วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > PATA รอทุนก้อนใหม่ “เสริมศิริมงคล” ดิ้นรีโนเวต

PATA รอทุนก้อนใหม่ “เสริมศิริมงคล” ดิ้นรีโนเวต

แม้วันนี้ พาต้า (PATA) หลุดไปจากสมรภูมิค้าปลีก แต่กลุ่มตระกูล “เสริมศิริมงคล” ผู้บุกเบิกห้างสรรพสินค้าเก่าแก่แห่งนี้ ยังยืนยันเดินหน้ากิจการและซุ่มเตรียมแผนรีโนเวตครั้งใหญ่ เพียงแค่รอจังหวะ สถานการณ์เศรษฐกิจหลังโควิดและเงินทุนก้อนใหม่ เพื่อกลับมาสู้ศึกอีกครั้ง

มีรายงานล่าสุดว่า บริษัทได้ร่างแบบการรีโนเวตขึ้นมาแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขแบบและหาคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งในส่วนห้างสรรพสินค้าพาต้าและสวนสัตว์พาต้า โดยเวลานี้เน้นรีโนเวตสวนสัตว์ให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2566 หรือประมาณช่วงเทศกาลตรุษจีน ทั้งการปรับพื้นที่ ห้องการแสดง แสงไฟต่างๆ เพื่อเพิ่มความทันสมัย

เฉพาะปีที่ผ่านมา พาต้าปิดให้บริการชั้น 6 เพื่อปรับพื้นที่รองรับเฉพาะกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน พวกงูชนิดต่างๆ และต้องการปรับคอนเซ็ปต์เน้นแนวทางการให้ความรู้มากขึ้น

ขณะที่ชั้น 7 มีการจัดโซนสัตว์ต่างๆ เพิ่มสัตว์ใหม่ๆ เช่น ม้าแคระ แพะแคระพันธุ์ปิ๊กมี่ หมูแคระ ลิงชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มสีสันและดึงดูดลูกค้ากลุ่มครอบครัวสามารถเล่นหรือเลี้ยงอาหารสัตว์เหล่านี้ได้มากขึ้น

ส่วนพวกสัตว์เดิมที่อยู่มานาน เช่น ลิงอุรังอุตัง และสัตว์อีกหลายชนิดเป็นกลุ่มที่ขยายพันธุ์จากพ่อแม่ที่อยู่มาดั้งเดิมหลายทอดแล้ว รวมถึงการดูแลกรงขนาดใหญ่ของกอริลลาเพศเมีย “บัวน้อย” ซึ่งอาศัยอยู่ในสวนสัตว์พาต้ามานานกว่า 30 ปี และยังเป็นดาวเด่นที่ทุกคนต้องมาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของกอริลลาตัวสุดท้ายในประเทศไทย

เมื่อรีโนเวตสวนสัตว์เสร็จ หลังจากนั้นจะเป็นการรีโนเวตฝั่งห้างสรรพสินค้า ซึ่งต้องรอทุนก้อนใหม่เพิ่มเข้ามาและสรุปแบบก่อน เพราะเงินทุนที่ใช้เป็นทุนก้อนเดียวกันและยังเป็นทุนของกลุ่มเจ้าของเดิม ตระกูลเสริมศิริมงคล เจเนอเรชันที่ 2 ไม่ใช่ทุนอื่นอย่างที่ถูกปลุกกระแสว่า มีการตัดขายกิจการ มูลค่า 2,000 ล้านบาท

ส่วนพนักงานที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ประมาณ 80 คน แบ่งเป็นฝั่งห้าง 60 คน และสวนสัตว์ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานเก่าแก่ที่อยู่จนใกล้เกษียณอายุ บางส่วนลาออกไปหรือได้งานใหม่ ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ทยอยรับสมัครพนักงานคนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับการรีโนเวตห้างใหม่ด้วย

แน่นอนว่า พาต้าเมื่อ 40 กว่าปีก่อนถือเป็นห้างสรรพสินค้าแถวหน้าที่สร้าง Talk of The Town ตั้งแต่การเปิดสวนสัตว์ลอยฟ้าบนห้าง มีลิฟต์แก้วตัวแรกของประเทศไทย สร้างสวนสนุกในห้องแอร์ที่ใหญ่ที่สุด ติดตั้งน้ำพุสายรุ้งสุดหรูหรา ภายใต้การบริหารงานของตระกูล “เสริมศิริมงคล” ถือเป็นกลุ่มทุนค้าปลีกที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากกลุ่ม “จิราธิวัฒน์” ค่ายเซ็นทรัล และตระกูล “อัมพุช” ค่ายเดอะมอลล์

ทั้งนี้ วินัย เสริมศิริมงคล ถือเป็นแกนหลักในบรรดา 4 พี่น้องเจเนอเรชันที่ 1 คือ วินัย วิวรรธน์ นภดล และ คณิต

เขาเริ่มต้นเงินลงทุนก้อนแรก 3 แสนบาท เปิดร้านขายของ 7 คูหา ใช้ชื่อว่า Thai Shopping ในศูนย์การค้าอินทรา ย่านประตูน้ำ เปิดได้ 3-4 ปี ลูกค้าล้นหลาม ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง

ปี 2518 วินัยตัดสินใจขยายกิจการเปิดห้างสรรพสินค้าพาต้า อินทรา และเพิ่มเงินทุนเป็น 1 ล้านบาท โดยเช่าพื้นที่กับบริษัท บาโซมา จำกัด เจ้าของโรงแรมอินทรา รีเจนท์ และ อินทรา อาเขต ต่อเนื่องระยะยาว

ตอนนั้นพาต้าโด่งดังมาก เพราะขายสินค้าหลากหลาย เช่น จักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมเล็ก สุราเหมาไถ ของเด็กเล่น ของใช้ สินค้าแฟชั่น โดยเน้นสินค้า Made in China เพราะเป็นช่วงสมัยนายกรัฐมนตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เปิดสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มมีการทำการค้ากัน ทำให้คนไทยยุคนั้นนิยมสินค้าจากจีนอย่างมาก ถือเป็นสินค้าดีมีชื่อและราคาถูก

เล่ากันว่า ตอนเปิดห้างพาต้ามีการจัดงานแสดงสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งแรกในประเทศไทย สามารถทำยอดขายถล่มทลาย ชนิดที่มีคนจากต่างจังหวัดเหมารถแห่มาเที่ยวงานนี้

ปลายปี 2525 วินัยเดินหน้าขยายสาขาใหม่ย่านปิ่นเกล้า โดยเลือกวันเปิดสอดคล้องกับพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี วันที่ 25 ธันวาคม 2525 พร้อมๆ จัดเต็มโครงการดึงดูดกลุ่มลูกค้าแห่แหนเข้าห้างชนิดต่อคิวเต็มหน้าห้าง เพราะพาต้าปิ่นเกล้าเป็นอาคารสูง 15 ชั้น พื้นที่มากถึง 11 ไร่ และถือเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของเมืองไทยที่มีลิฟต์แก้ว สร้างความตื่นเต้นให้เหล่านักชอปอย่างมากมาย

ปี 2526 วินัยซึ่งเคยเป็นพ่อค้าในตลาดนัดสนามหลวง เห็นการซื้อขายสัตว์ป่า สัตว์หายากในตลาดนัดสนามหลวง จึงมีแนวคิดต้องการดูแลและอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้ ติดต่อผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ และหาบริษัทตัวแทนนำเข้าสัตว์ก่อนตัดสินใจลงทุนเปิดสวนสัตว์พาต้า บนชั้น 6 และชั้น 7 ของห้างพาต้าปิ่นเกล้า โดยมีกอริลลาหนุ่มตัวแรก “บวาน่า” เป็นสัตว์ชูโรงดึงดูดทุกคน ก่อนที่ปี 2535 นำเข้ากอริลลาสาว “บัวน้อย” วัย 3 ขวบ มาเป็นเพื่อนคู่กัน

เวลานั้นผู้คนมาเที่ยวห้างพาต้าปิ่นเกล้า ทั้งชอปปิ้งและต้องเที่ยวสวนสัตว์เพื่อยลโฉมคิงคองพาต้าแทบทั้งสิ้น

ในปีเดียวกัน ยังมีการเปิดตัวโรงภาพยนตร์พาต้า เธียเตอร์ และถือเป็นสาขาที่มีงานอีเวนต์มากมาย เช่น งานศิลปวัฒนธรรม งานล้านนาไทยเทรดแฟร์ อีสานเทรดแฟร์ ทักษิณเทรดแฟร์ เทศกาลของดี 73 จังหวัด และการประกวดพาต้าหนูน้อยคนเก่ง

ปี 2535 บริษัทขยายสาขาใหม่ “พาต้าหัวหมาก” บริเวณปากซอยรามคำแหง 30 เป็นอาคารสูง 5 ชั้น มีพื้นที่การขาย 50,000 ตารางเมตร มีซูเปอร์มาร์เกตครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร โรงภาพยนตร์ 3 โรง มีลานโบว์ลิง สนุกเกอร์คลับ และสวนสนุก

ปี 2539 พาต้าเตรียมแผนเปิดสาขาบางบัวทอง บริเวณตลาดสมบัติบุรีในปัจจุบัน แต่โครงการถูกยกเลิกไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 รวมทั้งต้องปิดอีก 2 สาขา โดยพาต้าอินทราปิดให้บริการปี 2546 และพาต้าหัวหมาก ปิดปี 2547 เหลือพาต้าปิ่นเกล้าเพียงแห่งเดียว

อย่างไรก็ตาม ในยุคเปลี่ยนผ่านโมเดิร์นเทรดสมัยใหม่ ทั้งทุนต่างชาติและทุนค้าปลีกไทย ต่างงัดกลยุทธ์แข่งขันดุเดือดมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าลุยขยายสาขามากขึ้น รุกสู่กรุงเทพฯ รอบนอกและปริมณฑล โดยเฉพาะกลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์และกลุ่มเดอะมอลล์ของตระกูลอัมพุช ขณะที่พาต้าเหลือเพียงสาขาปิ่นเกล้าเป็นหลักหมุดสุดท้าย

เดือนธันวาคม 2564 พาต้าปิ่นเกล้า ประกาศ Clearance Sale ลดล้างสต๊อกทั้งห้าง พร้อมคำว่า ‘เตรียมพบกับพาต้าโฉมใหม่เร็ว ๆ นี้’ โดยปิดให้บริการทุกชั้น ยกเว้นชั้น 1 โถงโปรโมชั่น ชั้น 6 และชั้น 7 โซนสวนสัตว์

ขณะเดียวกันมีการค้นข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ห้างสรรพสินค้าปิ่นเกล้า จำกัด เมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 127,848,669 บาท กำไร 477,903 บาท ปี 2562 มีรายได้รวม 124,155,764 บาท กำไร 70,179 บาท และเริ่มมีตัวเลขขาดทุนในปี 2563 โดยมีรายได้รวม 52,392,276 บาท ขาดทุน 7,496,946 บาท

นั่นทำให้เจเนอเรชันที่ 1 อย่างวิวรรธน์ นภดล และ คณิต ส่วนวินัย พี่ชายคนโต เสียชีวิตแล้ว ตัดสินใจเปิดทางรุ่นลูกหลาน คือ วิสุ กุลนัย อานุภาพ และธนวิทย์ เสริมศิริมงคล ก้าวขึ้นมาสานกิจการในสมรภูมิค้าปลีกยุคใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันและวิกฤตมากมาย รอวันเผยโฉม “พาต้า” ยุคใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายต่างลุ้นการพลิกฟื้นรอบใหม่ แม้ยังไม่มีวันเวลากำหนดชัดเจนก็ตาม