“เราเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ที่โรงงานผลิตนม” คือคำกล่าวของ “พฤฒิ เกิดชูชื่น” ผู้ก่อตั้งบริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ที่ชวนให้ผู้อ่านหลายคนตั้งข้อสงสัย
“แดรี่โฮม” ถือเป็นผู้ผลิตนมออแกนิกรายแรกของเมืองไทย ที่ไม่เพียงผลิตนมคุณภาพดีปลอดสารตกค้าง แต่ยังให้ความสำคัญต่อกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นต้นแบบโรงงานสีเขียว หรือ Green Factory ไม่มีการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม และมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ
แต่การบำบัดน้ำเสียที่เคยทำๆ กันอยู่อาจจะดูธรรมดาเกินไป เพราะแดรี่โฮมพัฒนาไปมากกว่านั้น โดยนำน้ำเสียมาเข้ากระบวนการบำบัดจนกระทั่งสามารถนำกลับมาใช้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้
พฤฒิเปิดเผยว่า “เนื่องจากเราทำเรื่องออแกนิกและ Zero Waste มาตั้งแต่ต้น แต่เรามองว่าของเสียมันยังมีคุณค่าและน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อยู่ อย่างน้ำล้างเครื่องจักรของเรามันคือน้ำผสมนม ถ้าทิ้งลงไปต้องบำบัดก่อน สิ้นเปลืองพลังงานในการบำบัด แต่ถ้าเราแยกเอาสารอาหารที่อยู่ในนั้นออกมาใช้ประโยชน์ก่อนมันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าขึ้นได้อีกมาก”
โดยแดรี่โฮมจะนำน้ำเสียจากการล้างเครื่องจักรมาเข้ากระบวนการสกัดสารอาหารออกมาก่อน ซึ่งสารอาหารที่ได้จะนำไปเลี้ยงสาหร่ายคลอเรลลา (Chlorella) หลังจากนั้นจึงนำสาหร่ายคลอเรลลาที่เลี้ยงได้ไปเลี้ยงไรทะเลอาร์ทีเมีย (Artemia) อีกต่อหนึ่ง ก่อนที่จะนำไรทะเลอาร์ทีเมียไปเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการที่แดรี่โฮมต่อยอดมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“เราเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้ 2 ล็อตแล้วครับ ตอนนี้ขนาดอยู่ที่ 5 ตัว/โล เป้าหมายของเราคือ 3 ตัว/โล คาดว่าปีหน้าจะสามารถบรรจุเมนูกุ้งในร้านแดรี่โฮมได้”
นอกจากนั้น แดรี่โฮมยังพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy มีการใช้พลังงานทางเลือกหลายรูปแบบในโรงงาน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากโซลาร์เซลล์ พลังงานลมจากกังหันลม และพลังงานความร้อนจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแสงอาทิตย์ (Solar Thermal) รวมถึงมีกระบวนการนำขยะหรือวัสดุเหลือใช้อื่นๆ มาชุบชีวิตเพิ่มมูลค่า หรือ Upcycling Waste อีกด้วย
โดยมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำความร้อน เพื่อนำความร้อนที่ได้มาพาสเจอไรซ์นม ใช้พลังงานลมจากโรงงานกังหันลมตัวใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงงานเพื่อนำไปใช้ในการทำงานของเครื่องจักร
ส่วนความร้อนเหลือทิ้งที่เกิดจากการทำความเย็นที่เป็นห้องเย็นขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บนม แดรี่โฮมก็ไม่ทิ้ง แต่นำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำตัวคอยล์ร้อนไปจุ่มในถังน้ำใบใหญ่ๆ ซึ่งนั่นจะทำให้ได้น้ำอุ่นมาใช้โดยที่ไม่ต้องเปลืองพลังงานในการต้ม โดยน้ำอุ่นที่ได้นั้นจะเก็บไว้ใช้อุ่นนมต่อไป ซึ่งทำให้โรงงานของแดรี่โฮมสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าโรงงานอื่นๆ เป็นอย่างมาก
ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากจะสกัดสารอาหารจากน้ำล้างเครื่องจักรแล้ว แดรี่โฮมยังมีกระบวนการบำบัดน้ำเสียโดยใช้สารรีไซเคิลให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ในการผลิต รวมถึงนำไปใช้ปลูกพืชและรดน้ำหญ้าสำหรับเป็นอาหารวัวได้อีกด้วย ซึ่งพฤฒิมั่นใจว่าแดรี่โฮมเป็นโรงงานที่ไม่มีน้ำเสียปล่อยออกสู่ธรรมชาติเลย
ด้านการจัดการขยะภายในโรงงานและร้านอาหารแดรี่โฮมนั้น พฤฒิกล่าวว่า ขยะที่นี่เป็นเงินเป็นทอง ประการแรกคือมีการแยกขยะ อะไรขายได้ก็ขาย แล้วนำรายได้นำเข้ากองทุนสวัสดิการของพนักงาน ส่วนที่เหลือนำส่งโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากขยะ เพื่อผลิตเป็นพลังงานต่อไป
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การจัดการขยะจากเศษอาหารจากร้านอาหารของแดรี่โฮม โดยพฤฒิตั้งใจให้ร้านแดรี่โฮมเป็นร้านอาหารที่มีระบบการจัดการเศษอาหารแบบ Zero Waste โดยมีการจัดทำ “โรงเรือนเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย” หรือ Black Soldier Fly เพื่อใช้จัดการเศษอาหาร ซึ่งหนอนแมลงวันลายเป็นตัวช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ได้รวดเร็วและสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ ในตัวแมลงวันลายยังมีสารอาหารมากมาย โดยสามารถนำไปเลี้ยงไก่ เพื่อจะได้ไข่ไก่อินทรีย์กลับมาสู่ครัวแดรี่โฮมต่อไป
นอกจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันโยเกิร์ตชนิดถ้วยของแดรี่โฮมใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกชีวภาพจากพืชที่สามารถปลูกทดแทนใหม่ได้ ต่างจากพลาสติกที่มาจากปิโตรเลียมที่หมดแล้วหมดเลย นอกจากนี้ ยังย่อยสลายได้ง่ายและไม่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ภาชนะบรรจุนมซึ่งเป็นขวดแก้วที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยลูกค้าสามารถส่งขวดคืนมาให้กับแดรี่โฮม และจะได้เงินคืนในราคาขวดใหญ่ 5 บาท ขวดเล็ก 1 บาท หลังจากนั้นขวดดังกล่าวจะผ่านกระบวนการทำความสะอาดก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
รวมถึงมีการนำบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจากประเทศสวีเดนอย่างอีโคลีน (Ecolean) มาใช้แทนแกลลอนพลาสติกแบบที่เคยใช้ โดยเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้พลาสติกน้อย ใช้ทรัพยากรน้อย สามารถนำมารีไซเคิลและเพิ่มมูลค่าได้
โดยปัจจุบันโรงงานแดรี่โฮมได้รับมาตรฐานด้านโรงงานและการผลิตทั้ง GMP and HACCP ที่บ่งบอกถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์, มาตรฐาน ISO50001 ซึ่งหมายถึงการเป็นโรงงานที่มีระบบการอนุรักษ์พลังงานที่สมบูรณ์แบบ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการขอรับรองมาตรฐาน Green Industry Level 5 ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีวิธีการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิตอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำความเป็นโรงงานต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดหลักในการก่อตั้งแดรี่โฮมมาตั้งแต่ต้น ดังที่พฤฒิกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“แบรนด์แดรี่โฮมเป็นผลมาจากการบ่มเพาะและฟูมฟักแนวความคิดของการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตลอดระยะเวลา 20 ปี ทั้งตัวผลิตภัณฑ์ของแดรี่โฮม กระบวนการผลิต และแนวทางการจัดหาวัตถุดิบ ตลอดจนถึงการทำตลาด จะมีความสอดคล้องกันตลอดกระบวนการ เพื่อให้ทั้งผู้บริโภค ซัปพลายเออร์และพนักงานมีความเข้าใจในสิ่งเดียวกัน คือการบริโภคที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้”
แต่ที่แน่ๆ ในปีหน้าถ้าใครที่มีโอกาสแวะเวียนไปใช้บริการร้านอาหารแดรี่โฮม คงได้ลิ้มลองเมนูกุ้งก้ามกรามออแกนิกจากแดรี่โฮมอย่างแน่นอน