วรรณกานต์ ทองคำ ใช้เวลากว่า 7 ปี ปลุกปั้นร้าน “มานีมีนม” สร้างอิมเมจคาเฟ่คลาสสิกยุค 90 กับเมนูซิกเนเจอร์ ขนมปังสังขยาโบราณ สูตร “อาป๊า” ย้อนยุคตั้งแต่สมัยรถเข็นขายบะหมี่เป็ดย่างที่พร้อมเสิร์ฟลูกค้าทั้ง “คาว-หวาน” จนขึ้นแท่นแฟรนไชส์ฮอตฮิต มีผู้คนแห่จองคิวยาวทุกเดือน
ขณะเดียวกัน เมนูรุ่นใหม่ “ขนมปังไส้แตก” ของร้านไม่ได้ใช้วิธีปิ้งย่างเหมือนหลายเจ้า แต่เป็นขนมปังอบ หรือ Toast ซึ่งให้ความกรอบนอกนุ่มในได้นาน และล่าสุดมีให้เลือกถึง 25 ไส้ โดยเฉพาะ 5 ไส้ยอดนิยม คือ สังขยาใบเตยมะพร้าว สังขยาไข่เค็ม สังขยาอัญชันตาลโตนด โกโก้ครันชี่ และปังกระเทียมโคตรชีสX2 เป็นสูตรเด็ดบอกต่อถึงความอร่อย มัดใจลูกค้า ตั้งแต่กลุ่มเด็กๆ วัยรุ่น คนทำงาน และรุ่นปู่ย่าตายาย
วรรณกานต์ หรือ “แนน” บอกว่า เดิมคิดเล่นๆ แค่อยากใช้พื้นที่ว่างในร้านบะหมี่เป็ดย่างของครอบครัวเปิดเคาน์เตอร์ขายขนม เครื่องดื่ม เพราะเป็นคนชอบรับประทานของหวาน แต่ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีเกินคาด ร้านต้องปิด 3 ทุ่ม แต่มีลูกค้าเข้าร้านไหลยาวเกือบเที่ยงคืนทุกวัน
“จริงๆ แนนเคยทำงานบริษัท พอแต่งงานถึงมาเริ่มต้นทำธุรกิจของครอบครัวฝั่งสามี คือ ป๊าเปิดร้านราชาบะหมี่เป็ดย่าง ข้าวหน้าเป็ด ข้าวหมูแดงหมูกรอบ อยู่ย่านแพรกษา ซอยมังกร จังหวัดสมุทรปราการ เปิดมานานเกือบ 40 ปีแล้ว ตอนนี้มี 3 สาขา ร้านแรกดั้งเดิมอยู่ซอยมังกร สาขา 2 ไม่ไกลกันมาก ป๊าเปิดให้สามีกับแนนเปิดขายช่วงเช้าถึงบ่ายๆ ก่อนขยายสาขา 3 ให้น้องชายเปิดขายกะดึก”
วันหนึ่ง วรรณกานต์อยู่หน้าร้านสาขา 3 และเห็นพื้นที่ว่าง เธอเริ่มเกิดไอเดียเพราะขณะนั้นเมื่อ 7 ปีก่อน ร้านของหวานย่านแพรกษายังมีไม่มาก และอดีตเคยทำงานในบริษัท เมลท์มี (Melt Me) ของสุนิสา ภาสกรนที มีความรู้เรื่องขนมหวานอยู่บ้าง เธอรีบหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก Youtube และตัดสินใจเรียนการทำชาชักแบบโบราณ ใช้นมดิบในหม้อตุ๋น เตรียมความพร้อมทุกอย่าง สร้างเคาน์เตอร์ร้านแบบง่ายๆ เปิด มานีมีนม ร้านแรกช่วงปลายปี 2558
สำหรับชื่อ “มานีมีนม” มาจากครอบครัวเก็บสะสมของโบราณเยอะมากและความชอบทุกสิ่งอย่างแนวคลาสสิก ขณะที่เมนูทั้งหมด 80% มีนมเป็นส่วนประกอบหลัก ขายนมกับขนมปัง ทำให้นึกถึงคาแรกเตอร์ “มานี” ตัวละครหนึ่งที่อยู่ในแบบเรียนภาษาไทยรุ่นก่อนๆ กลายเป็น “มานีมีนม” ที่น่าจะดึงให้ลูกค้าเหลียวหลังได้
“เปิดขาย 1-2 ปีแรก กระแสตอบรับดีมาก ลูกค้าร้านบะหมี่เป็ดย่างสั่งขนมและน้ำ กินคาวแล้วกินหวานต่อ ลูกค้าพูดต่อกันมากจากในซอยขยายสู่นอกซอย ขยายไปรัศมีโซนสมุทรปราการ ลูกค้าข้างนอกเข้ามาตลอด ปกติร้านเปิดช่วง 5 โมงเย็นและปิด 3 ทุ่ม เพราะเราต้องตื่นตี 4 ทำเป็ดย่าง ปรากฏว่า ลูกค้าเข้าร้านไหลไปถึงเที่ยงคืน ดีเกินคาด”
ปลายปี 2559 เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เมื่อผลิตภัณฑ์นมมะลิติดต่อให้ร่วมออกบูธงาน MILK & TOAST ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งถือเป็นงานแรกที่ร้านชานเมืองแนวคลาสสิกมีโอกาสเข้าเมืองร่วมอีเวนต์แบบพรีเมียม สร้างความตื่นเต้นทั้งแม่ค้าและลูกค้า เพราะเป็นความแปลกใหม่ในเมือง และอยู่ในช่วงจังหวะร้านสตรีทฟูดกำลังบูมมาก
งานอีเวนต์ครั้งนั้นแม้ยอดขายไม่ได้กำไรมาก แต่สามารถสร้างภาพลักษณ์เป็นที่จดจำ และได้รับการติดต่อออกอีเวนต์ต่อเนื่อง ทั้งที่ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ สยามพารากอน และเครือเซ็นทรัล
กลางปี 2560 เกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อ “มานีมีนม” ประกาศเปิดลงทะเบียนรับผู้ร่วมลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นครั้งแรก ซึ่งวรรณกานต์กล่าวว่า การแตกไลน์ธุรกิจแฟรนไชส์มาจากคำเรียกร้องของลูกค้าเมื่อออกงานอีเวนต์ทุกครั้ง
“แรกๆ ก่อนเปิดขายแฟรนไชส์เราไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจ เป็นแม่ค้า เป็นผู้ขาย ผู้ผลิตมาตลอด แต่เห็นแฟรนไชส์ร้านชา 25 บาทเกิดเยอะมาก แต่เวลานั้นกลัวแฟรนไชส์ไม่มีคุณภาพเป็นการฆ่าตัวเองทางอ้อม และยังไม่เห็นแฟรนไชส์ร้านขนมปัง ทำให้เราต้องดีไซน์แฟรนไชส์ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เน้น 3 เรื่องหลัก คือ คุณภาพ การเข้าถึงลูกค้า และดูแลลูกค้าผู้ร่วมลงทุนได้เต็มร้อย”
แน่นอนว่า ทันทีที่โพสต์ผ่านเพจ “มานีมีนม” ประกาศเปิดแฟรนไชส์เพียงโพสต์เดียวมีคอมเมนต์และการแชร์เกือบหลักพัน เริ่มจากให้ผู้สนใจส่งพื้นที่ทำเลมาให้พิจารณา โดยให้สิทธิ์เปิดทีละสาขาและขอให้ลูกค้ารอคิว เพราะต้องเรียนรู้ไปกับลูกค้าพร้อมๆ กับการแก้ปัญหา ให้เวลาเปิดขายประมาณ 1 เดือน จึงเปิดสาขาใหม่
สำหรับโมเดลร้านแฟรนไชส์มี 2 รูปแบบ รูปแบบแรก ลูกค้ามีอาคาร มีพื้นที่นั่ง งบประมาณรวมประมาณ 2.85 แสนบาท อีกรูปแบบเป็นพื้นที่เปล่า เปิดซุ้มคีออส น็อกดาวน์ ราคาเริ่มต้น 1.55 แสนบาท โดยเมนูขายและอุปกรณ์ทุกอย่างเหมือนกันทั้งสองโมเดล และหากรวมงบตกแต่ง ป้าย สื่อต่างๆ กล้องวงจรปิด แอร์ เงินทุนหมุนเวียน ประมาณ 6 แสนถึง 1 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมานีมีนมมีรายได้จากการขายวัตถุดิบและค่าสิทธิ์โลโก้แบรนด์เดือนละ 1,000 บาท ซึ่งเก็บหลังเปิดร้านแล้ว 3 เดือน
“ณ ตอนนี้ มานีมีนมมีสาขาทั้งหมด 26 สาขา เน้นทำเลอยู่ใกล้แหล่งชุมชน โรงเรียน หมู่บ้าน ศูนย์ราชการ และปั๊มน้ำมัน ซึ่งกำลังมาแรงเพราะมีที่จอดรถอยู่แล้วและอยู่ใกล้แหล่งชุมชน อย่างแถวสมิติเวชใกล้โรงพยาบาล เส้นทางสัญจร มีโชว์รูมรถ ห้างสรรพสินค้า และพฤติกรรมผู้บริโภคสั่งผ่านแอปดีลิเวอรีสูงมาก เราสมัครทุกแอปดีลิเวอรี ลูกค้าแฟรนไชส์แค่เตรียมความพร้อมด้านพนักงานและการบริหารจัดการ”
เมื่อถามถึงเส้นทางการบุกเบิกร้านมานีมีนมด้วยเงินทุนก้อนเล็กๆ และค่อยๆ ทยอยใส่ ค่อยๆ พัฒนา เพราะไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ทุนหนา วรรณกานต์กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มทำได้เห็นความเคลื่อนไหวของแบรนด์ต่างๆ ทุกธุรกิจมีการแข่งขัน และยิ่งมีการแข่งขันนั่นแสดงว่าสิ่งที่เราเลือกทำประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่เราไม่ได้มองเป็นการแข่งขัน ถ้าเรายังคงรักษาคุณภาพ ความจริงใจ ลูกค้าเป็นคนให้คำตอบว่า เราใช่หรือไม่ใช่ การเน้นคุณภาพ ลูกค้าถือเป็นมาร์เก็ตติ้ง บอกปากต่อปาก ช้าหน่อย แต่ยั่งยืนมากกว่า
“อย่างโควิดรอบแรก ด้วยโปรดักส์ การพรีเซนต์ เลย์เอาต์ร้าน เราทำเคาน์เตอร์อยู่ด้านหน้า ทั้งร้านคูหาและคีออส พอช่วงโควิดปิดล็อกดาวน์ เรายังสามารถรับออเดอร์ด้านหน้าและแพ็กเกจจิ้งทุกชิ้นสามารถรับประทานได้เลย และนำกลับ รองรับการสั่งดีลิเวอรี แต่มามีผลกระทบโควิดรอบสองรอบสาม เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น แต่คุณภาพทำให้เราสามารถประคับประคองต่อไปได้”
เธอบอกว่า ทุกเมนูจึงเน้นวัตถุดิบคุณภาพ ความสดใหม่และไม่ใส่สารกันบูด อย่างเมนูซิกเนเจอร์ หมวดขนมปัง คือ สังขยาใบเตยมะพร้าว เป็นสูตรของป๊า ตั้งแต่สมัยรถเข็น สังขยาไข่เค็มใช้ไข่เค็มเต็มใบ สังขยาอัญชันตาลโตนด ใช้กะทิธัญพืช รำข้าว เหมาะกับสายสุขภาพ กลุ่มแพ้ไข่
กลุ่มเครื่องดื่ม นมกับชา ใช้นมร้อนเป็นเบสทั้งหมด เพื่อความหอม เข้มข้น และน้ำอัญชันเตยหอมต้มสด รับประทานกับนม ได้ความหอมและความสด เพราะใช้ใบเตยจากเจ้าของสวนต้นทางแถวปทุมธานี
ปัจจุบันบริษัท มานีมีนม จำกัด เปิดให้บริการแบบครบวงจร คือ การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ การบริการทั้งหน้าร้านและดีลิเวอรี บริการรับออกงานอีเวนต์ จัดสแน็กบ็อกซ์งานประชุมสัมมนา งานเลี้ยง catering ทุกประเภท และรับพัฒนาสูตรสินค้าร่วมกับผลิตภัณฑ์ Brand ต่างๆ
ล่าสุด วรรณกานต์ยังซุ่มแตกไลน์ร้านใหม่ “มานะ” นำเสนอเมนูกล้วยปิ้งมะพร้าวอ่อนและตาลโตนด เตรียมเปิดตัวเร็วๆ นี้ด้วย.