วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ไทยฟู้ดส์ ผุดพรึ่บ 220 สาขา เร่งเบียดเจ้าตลาดแข่งเดือด

ไทยฟู้ดส์ ผุดพรึ่บ 220 สาขา เร่งเบียดเจ้าตลาดแข่งเดือด

ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป ใช้เวลา 2 ปีกว่าๆ บุกตลาดสดติดแอร์ “ไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต (Thai foods fresh market)” ชนิดก้าวกระโดด จากปีแรกนำร่อง 2 สาขา ขยายเพิ่มเป็น 80 กว่าสาขา และพุ่งพรวดถึงวันนี้ 177 สาขา โดยตั้งเป้าหมายปิดสิ้นปี 2565 แตะ 220 สาขา และประกาศตะลุยไล่เบียดเจ้าตลาด “ซีพีเฟรชมาร์ท” อย่างต่อเนื่อง

จุดขายหลักสำคัญ คือ การทำราคาขายไม่สูงเมื่อเปรียบกับค่ายคู่แข่งและอาจถูกกว่าท้องตลาดด้วย สินค้าในร้านมีทั้งกลุ่มสินค้าในเครือไทยฟู้ดส์ สัดส่วนประมาณ 80% อีก 20% เป็นสินค้าอื่นๆ ทั้งสินค้านอกเครือ สินค้าของแห้งและผักต่างๆ

ขณะที่สินค้ากลุ่มหลักๆ ค่อนข้างครบถ้วน เช่น สินค้าประเภทไก่ วางจำหน่ายแทบทุกชิ้นส่วนของไก่ 1 ตัว เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ทั้งผู้บริโภคทั่วไปและกลุ่มร้านอาหารขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตั้งแต่เนื้อไก่ สันใน อกไก่ น่อง ปีกกลาง สะโพก ข้อไก่ โครงไก่ เครื่องใน เลือด เศษเนื้อ ไปจนถึงการขายไก่ดิบทั้งตัว

สินค้ากลุ่มหมูมีทุกชิ้นส่วนของตัวหมูเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อแดง เนื้อสันใน เนื้อสันนอก ซี่โครง กระดูกอ่อน หมูบด เครื่องในต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับอาหารประเภทชาบู จิ้มจุ่ม หมูกระทะ

นอกจากนั้น อัดโปรโมชั่น 1 แถม 1 สินค้าราคาพิเศษ กลุ่มข้าวสาร ไข่ไก่ ซอสต่างๆ ไส้กรอก รวมถึงการรับสมัครสมาชิกให้ลูกค้าสะสมแต้มแลกเงินสด เพื่อสร้างฐานลูกค้าประจำและกระตุ้นการจับจ่าย

อย่างที่รู้กันว่า ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไก่และสุกรแบบครบวงจร ทั้ง Feed, Farm, Food และ Food Distribution ติดตลาดท็อปทรีและโลดแล่นอยู่ในวงการนานกว่า 35 ปี ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศหลายต่อหลายครั้ง โดยวินัย เตียวสมบูรณ์กิจ ก่อร่างสร้างฐานจากธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่แห่งแรกในจังหวัดลพบุรี เมื่อปี 2530 จากกำลังการผลิต 20,000 ตัว บุกเบิกขยายกิจการและจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2544 ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยฟู้ด (2001) จำกัด

ในเวลาต่อมา วันที่ 2 กรกฎาคม 2545 บริษัทจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทย ฟู้ดส์ โพลทรีย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และใช้เวลารุกตลาดค่อยๆ เติบโต กระทั่งจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เป็น บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557

ช่วงปี 2554 – 2557 บริษัทพยายามจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจจากเดิมที่นายวินัย เตียวสมบูรณ์กิจ และผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้ควบคุมการประกอบธุรกิจทั้งหมดปรับมารวมอยู่ที่บริษัท ทำให้การประกอบธุรกิจทุกประเภทอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทโดยตรง พร้อมๆ กับขยายกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ผลิตและจำหน่าย รวมถึงรุกตลาดส่งออกต่างประเทศ กลายเป็นผู้ผลิตอาหารครบวงจร

ล่าสุด ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป มีบริษัทในเครือมากกว่า 20 บริษัท โดยมีธุรกิจอาหารเป็นแกนหลัก ประกอบด้วย 1. ธุรกิจไก่ ได้แก่ การเพาะพันธุ์ไก่ การผลิตและจำหน่ายเนื้อไก่ ลูกไก่ ไก่พันธุ์เนื้อ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อไก่ 2. ธุรกิจสุกร ได้แก่ การเพาะพันธุ์สุกร การจำหน่ายสุกรมีชีวิตและชิ้นส่วนสุกร 3. ธุรกิจอาหารสัตว์ ได้แก่ การผลิตและการจำหน่ายอาหารสัตว์ โดยมุ่งเน้นอาหารสำหรับไก่และสุกร

ส่วนกลุ่มที่ 4 ธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเป็นความพยายามแตกไลน์ตามไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของผู้คนและรองรับการขยายแผนดำเนินงานของบริษัทแม่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต บริหารธุรกิจร้านค้าปลีกที่กำลังรุกขยายอย่างเร่งด่วน

บริษัท ฟูด เบลสซิ่ง(1988) จำกัด ผลิตซอสปรุงรสและเครื่องดื่มสมุนไพร

บริษัท อโยธยา อกรีเทค ผลิตกระสอบสานพลาสติก เพื่อรองรับการบรรจุสินค้าในเครือ

บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรีน เอนเนอร์จี้ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ)
บริษัท ไทยฟู้ดส์ รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ วิจัยและพัฒนาวัคซีนรักษาสัตว์

บริษัท มันนี่ ฮับ เซอร์วิส ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “มันนี่ฮับ” (Money Hub) ซึ่งล่าสุดมีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท และกำลังศึกษาธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงครบวงจร ภายใต้ชื่อ My Pet

หากไล่เรียงรายได้รวมของบริษัทและบริษัทย่อยตั้งแต่ปี 2561อยู่ที่ 28,357.21 ล้านบาท ปี 2562 อยู่ที่ 29,105.51 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 31,857.38 ล้านบาท และปี 2564 อยู่ที่ 35, 074 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจไก่ รองลงมาเป็นธุรกิจสุกรและอาหารสัตว์

นายเพชร นันทวิสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ TFG เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้รวมปีนี้เติบโต 20-25% จากปีก่อน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และได้รับปัจจัยหนุนจากราคาขายเนื้อสัตว์อยู่ในระดับสูง ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่า Freight มีทิศทางลดลง ทำให้ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดี การส่งออกไก่ได้ผลดีจากค่าเงินอ่อนและมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากความต้องการบริโภคมากขึ้น

ที่สำคัญ ร้านค้าปลีก Thai Food Fresh Market มีผลตอบรับดีมาก และเริ่มทยอยรับรู้รายได้ โดยบริษัทวางแผนขยายสาขาถึงสิ้นปีนี้จะมีสาขารวม 220 สาขา ซึ่งล่าสุดมีสาขารวม 177 สาขา และต้องการครอบคลุมทุกพื้นที่ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมทั้งกำลังเร่งขยายบริการดีลิเวอรี

เมื่อย้อนดูข้อมูลตั้งแต่การเปิดร้านไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต 2 สาขาต้นแบบเมื่อปลายปี 2563 ซึ่งไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป ตั้งเป้าหมายสร้างเครือข่ายเพิ่มช่องทางการจำหน่ายไก่และสุกรเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง รวมทั้งเพิ่มยอดขายและสนับสนุนพอร์ตรายได้ให้มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งระยะเวลาการเปิดตัวเพียงไม่กี่เดือนสามารถทำรายได้ 26 ล้านบาท ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะต้องแข่งขันกับเจ้าตลาดยักษ์ใหญ่

ไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทขยายสาขาเพิ่ม 1 สาขา ยอดขายขยับเป็น 76 ล้านบาท อัตราเติบโต 192%

ไตรมาส 2 ปี 2564 ขยายเพิ่มเป็น 17 สาขา ยอดขายเพิ่มเป็น 163 ล้านบาท อัตราเติบโต 115%

ไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายเพิ่มเป็น 44 สาขา ยอดขายเพิ่มเป็น 434 ล้านบาท อัตราเติบโต 166%

ไตรมาส 4 ปี 2564 ขยายเพิ่มเป็น 85 สาขา ยอดขายเพิ่มเป็น 752 ล้านบาท อัตราเติบโต 73%

มาถึงปี 2565 ไตรมาส 1 จำนวนสาขาอยู่ที่ 113 แห่ง ยอดขายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,008 ล้านบาท อัตราเติบโต 34% และไตรมาส 2 ขยายต่อเนื่องอยู่ที่ 132 สาขา ยอดขายรวมอยู่ที่ 1,473 ล้านบาท อัตราเติบโต 46%

ทั้งนี้ ยอดขายมากกว่า 50% เป็นกลุ่มสินค้าไก่ สินค้าหมู 35% สินค้าแช่แข็งต่างๆ 3% สินค้าไส้กรอก 1% และสินค้าอื่นๆ อีก 8% ซึ่งถือว่าบริษัทส่งต่อสินค้าในเครือถึงมือผู้บริโภคได้ตามเป้าหมายมากกว่า 80-90% รวมทั้งเร่งขยายตลาดสินค้ากลุ่มซอสปรุงรสต่างๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ซอสหอยนางรม น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ กลุ่มเครื่องดื่มน้ำสมุนไพร และเตรียมเปิดตัวธุรกิจอาหารสัตว์ครบวงจร ซึ่งเชื่อว่า ไทยฟู้ดส์ฯ น่าจะซุ่มแผนเปิดร้านค้าปลีกในกลุ่มนี้ด้วย.