แปรสภาพได้หลายอย่าง ง่ายกว่าพวกบ้านหรือรถด้วยซ้ำไป แปรเป็นเงินง่ายขึ้น”
สำหรับกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน นักเรียนนักศึกษา คนทำงาน กลุ่มลงทุน พ่อค้าแม่ค้า ขณะที่กลุ่มฟอกเงินมักซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือหนึ่ง เพราะสามารถฟอกได้มูลค่าสูง
ศุภาณัทย้ำว่า  ตลาดสินค้าแบรนด์มือสองในไทยมีศักยภาพขยายฐานเป็น Hub Center Secondhand Brandname เหมือนในประเทศญี่ปุ่นและฮ่องกง เพราะมีอัตราเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะคนไทยเล่นสินค้าแบรนด์เนมมือสองเพิ่มขึ้นมาก กระทั่งสินค้าปลอมลดน้อยลงไปมาก และคาดการณ์อีก 5-10 ปีจะก้าวขึ้นเป็นฮับเซ็นเตอร์เหมือนญี่ปุ่น เพราะปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม หันมาซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองในประเทศไทยจำนวนมากและมีตลาดในเกือบทุกจังหวัด เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ภูเก็ต ทุกที่มีร้านและตลาดรองรับ
แม้กระทั่งคนไทยที่เคยนิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่ญี่ปุ่นเพื่อเป็นของขวัญของฝาก หันมาซื้อกับร้านค้าในไทยมากขึ้น เพราะมีให้เลือกมากและร้านค้ามีการลงทะเบียนรับรองมาตรฐานกับสมาคมแบรนด์เนมมือสองแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 300 ราย
สิ่งที่สะท้อนศักยภาพที่ชัดเจน คือ การร่วมลงทุนของยักษ์ใหญ่ธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง “โคเมเฮียว (Komehyo)” จากประเทศญี่ปุ่นกับบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ เมื่อ 2 ปีก่อน และล่าสุดขยายสาขารวม 4 แห่งแล้ว เริ่มจากแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล@เซ็นทรัลเวิลด์ ตามด้วยสาขา 2 ในห้างเซ็นทรัลบางนา สาขา 3 ในศูนย์การค้า เทอร์มินอล 21 พระราม 3 และล่าสุดที่เจพาร์ค ศรีราชา นิฮอน มูระ New Town Zone ซึ่งหลังจากนี้ยังวางแผนเปิดสาขาเพิ่มทุกปีด้วย
หากพูดถึงตลาดธุรกิจสินค้าแบรนด์เนมมือสองในประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่ามากกว่า 1.77 ล้านเยน อัตราเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี และมีผู้เล่นหลักๆ แข่งขันกัน 10 กว่าราย เช่น นัมโบยะ ไดโกกุยะ จินโซ่ ซึ่งโคเมเฮียวเป็นยักษ์ใหญ่ มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดและรุกขยายสาขาครอบคลุมภูมิภาคใหญ่ๆ อย่างคันโต คันไซ จูบุ และในเมืองใหญ่ๆ เช่น โตเกียว โอซากา โดยมีสาขาใหญ่อยู่ที่เมืองนาโกยา เปิดจำหน่ายทั้งสินค้ามือหนึ่งและมือสอง เช่น เครื่องประดับ นาฬิกา กระเป๋า และเสื้อผ้า
เส้นทางธุรกิจแบรนด์เนมมือสองและการเติบโตของโคเมเฮียวในประเทศญี่ปุ่นดูเหมือนกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย แถมมีปัจจัยหนุนเรื่องความนิยมในกลุ่มนักช้อปไทยและแบรนด์เนมถือเป็นช่องทางการลงทุนที่สามารถสร้างรายได้อย่างสวยงาม
โคเมเฮียวมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นร้านขายกิโมโนมือสองในเมืองนาโกยาของครอบครัวอิชิฮาระ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1947 เริ่มต้นจากห้องเสื้อผ้าเก่าเล็กๆ ขนาดเพียง 5 เสื่อ หรือประมาณ 16.5 ตารางเมตร
ในช่วงนั้นความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นดีขึ้น จึงมีกำลังซื้อและต้องการหาซื้อสิ่งของ เพื่อยกระดับความพึงพอใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ร้านโคเมเฮียวจึงจัดหาเพิ่มสินค้าหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะพวกเครื่องประดับ นาฬิกา กล้องถ่ายรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า
แต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 1990 ลูกค้าประจำของร้านโคเมเฮียวจำเป็นต้องขายสินค้าแบรนด์เนมที่มีอยู่ เพื่อช่วยบรรเทาสภาพทางเศรษฐกิจในครัวเรือน
ครอบครัวอิชิฮาระจึงตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองตั้งแต่นั้นมา เพื่อช่วยเหลือลูกค้าจนกลายเป็นปรัชญาการดำเนินธุรกิจในฐานะตัวกลางส่งผ่านสินค้าตามแนวคิด “Relay Use” ส่งต่อสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไปให้กับบุคคลอื่นที่ยังต้องการ เพื่อนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพทำให้สิ่งของมีประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างตลาดใหม่และรายได้เติบโตจนกลายเป็นผู้นำธุรกิจซื้อขายสินค้าแบรนด์เนม
ปี ค.ศ. 2004 โคเมเฮียวจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ถือเป็นธุรกิจขายสินค้ามือสองแห่งแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
นอกจากโคเมเฮียวที่เข้ามาบุกตลาดไทยแล้ว ยังมี Hard Off เชนร้านสินค้ามือสองรายใหญ่จากญี่ปุ่นเข้ามาตั้งบริษัท MOTTAINAI WORLD (THAILAND) เพื่อดูแลกิจการร้าน Hard Off ในประเทศไทย ซึ่ง ฮาร์ด ออฟ กรุ๊ป เป็นอีกหนึ่งยักษ์ธุรกิจสินค้ามือสองรายใหญ่ของญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2515
ในเครือประกอบด้วยร้านสินค้ามือสองหลายแบรนด์ มีสาขารวมกว่า 900 สาขา รับซื้อ/ขายสินค้าในกลุ่มต่างๆ กัน เช่น Hobby Off สำหรับสินค้าของสะสม, Garage OFF ร้านอุปกรณ์รถยนต์-จักรยาน, OFF HOUSE ร้านรับซื้อขายเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, MODE OFF ร้านรับซื้อขายสินค้าแฟชั่น รองเท้า กระเป๋า, Liquor Off ร้านซื้อขายเหล้าเก่า.