ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาน้ำมันพืชทั้งไทยและทั่วโลกมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันสืบเนื่องมาจากปัญหาอุปทานตึงตัวจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน การระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างอินโดนีเซีย และอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง
ปลายเดือนเมษายน 2565 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ผู้นําอินโดนีเซีย ประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเพื่อการบริโภคในประเทศและควบคุมราคาน้ำมันประกอบอาหารไม่ให้สูงเกินไปจนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของชาวอินโดนีเซีย โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เมษายน 2565
คำสั่งดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนักจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันเพราะทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง เพราะเกษตรกรเสียโอกาสจากการทำกำไรตามกลไกของตลาดในช่วงเวลานั้นที่ราคาน้ำมันปาล์มกำลังปรับตัวสูงขึ้น จนในที่สุดรัฐบาลอินโดนีเซียต้องออกมายกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
แต่ถึงกระนั้นคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียได้สร้างความกังวลต่อประเทศผู้นำเข้าและสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดน้ำมันพืชทั่วโลกอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง เนื่องจากน้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคมากที่สุด โดยมีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดน้ำมันพืชทั่วโลก อีกทั้งอินโดนีเซียยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกถึง 60% รองลงมาคือมาเลเซียที่ตามมาเป็นอันดับที่สอง
ด้านวิจัยกรุงศรีระบุว่า ปี 2564 การผลิตและการบริโภคน้ำมันปาล์มทั่วโลกมีปริมาณ 72.9 ล้านตัน และ 73.5 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 36.3% และ 36.5% ของปริมาณการผลิตและการบริโภคน้ำมันจากพืชทุกชนิดตามลำดับ แหล่งผลิตน้ำมันปาล์มที่สำคัญอยู่ในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ คือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 43.5 ล้านตัน และ 17.9 ล้านตัน ตามลำดับ ด้วยสัดส่วนรวมกัน 83.9% ของผลผลิตโลก และมีสัดส่วนส่งออกรวมกัน 89.2% ของปริมาณส่งออกน้ำมันปาล์มในตลาดโลก ในขณะที่ประเทศไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนน้อยเพียง 3.8%
ส่วนประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย สัดส่วน 17.7%, จีน 14.3% สหภาพยุโรป 13.0% และปากีสถาน 7.2% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบจากทั่วโลก เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.8% ต่อปี ขณะที่ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.8% ต่อปี โดยมีน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือสะสมอยู่ที่ 12.9 ล้านตัน ณ ปี 2564
ในอีกฟากหนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเองก็ได้สร้างผลกระทบต่อน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เพราะทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันรายใหญ่ โดยมีกำลังการผลิตรวมกันคิดเป็นสัดส่วนถึง 75% ของโลก
นับตั้งแต่ความขัดแย้งเกิดขึ้น ปริมาณน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันในตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็ว และหากสงครามยังคงยืดเยื้อต่อไป เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตสำหรับฤดูกาลต่อไปได้ เมื่อนั้นราคาของน้ำมันเมล็ดทานตะวันย่อมผันผวนอย่างแน่นอน
ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเป็นน้ำมันปรุงอาหารที่ผลิตมากที่สุดอันดับที่ 2 รองจากน้ำมันปาล์ม คาดว่าปีนี้ผลผลิตรวมจะอยู่ที่ราวๆ 59 ล้านตัน โดยมีจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุด รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา บราซิล และอาร์เจนตินา โดยในช่วงที่อินโดนีเซียมีนโยบายห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มทำให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ในส่วนของไทยเองมีการผลิตน้ำมันพืชทุกชนิดรวมกัน 6,724,411 ตัน เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก แบ่งเป็น น้ำมันปาล์มดิบ 2,474,606 ตัน น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 1,004,719 ตัน น้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ 427,314 ตัน และน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ 44,242 ตัน ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกน้ำมันปาล์ม 22,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 363%
ซึ่งจะเห็นว่าตลอดปีที่ผ่านมาตลาดน้ำมันพืชแทบทุกกลุ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันความต้องการของตลาดกลับเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
“เอกภัท เตมียเวส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ เตมียเวส กรุ๊ป และประธานกรรมการ บริษัท สวีท มีท (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันพืชเพลิน เปิดเผยถึงมุมมองที่สอดคล้องกับสถานการณ์ข้างต้นว่า ตลอดปีที่ผ่านมาทั้งตลาดและราคาน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคทั่วโลกมีการเติบโตและมีระดับราคาที่สูงขึ้นในทุกกลุ่ม
โดยปัจจัยหลักในปีนี้เกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทุกระนาบของห่วงโซ่อุปทานไปทั่วโลก ทั้งภาคการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารและการผลิตในอุตสาหกรรมน้ำมันเพื่อการบริโภค ทำให้นอกจากจะมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดความผันผวนด้านราคาอย่างมีนัยสำคัญ
ซึ่งอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้ผลกระทบโดยตรง ทั้งด้านปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศผู้ผลิตหลักอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคในช่วงเวลาดังกล่าว
ปัจจุบันตลาดน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคของประเทศไทยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น น้ำมันปาล์ม 70% และน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ 30% รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ยังเปิดเผยถึงแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มขวด 1 ลิตร ณ ตลาดกรุงเทพมหานคร ว่าราคามีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยเมื่อเทียบช่วงวันที่ 12 ธ.ค. กับวันที่ 13 ธ.ค. ปรากฏว่าราคาปรับขึ้นขวดละ 2 บาท จากขวดละ 48-50 บาท เป็นขวดละ 50-52 บาท
เอกภัทมองว่าแนวโน้มของตลาดน้ำมันบริโภคในปี 2566 จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับปี 2565 คือตลาดยังมีการเติบโตและขยายตัวได้อีกมาก อีกทั้งราคาของน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจต่างๆ รวมถึงการเติบโตของธุรกิจอาหารหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ที่มีส่วนทำให้ปริมาณการบริโภคเพิ่มมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้เล่นที่จะเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน.