วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > เปิดแนวคิด “พฤฒิ เกิดชูชื่น” ผู้บุกเบิกนมออแกนิกรายแรกในไทย

เปิดแนวคิด “พฤฒิ เกิดชูชื่น” ผู้บุกเบิกนมออแกนิกรายแรกในไทย

ในแวดวงการทำฟาร์มโคนมแบบออแกนิก ชื่อของ “พฤฒิ เกิดชูชื่น” น่าจะเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงเป็นคนแรกๆ ทั้งในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผู้บุกเบิกการทำฟาร์มโคนมแบบออแกนิกในเมืองไทย แต่ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้ผลิตนมออแกนิกรายใหญ่ภายใต้แบรนด์ “แดรี่โฮม” ที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมานานกว่า 2 ทศวรรษอีกด้วย

“พฤฒิ เกิดชูชื่น” ถือเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงฟาร์มโคนมมาอย่างยาวนาน โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณพฤฒิเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยเป็นแห่งแรก ในตำแหน่งนักวิชาการสอนปรับปรุงพันธุ์โคนม ทำงานด้านวิจัยการผสมเทียมและริเริ่มศูนย์ผลิตน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคนมแช่แข็ง

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการทำฟาร์มโคนมมากว่า 10 ปี ปี 2535 เขาตัดสินใจผันตัวเองออกมาทำธุรกิจส่วนตัว โดยเริ่มจากการร่วมหุ้นกับเพื่อนทำธุรกิจปลูกหญ้าเลี้ยงวัว ก่อนที่จะหันไปจำหน่ายอาหารวัวสำเร็จรูป และธุรกิจขายกากเบียร์เป็นลำดับ แต่เนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจมาก่อน เส้นทางธุรกิจของเขาจึงไม่ราบรื่นนัก

จนกระทั่งปี 2542 คุณพฤฒิได้ทดลองสร้างธุรกิจเล็กๆ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จากการจุดประกายของลูกสาวตัวน้อยที่อยากมีร้านขายของในช่วงวันหยุด

“จุดเริ่มต้นหนึ่งคือลูกสาวของผมเขาอยากมีร้านขายของเล็กๆ ด้วยความที่ผมอยู่ในแวดวงโคนมเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาเปิดร้านขายนมกันดีกว่า แต่ที่สำคัญคือต้องเป็นนมที่ปลอดสารและมีคุณภาพดีเท่านั้น”

นี่คือสารตั้งต้นเล็กๆ ของ “แดรี่โฮม” แต่ที่มากไปกว่านั้นคือความต้องการที่จะยกระดับการทำฟาร์มโคนมในประเทศไทยแบบเดิมไปสู่การทำฟาร์มที่มีผลผลิตนมที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษตกค้าง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตกรผู้เลี้ยงโคนม

จากประสบการณ์ในแวดวงฟาร์มโคนมมาตลอด 10 ปี ทำให้คุณพฤฒิมองเห็นปัญหาในการทำฟาร์มโคนมของไทย ณ ช่วงเวลานั้น ที่ประสบปัญหาทั้งคุณภาพของนมและกระบวนการผลิตที่ไม่ยั่งยืน มีสารปนเปื้อนจำพวกยาปฏิชีวนะและอะฟลาทอกซินในน้ำนม เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รายได้น้อย แต่รายจ่ายเยอะ เพราะต้องแบกรับต้นทุนซึ่งส่วนใหญ่หมดไปกับค่าอาหาร ค่ายา จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาการทำฟาร์มโคนมแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหาและเพื่อหาทางรอดให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในระยะยาว

โดยเขามองว่าการเลี้ยงโคนมวิถีธรรมชาติหรือการทำฟาร์มโคนมแบบออแกนิกที่ไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ ผลิตอาหารให้วัวเองเพื่อลดการพึ่งพิงจากภายนอก คือสิ่งที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และเป็นทางรอดของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย ซึ่งนี่เองคือจุดสำคัญที่ทำให้เกิดแดรี่โฮมในระยะต่อมา

13 เมษายน 2542 “แดรี่โฮม” เปิดตัวเป็นครั้งแรกในภาพลักษณ์ของร้านขายนมเล็กๆ ที่มีที่นั่งเพียง 3 โต๊ะ มีสินค้าหลักคือนมสดพาสเจอไรซ์ที่ผลิตเอง จำหน่ายนมในขวดแก้วซึ่งเป็นนมออแกนิกที่ซื้อจากฟาร์มโคนมที่รู้จักกันในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโดยใช้เครื่องมือง่ายๆ แต่ถูกหลักวิชาการ โดยในตอนแรกรับซื้อนมเพียงวันละ 10 ลิตร จากนั้นขยับเพิ่มเป็น 100 ลิตร เพราะกระแสตอบรับดี และเป็นดั่งหน้าร้านที่ใช้ปูทางเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องนมออแกนิกสู่ผู้บริโภค

ในอีกด้านหนึ่ง คุณพฤฒิเองก็การพยายามปรับเปลี่ยนวิถีการทำฟาร์มโคนมของเกษตรกรไทยแบบเดิม ให้หันมาเลี้ยงวัวแบบออแกนิกไปพร้อมๆ กัน

“การทำเกษตรแบบอินทรีย์หรือออแกนิกไม่ได้หมายถึงผลผลิตที่ได้ต้องปลอดสารเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงระบบการผลิตและระบบการเลี้ยงโคนมที่ต้องสมดุลกับธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ พืช และสัตว์ ต้องดูทั้งระบบนิเวศ เราจะไม่เลี้ยงวัวแบบให้ได้น้ำนมมากที่สุด แต่เราจะเลี้ยงให้เขามีความสุขและให้เขาได้ใช้ชีวิตแบบวัวๆ มากที่สุด มีโอกาสได้เดินเล็มหญ้า ได้กินอาหารที่ดี ได้เดินออกกำลังกาย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกละเลยในการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นแต่ปริมาณน้ำนม”

โดยสิ่งที่เขาเน้นย้ำในการทำฟาร์มโคนมแบบออแกนิกคือ 1. ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตอาหารสัตว์ 2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะในวัว สามารถใช้ได้ในกรณีที่วัวเจ็บป่วยจริงๆ แต่ต้องมีการแยกออกจากฝูงและเว้นระยะก่อนการรีดนม 3. สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกหญ้าและมันสำปะหลังซึ่งเป็นอาหารของวัวเอง หรือซื้อจากเกษตรกรในเครือข่ายที่ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูก 4. เปลี่ยนสัดส่วนอาหารของวัวระหว่างอาหารข้นสำเร็จรูปและอาหารจำพวกหญ้าและฟางข้าว 5. มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนวัว เพื่อให้วัวได้ใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ ถ้าวัวมีความสุข ก็จะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา น้ำนมที่ได้ก็มีคุณภาพสูงตามไปด้วย

“ด้วยวิธีการนี้ต้นทุนจะลดลงถึง 4 เท่า แทนที่จะเสียเงินเยอะๆ เพื่อผลิตเยอะๆ แต่ได้กำไรนิดเดียว สู้ผลิตน้อยแต่ได้กำไรเยอะจะดีกว่า โดยหลักการผมเชื่อว่าน่าจะเป็นวิธีการผลิตที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้” คุณพฤฒิกล่าวเสริม

ความท้าทายของผู้บุกเบิก
แม้ว่าปัจจุบันเรื่องเกษตรอินทรีย์ ผักปลอดสารพิษ หรือผลิตภัณฑ์ออแกนิกจะเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกพูดถึงในวงกว้างมากนัก การที่คุณพฤฒิลุกขึ้นมาบุกเบิกการทำฟาร์มโคนมแบบออแกนิกซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและเต็มไปด้วยความท้าทาย

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว คำว่าออแกนิกหรือเกษตรอินทรีย์ยังรู้จักกันในวงแคบ ยิ่งปศุสัตว์อินทรีย์อย่างที่แดรี่โฮมทำยิ่งไม่เป็นที่รู้จัก ทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภคเองเขาก็ไม่เข้าใจ แน่นอนเลยว่าการไปชักชวนให้เกษตรกรโคนมหันมาเลี้ยงวัวแบบออแกนิกเป็นเรื่องยาก บางคนขนาดรอดูว่าเมื่อไหร่เราจะเจ๊ง ปีแรกๆ ต้องใช้คำว่าคะยั้นคะยอ ชักชวน หลอกล่อทุกวิถีทางเพื่อให้เขาทำ แต่ปีหลังๆ มานี่ เริ่มเพิ่มขึ้น เพราะพอเห็นฟาร์มหนึ่งทำสำเร็จ ก็จะมีอีก 3-4 ฟาร์มตามมา”

ส่วนสิ่งที่เป็นปัญหาและความท้าทายในการทำฟาร์มโคนมแบบออแกนิกนั้น เขากล่าวว่ามันคือความใส่ใจในทุกรายละเอียด ต้องรอบคอบ และทำเองทุกขั้นตอน ถ้าเป็นเกษตรกรโคนมทั่วไปพออาหารสัตว์หมดปุ๊บก็สามารถโทรสั่งให้ร้านค้าเอามาส่งได้ แต่แบบออแกนิกนั้นแดรี่โฮมจะสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตอาหารสัตว์เอง อีกทั้งผลผลิตนมที่ได้จะลดลงเพราะผลิตได้น้อยซึ่งบางคนไม่เข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันผลผลิตที่ได้กลับมีคุณภาพที่ดีกว่าการทำฟาร์มโคนมแบบเดิม

FTA คือตัวเร่งการทำฟาร์มโคนมออแกนิก
อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้คุณพฤฒิต้องเร่งส่งเสริมการทำฟาร์มโคนมแบบออแกนิกให้มากขึ้นและเร็วขึ้น นั่นคือข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ที่รัฐบาลไทยลงนามกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่จะมีผลในปี 2568 ซึ่งไทยคาดหวังจะนำสินค้าอุตสาหกรรมเข้าไปขาย และกับการที่นิวซีแลนด์และออสเตรเลียสามารถนำนม เนื้อ อันเป็นสินค้าหลักของเขาเข้ามาขายในเมืองไทยได้ ซึ่งคุณพฤฒิมองว่าถ้าเป็นเช่นนี้นมที่ผลิตในไทยถ้าไม่พัฒนาจะไม่สามารถสู้กับนมจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลียได้เลย

“ปี 2547 ไทยเริ่มเจรจากับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เรื่องเขตการค้าเสรี ปี 2548 ทั้งสองฝ่ายลงนามข้อตกลง ซึ่งในช่วงแรกๆ ยังคงมีเรื่องกำแพงภาษีและโควตาของสินค้าที่จะนำเข้าอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลงในทุกๆ 5 ปี ถ้าเลยจากนี้ไปจนถึงปี 2568 จะไม่มีกำแพงภาษีและโควตา ซึ่งนั่นส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโคนมไทยแน่นอน”

“ปี 2548 ที่มีการเซ็นสัญญา เป็นปีที่เกษตรกรโคนมไทยลดฮวบ บางคนเริ่มเห็นสถานการณ์ไม่ดีก็เริ่มขายวัวทิ้ง เลิกอาชีพ จาก 30,000 ฟาร์มในปีนั้น ก็ค่อยๆ ลดลงมา ผมเช็กเมื่อต้นปี ไทยเราเหลือเกษตรกรโคนมอยู่เพียง 15,000 ฟาร์มเท่านั้น ในอนาคตถ้าไม่พัฒนาหรือทำอะไรให้แตกต่าง น้ำนมโคของไทยจะสู้ของต่างชาติไม่ได้ ซึ่งทางรอดคือการเลี้ยงโคนมด้วยวิถีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ และทำให้ผลิตภัณฑ์นมเป็นนมออแกนิก เพื่อเพิ่มคุณค่าและสร้างความต่างให้กับผลิตภัณฑ์”

นี่จึงทำให้คุณพฤฒิเดินหน้าเร่งขยายเครือข่ายและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหันมาทำฟาร์มแบบออแกนิก จนปัจจุบันแดรี่โฮมสามารถสร้างเครือข่ายฟาร์มโคนมออแกนิกในรัศมี 50 กิโลเมตรได้ถึง 30 ฟาร์ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เชื่อในวิถีออแกนิกและหันกลับมาสานต่อการทำฟาร์ม และที่สำคัญเกษตรกรในเครือข่ายล้วนแล้วแต่พ้นขีดความยากจน และสร้างรายได้ต่อปีถึง 400,000 บาท/ปี/ครอบครัว

โดยแดรี่โฮมจะรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรในเครือข่ายเพื่อมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ภายใต้แบรนด์ “แดรี่โฮม” ทั้งนม เนย ชีส และไอศกรีม วางขายทั้งในร้านแดรี่โฮม ห้างสรรพสินค้า และตัวแทนจำหน่าย

“ผลิตภัณฑ์ของแดรี่โฮมมีทั้งนมออแกนิกแบบปกติ และนมที่ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาจนกลายเป็นนมแบบพิเศษ อย่างนมกราสเฟดเป็นนมที่มาจากวัวกินหญ้าที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และ CLA ช่วยพัฒนาสมอง นมก่อนนอนหรือเบดไทม์มิลค์ที่มีเมลาโทนินตามธรรมชาติของแม่วัวช่วยในการนอนหลับ รวมถึงนมเจอร์ซี่จากแม่โคสายพันธุ์เจอร์ซี่สำหรับคนที่แพ้โปรตีนนมโดยเฉพาะ ซึ่งต้องบอกเลยว่าผลิตภัณฑ์ของแดรี่โฮมขายดีแทบทุกตัว”

ในส่วนของร้านแดรี่โฮมที่มีเพียง 3 โต๊ะในระยะแรกเริ่ม ปัจจุบันขยายเพิ่มเป็น 2 สาขา รองรับผู้มาเยือนได้กว่า 700 คน มีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นมวางขายเต็มรูปแบบ และกลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวแถบเขาใหญ่ ปากช่อง และผู้คนในละแวกใกล้เคียง โดยมีพื้นที่รวมกว่า 42 ไร่

ถ้าถามว่าวันนี้ในฐานะผู้บุกเบิกการทำฟาร์มโคนมออแกนิกของไทยถือว่าประสบความสำเร็จได้หรือยัง คุณพฤฒิตอบเพียงสั้นๆ ว่า

“ผมว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จเสียทีเดียว แต่ผมเชื่อว่าเรามาถูกทาง และจะเดินหน้าขยายเครือข่ายต่อไปเรื่อยๆ”.