หากเจาะยุทธศาสตร์ค้าปลีกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “ซีพี” ยังถือแต้มต่อเหนือคู่แข่ง ทั้งการวางเครือข่ายตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำบุกตลาดทุกเซกเมนต์และทุกกลุ่มผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น มีการ Synergy ทุกแบรนด์และรุกตลาดไปพร้อมๆ กัน อย่างกรณี “แม็คโคร” ที่เตรียมผุดสาขาใหม่ในทำเลติดกับ “โลตัส” สาขาเลียบคลองสอง เร่งขยายฐานลูกค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่ง
ที่สำคัญ อาณาจักรธุรกิจของกลุ่มตระกูลเจียรวนนท์ครอบคลุมทุกการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสูงสุดและทำให้กลยุทธ์การตลาดกว้างขวางกว่าค่ายอื่นๆ โดยอัปเดตล่าสุดเครือซีพีแตกไลน์ 8 สายธุรกิจหลัก ครอบคลุม 14 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ธุรกิจการเงินและการธนาคาร
ดังนั้น ถ้าตรวจแนวรบเฉพาะกลุ่ม Retail ธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย แบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ ค้าปลีก ค้าส่ง และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วยบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) บริหารกิจการร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริหารกิจการห้างโลตัสและศูนย์จำหน่ายสินค้าส่งแม็คโคร
ปัจจุบันกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์ “เซเว่นอีเลฟเว่น” มีจำนวนร้านทั่วประเทศรวม 13,253 สาขา(ไตรมาส1/2565) ปีนี้วางแผนขยายร้าน 700 สาขา หรือสิ้นปีนี้มีจำนวนร้านมากกว่า 13,830 สาขา โดยเร่งบุกต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล
ขณะเดียวกันซีพีออลล์ยังมีเครือข่ายธุรกิจลูกอีกหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกาแฟและเบเกอรีแบรนด์คัดสรร All cafe’ Bellinee’s และร้านกาแฟมวลชน ร้านขายยา eXta และมีธุรกิจสนับสนุนกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ ธุรกิจให้บริการเป็นตัวแทนรับชําระค่าสินค้าและบริการ เคาน์เตอร์ เซอร์วิส ธุรกิจผลิตและจําหน่ายอาหารสําเร็จรูปและเบเกอรี ซีพีแรม ธุรกิจจําหน่ายและซ่อมแซมอุปกรณ์ ค้าปลีก ซีพี รีเทลลิงค์
ธุรกิจให้บริการด้านระบบสารสนเทศ “โกซอฟท์” ธุรกิจให้บริการด้านการตลาด “เอ็ม เอ เอ็ม ฮาร์ท” ธุรกิจวิทยาลัยอาชีวศึกษาด้านค้าปลีก และสถาบันการศึกษาด้านการจัดการ “ปัญญาภิวัฒน์” และธุรกิจการจัดฝึกอบรม การจัดการสัมมนาทางวิชาการทางธุรกิจ
ด้านโลตัสซึ่งเข้ามาเป็นยูนิตหนึ่งในสยามแม็คโครเรียบร้อยแล้ว มีสาขา 3 รูปแบบหลัก คือ สาขาไฮเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ ขนาดพื้นที่ 1,600-11,000 ตารางเมตร ล่าสุดเปิดให้บริการ 224 สาขา สาขา Go Fresh Supermarket พื้นที่เฉลี่ย 400-2,000 ตร.ม. ส่วนใหญ่ปรับโฉมจากโมเดลตลาดโลตัสเดิม ล่าสุดอยู่ที่ 202 สาขา และสาขา Go Fresh ซึ่งปรับโฉมจากโลตัสเอ็กซ์เพรสอีก 2,171 แห่ง รวมถึงโครงการ นอร์ธ ราชพฤกษ์ ซึ่งเร่งเปิดให้บริการปลายปีนี้ รูปแบบ SMART Community Center แห่งแรก ศูนย์กลางการชอปปิ้ง กิน ดื่ม เที่ยว และการใช้ชีวิตในแบบ 24 ชั่วโมง
สำหรับค้าส่งแม็คโครมีรูปแบบหลากหลายถึง 5 โมเดล ไล่ตั้งแต่สาขามาตรฐาน (Classic) ขนาดพื้นที่ 5,500-12,000 ตร.ม. ล่าสุดเปิดให้บริการแล้ว 79 แห่ง
สาขา Eco plus หรือโมเดลขนาดกลาง พื้นที่ 4,000-7,000 ตร.ม. จำนวน 15 แห่ง
สาขา Foodservice เน้นให้บริการกลุ่มลูกค้าโรงแรมและจัดเลี้ยง (HoReCa) รูปแบบ one-stop outlet ขนาดพื้นที่ 1,000-5,000 ตร.ม. ขณะนี้เปิดให้บริการ 40 แห่ง
สาขา Food shop ขนาดพื้นที่ 100-300 ตร.ม. อีก 4 แห่ง และมีโมเดลขนาดเล็กอีก 2 แบรนด์ คือ Fresh@Makro 2 แห่ง และ Siam Frozen อีก 7 แห่ง รวมถึงเพิ่งเปิดตัวร้านค้าปลีกชุมชนแบรนด์ใหม่ “บัดดี้มาร์ท (Buddy Mart)” รูปแบบร่วมลงทุนกับร้านโชห่วย ซึ่งล่าสุดเปิดให้บริการ 10 แห่ง
เสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร บมจ. สยามแม็คโคร กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 บริษัทวางแผนการเปิดสาขาทั้งสิ้น 49-50 สาขา แบ่งเป็นการเปิดสาขาขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ 5 สาขา และวางแผนขยายสาขาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 1 สาขา กรุงนิวเดลี อินเดีย 1 สาขา ส่วนการเปิดสาขาขนาดใหญ่ของโลตัส 3 สาขา สาขาโลตัส โกเฟรช 40-50 สาขา และมีแผนเปิดในมาเลเซียอีก 3 สาขา โดยมีงบประมาณการลงทุนทั้งปี 2565 ประมาณ 22,000 ล้านบาท
“ธุรกิจค้าส่งได้รับอานิสงส์โดยตรงจากธุรกิจบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง กลุ่มลูกค้าโรงแรม ร้านอาหาร สปา ร้านค้า มีปริมาณการสั่งสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อรวมเข้ากับโลตัสทำให้บริษัทมีสาขามากกว่า 2,800 สาขาทุกขนาด ทำให้การจำหน่ายสินค้าเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์แอปพลิเคชันเติบโตก้าวกระโดด ซึ่งขณะนี้แม็คโครมียอดขายออนไลน์ถึง10% ของยอดขายรวม และโลตัสมียอดขายออนไลน์ 8% ของยอดขายรวมแม้เพิ่งเปิดตัวไม่นาน จึงเป็นช่องทางที่จะเร่งได้อีกมาก”
ในส่วนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งเป็นแกนหลักธุรกิจต้นน้ำ ทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์และแปรรูป (Farm and Processing) และธุรกิจอาหาร (Food) ทั้งการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปกึ่งปรุุงสุกและปรุุงสุก ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟเร่งขยายช่องทางการจำหน่ายอาหารและร้านอาหาร เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดตามเป้าหมาย “ครัวโลก” ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้สร้างอาณาจักรซีพีทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในประเทศไทยนั้นซีพีเอฟรุกเข้าสู่ช่องทางค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Market) กลุ่มตลาดสด ทั้งแผงค้ากลยุทธ์ตู้เย็นชุมชน และขยายเครือข่ายร้านซีพีเฟรชมาร์ท พร้อมๆ กับการลุยช่องทาง Modern Trade ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ไฮเปอร์มาร์เกต และช่องทาง Food Service กลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง
ที่ผ่านมาซีพีเอฟพยายามปรับโฉมและเพิ่มองค์ประกอบร้านซีพีเฟรชมาร์ทเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ทั้งคอนเซ็ปต์ “รวมพลความสดคุณภาพดี ราคาเป็นกันเอง พร้อมบริการส่งถึงบ้าน” ตอกย้ำจุดแข็งการเป็นมินิซูเปอร์มาร์เกตใกล้ชุมชนและความสดใหม่
เปิด สถานีชาบู-หมูกระทะ รวมวัตถุดิบปรุงเมนูชาบูและหมูกระทะ
ผุดโมเดลซูเปอร์มาร์เกต CP Fresh พื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า 500 ตารางเมตร ใหญ่กว่าร้านซีพีเฟรชมาร์ทเดิมถึง 5 เท่า และชูจุดขายการนำอาหารสดส่งตรงจากแหล่งผลิต สู่ Live Seafood Tank มีทั้งสินค้าและบริการ แยกพื้นที่เป็นโซนต่างๆ ได้แก่ โซนผักและผลไม้สด โซนเนื้อสัตว์ โซนซีฟู้ด โซนเครื่องดื่ม โซนมุมปรุงอร่อย (Flavor Solution) โซน True โซนกาแฟมวลชน และโซนสินค้าทั่วไป โดยนำร่องสาขาแรกใน อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา
ซีพีเอฟยังมีบริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด ดำเนินธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ FIVE Star (ห้าดาว) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการจุดขายในรูปแบบแฟรนไชส์ เริ่มจากแบรนด์ตั้งต้นไก่ย่างห้าดาว ขยายไลน์เพิ่มจุดขายเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ จุดขายไก่ย่าง จุดขายไก่ทอด จุดขายข้าวมันไก่ จุดขายบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง จุดขายเรดดี้มีล และจุดขายไส้กรอก รวมทั้งแตกแบรนด์ใหม่ๆ เช่น เป็ดเจ้าสัว ข้าวมันไก่ไห่หนาน ร้านสตรีทฟูด “กระทะเหล็ก” และร้าน Hi Pork โดยคงแนวคิดหลัก คือ การสร้างเครือข่ายแฟรนไชส์
ด้านหนึ่งสร้างอาชีพให้ประชาชน อีกด้านหนึ่งปูพรมสาขาได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มช่องทางขายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วย.