วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ย้อนยุค Food Truck จากคาวบอย กรรมกร สู่รถพุ่มพวงไทย

ย้อนยุค Food Truck จากคาวบอย กรรมกร สู่รถพุ่มพวงไทย

เมื่อสืบค้นต้นกำเนิดของ Food Truck เริ่มต้นตั้งแต่ยุคหลังสงครามกลางเมืองอเมริกาที่เกิดการขยายตัวสู่เขตพื้นที่ฝั่งตะวันตกอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นตลาดการค้าขายเนื้อสัตว์ต่างๆ ขนาดใหญ่ โดยเป็นที่นิยมอย่างมากในรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

บางข้อมูลระบุว่า Food Truck ฉบับดั้งเดิมเกิดขึ้นโดย Charles Goodnight (ชาร์ลส์ กู๊ดไนท์) ในปี 1866 โดยชาร์ลส์ต้อนฝูงสัตว์และเจอความยากลำบากในการทำอาหารแต่ละมื้อในช่วงเวลาต้อนวัว เขาเห็นรถของกองทัพสหรัฐฯ มีความแข็งแรงน่าจะนำมาประยุกต์ใช้งานได้ เขาจึงจัดการตกแต่งภายในรถด้วยชั้นวางของและลิ้นชัก เติมภาชนะและเครื่องหุงต้ม เครื่องเทศ เครื่องเคียงปรุงรส

อาหารที่เลือกบรรทุกไปตอนนั้น ได้แก่ ถั่ว กาแฟ ข้าวโพด และวัตถุดิบอื่นที่ปรุงได้ง่าย ไม่มีอาหารจำพวกผักผลไม้สด หรือว่าเนื้อสัตว์ ซึ่งเน่าเสียง่าย

ต่อมาช่วงปี 1980 เริ่มมีรถบรรทุกอาหารออกเดินทางเพื่อจำหน่ายในช่วงเวลากลางคืน สำหรับแรงงานกะดึกในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ซึ่ง The Owl (เดอะ อาวล์) เป็นแบรนด์ผู้นำแรกๆ ที่ทำให้ธุรกิจ Food Truck เริ่มเป็นที่นิยมและกลายเป็นต้นแบบของร้านอาหารรูปแบบ Food Truck ในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้สืบค้นประวัติย้อนไปถึงยุคคาวบอยที่มีการอพยพย้ายถิ่นของคนอเมริกันแรกๆ ยุคที่ต้องเดินทางไปเป็นหมู่คณะกับกองเกวียนคาราวานค้าขายจากแดนเหนือไปแดนใต้เพื่อป้องกันการโจมตีจากโจรผู้ร้ายและอินเดียนแดง โดยในกองคาราวานมีเกวียนบรรทุกอาหารพร้อมเครื่องมือการปรุงติดไปด้วยทุกกอง เพื่อทำอาหารเลี้ยงกองคาราวาน

เว็บไซต์ American food truck พูดประวัติ Food Truck ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มมีรถยนต์ รถบรรทุกใช้งาน ฟู้ดทรัคที่มีบันทึกไว้อยู่ในช่วงปี 1880 นายวอลเตอร์ สกอตต์ ได้ดัดแปลงรถของเขา ตัดช่องข้างรถออก เพื่อขายอาหารกลางวัน แซนด์วิชพายและกาแฟให้พวกนักข่าว โดยจอดหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ใน Providence Rhode Island

แต่ที่เห็นชัดเจน คือ ร้านอาหารแบบ Food Truck ได้รับการรับรู้มากขึ้นผ่านภาพยนตร์คอเมดี้-ดราม่าสัญชาติอเมริกัน เรื่อง “Chef” ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2557 นำเสนอเรื่องราวของ Carl Casper หัวหน้าเชฟที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง เขารักการทำอาหารมาก แต่การต้องอยู่ใต้คำสั่งเจ้าของร้านและไม่สามารถปรุงเมนูตามใจตัวเองได้ ทำให้คาร์ลเริ่มสูญเสียศรัทธาบางอย่าง ยิ่งเจอบทความจากนักวิจารณ์อาหารฝีปากกล้าที่สับเขาเละไม่เหลือชิ้นดี ความอดทนของคาร์ลสิ้นสุดลง เขาเหวี่ยงทุกอย่างรอบตัวจนต้องออกจากงาน

ตอนนั้นเองที่ Inez อดีตภรรยาได้เข้ามาช่วยเหลือให้คาร์ลได้เป็นเจ้าของ Food Truck คันหนึ่ง ซึ่งช่วยกระตุ้นจิตวิญญาณ แรงบันดาลใจและความลุ่มหลงในการทำอาหารกลับมาอีกครั้ง

ขณะที่เทรนด์การเปิดร้านอาหารสไตล์ Food Truck เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อราวสิบกว่าปีก่อนและเพิ่มจำนวนมากขึ้นต่อเนื่อง มีการรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมและคลับ เพื่อเป็นศูนย์กลางระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการหลายแห่ง

ข้อมูลของอาจารย์ญาณเดช ศิรินุกูลชร ประธาน TBIC Food Truck Thailand พบว่า ปี 2564 ประเทศไทย มี Food Truck ประมาณ 2,800 คันทั่วประเทศ และคาดว่า ปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 3,100 คันทั่วประเทศ เติบโตขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10% โดยมีสัดส่วนแบ่งตามประเภทรถ คือ รถกระบะ 85% รถคลาสสิก 6% รถเทรเลอร์ 5% รถสามล้อ 2% และรถอื่นๆ อีก 2%

สัดส่วนของประเภทสินค้า ได้แก่ เครื่องดื่ม 25% อาหารอินเตอร์ 22% อาหารไทย 22% อาหารว่าง 16% และ ของหวาน 15%

อย่างไรก็ตาม ร้านค้าสไตล์ฟู้ดทรัคไม่ได้จำกัดเฉพาะการขายอาหาร เครื่องดื่ม แต่มีผู้ประกอบการนำมาประยุกต์หลากหลายรูปแบบ เช่น ร้านตัดผม ร้านขายเครื่องสำอาง ร้านขายเสื้อผ้า บางคันเหมือนยกห้างสรรพสินค้าเข้ามาในรถ มีทั้งเสื้อผ้า หมวก รองเท้า เครื่องสำอาง ของใช้ในครัวเรือน ของใช้ส่วนตัว เรียกว่า ขายสินค้าได้ทุกประเภทไปจนถึงเป็นมินิซูเปอร์มาร์เกต ตลาดสดเคลื่อนที่ หรือรถกับข้าว ซึ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนไทยมากขึ้นและกระจายทั่วทุกหมู่บ้านในประเทศไทย

สำหรับรถกับข้าวมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น รถพุ่มพวง รถโตงเตง เป็นรถกระบะเปิดท้ายขายของสด ของแห้ง ผัก ผลไม้ สินค้ามักห้อยเป็นพวงๆ จับสินค้าเป็นกลุ่มๆ ทั่วตัวถังรถ วิ่งขายตามชุมชนต่างๆ ในหมู่บ้าน ตามพื้นที่ก่อสร้างไปจนถึงบ้านเดี่ยว บางรายเปิดเพลงสลับพูดผ่านไมโครโฟน มีทั้งการดัดแปลงรถกระบะ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานยนต์สามล้อ (ซาเล้ง)

ชื่อ รถพุ่มพวงมาจากการห้อยสินค้า “เป็นพุ่มเป็นพวง” เพื่อง่ายต่อการวางสินค้าและคิดราคา ซึ่งยักษ์ค้าปลีกบางรายเคยทำร้านสไตล์รถพุ่มพวงเจาะตลาดชุมชน รวมถึงแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มชื่อดังบางรายทดลองขยายโมเดลรถตระเวนขายสินค้า โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดที่ผู้คนส่วนใหญ่ Work from Home

คาดการณ์กันว่า รถพุ่มพวงน่าจะเกิดขึ้นและแพร่หลายในยุครุ่งเรืองของธุรกิจจัดสรรที่ดิน สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ราวปี 2531-2534 ซึ่งมีการตัดถนนสายใหม่ๆ สู่ชานเมือง เริ่มมีโครงการจัดสรร มีแคมป์คนงานและการรุกเข้ามาของร้านสะดวกซื้อทำให้มีผลกระทบต่อร้านโชวห่วยดั้งเดิม ร้านโชวห่วยล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ร้านค้าน้อยลง จึงเกิดรถพุ่มพวงเข้ามาทดแทน เพราะสามารถขับเข้าไปให้บริการถึงหมู่บ้าน หรืออาจถึงหน้าประตูบ้านด้วย

ปี 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกิดไอเดียใช้รถพุ่มพวงให้บริการขายสินค้าราคาประหยัดในช่วงสถานการณ์โควิด โดยเปิดตัวโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน Lot ที่ 10 รูปแบบรถ Mobile พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ตระเวนจำหน่ายสินค้าราคาถูกทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งหมด 730 คัน ส่วนหนึ่งหน้าสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ จอดจำหน่ายประมาณครึ่งวัน แล้วตระเวนไปตามจุดและชุมชนต่างๆ ประมาณ 400-500 ชุมชน

กลุ่มสินค้าประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค เช่น ข้าวสารถุง ไข่ไก่ น้ำมันพืชขนาด 1 ลิตร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง กับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารสำเร็จรูป ซอสปรุงรส ของใช้ประจำวัน สินค้าชำระร่างกาย สินค้าสำหรับการซักล้าง และยา โดยร่วมมือกับ 7 ตลาดใหญ่ ได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดมีนบุรี ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต ตลาดเสรีสายห้า และตลาดบางใหญ่ ใช้รถพุ่มพวงนำสินค้าจากตลาด ออกไปจำหน่ายให้ประชาชน ระยะเวลา 30 วัน

ต่อมา กระทรวงพาณิชย์ประกาศเพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดแบบถาวรอีก 20 จุด จากปัจจุบัน 50 จุดทั่วกรุงเทพฯ และมีรถเคลื่อนที่ (รถพุ่มพวง) อีก 25 คัน นำสินค้าที่จำเป็นขายให้ประชาชนในราคาถูก

แต่ในช่วงน้ำมันแพงที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าปีแล้ว รถพุ่มพวงและรถเร่ขายเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลายรายตัดสินใจเลิกกิจการกลับไปทำการเกษตรที่บ้าน เพราะกลุ่มลูกค้าจับจ่ายลดลง รายได้ลดลง ขณะที่ต้นทุนน้ำมันและต้นทุนสินค้าสูงขึ้น การปรับราคาเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากเป็นช่องทางค้าปลีกที่รองรับกลุ่มคนรากหญ้า

ตลาดรถพุ่มพวงจึงค่อนข้างซบเซาเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดฟู้ดทรัค ซึ่งส่วนใหญ่รองรับกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำเลจุดจอดส่วนใหญ่อยู่หน้าห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ คอนโดมิเนียม แม้ได้รับผลกระทบพิษเศรษฐกิจ แต่ไม่สาหัสเท่าตลาดรถพุ่มพวง ซึ่งจำเป็นต้องรอสถานการณ์ต่างๆ ฟื้นตัวดีขึ้นก่อน

หากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพต่างๆ ลดลง ตลาดรถพุ่มพวงน่าจะกลับมาคึกคักมากกว่าที่เป็นอยู่แน่.