วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > สองทายาทพรประภา “ฝันใหญ่” ส่งเรเว่ ชิงเบอร์ 1 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

สองทายาทพรประภา “ฝันใหญ่” ส่งเรเว่ ชิงเบอร์ 1 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

ขึ้นชื่อว่า “ความฝัน” เป็นเหมือนการยืนอยู่กึ่งกลางระหว่างจินตนาการหรือความจริง คนเรามีสิทธิ์ที่จะฝัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปล่อยให้ความฝันนั้นเป็นเพียงจินตนาการ หรือคว้าไว้และทำให้เป็นความจริง

หนุ่มสาวทายาทตระกูล “พรประภา” ชื่อสกุลที่บ่งบอกต้นทางของสาแหรกตระกูล ที่เกือบทุกก้าวย่างของบรรพบุรุษผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายทศวรรษ และถือเป็นผู้บุกเบิกและฝ่าฟันมรสุมในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมาอย่างยาวนานกระทั่งก้าวขึ้นมายืนบนแถวหน้าของวงการ เมื่อเอ่ยนาม “สยามกลการ” น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามและความรุ่งเรืองของบริษัทใหญ่ แม้ว่าในปัจจุบันจะลดบทบาทของตัวเองลงจากดิสทริบิวชัน เหลือเพียงแค่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันก็ตาม

การเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวของนักธุรกิจ เสมือนชีวิตถูกปลูกฝังให้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจเรื่อยมา ภาพลักษณ์ที่ถูกมองจากคนภายนอกคือ การรับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัวไปโดยปริยาย แต่นั่นดูเหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ใช้สกุลพรประภา เมื่อประธานวงศ์และประธานพร พรประภา สองพี่น้อง ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตและบุตรสาวของนายพรพินิจ พรประภา จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ในฐานะผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายสำหรับกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมเสนอ BYD แบรนด์รถยนต์พลังงานใหม่อันดับต้นของโลก

“Rêver ในภาษาฝรั่งเศส แปลว่าความฝัน แต่บริษัทนี้ไม่ใช่แค่ความฝันของเราสองคน แต่เราอยากจะหา Dream Product ให้ลูกค้าด้วย และอาจจะเป็น Dream Product ให้ประเทศไทยและสิ่งแวดล้อม” ประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฉายภาพความฝันของตัวเองในวันแถลงข่าวเปิดตัวบริษัทเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา

ประธานวงศ์ พรประภา ยังขยายความเพิ่มเติมว่าเพราะเหตุใดจึงเลือก BYD “เราจ้องบริษัทนี้อย่างใกล้ชิดมาสักพักแล้ว ตอนที่ตัดสินใจ เรามุ่งหา BYD โดยตรง สมมุติว่าเขาไม่ตกลง เราก็คงไม่ทำแบรนด์อื่น ตั้งแต่เล็กจนโตได้ไปเยี่ยมชมบริษัทต่างๆ มา บริษัทนี้ผมรู้สึกประทับใจมากๆ ในเรื่อง Innovation บริษัทนี้มีพนักงานประมาณสามแสนคน และ R&D (Research and Development) ฝ่ายวิจัยและพัฒนาประมาณ 4 หมื่นคน”

ดูเหมือนว่า หากการพูดคุยเจรจากันระหว่าง นายประธานวงศ์ พรประภา และ BYD ไม่ประสบความสำเร็จ ทายาทตระกูลพรประภาคงไม่มองหาตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าค่ายอื่น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดรถยนต์ในไทยปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเริ่มทำตลาดได้ไม่นานนัก และอาจจะยังไม่มีเจ้าตลาดที่ครองใจผู้บริโภคอย่างเป็นทางการ การเริ่มต้นในธุรกิจนี้ของเรเว่ ออโตโมทีฟ เป็นเสมือนการเสนอตัวเพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้แก่ลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า

คำถามคือ BYD มีจุดเด่นด้านไหนถึงทำให้ทายาทตระกูลพรประภาให้ความสนใจขนาดนี้ แน่นอนว่าบริษัทสัญชาติจีนรายนี้ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรถยนต์ธรรมดาทั่วไป ทว่า BYD เป็นเสมือนองค์กรที่นำเทคโนโลยีชั้นนำมาใช้ในธุรกิจของตัวเอง ภายใต้การนำของผู้บริหารระดับสูงอย่าง Mr. Wang Chuanfu President ที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาไม่น้อย นอกจากจำนวนบุคลากรในฝ่าย R&D ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีสถาบันวิจัย 11 แห่งทั่วโลก ทีมออกแบบ In-House ที่มีนักออกแบบกว่า 400 คน จาก 10 ประเทศ

การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์เพียงหนึ่งเดียว คือการทำให้โลกเย็นลง 1 องศาเซลเซียส ในปี 2565 ประกาศยกเลิกการผลิตรถยนต์สันดาป และผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายแรกของโลก ล่าสุด BYD มียอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ทะลุ 1 ล้านคัน และกลายเป็นแบรนด์จีนรายแรกที่เข้าสู่ “One Million Club” ของยานยนต์พลังงานใหม่ ปัจจุบัน BYD ขยายธุรกิจไปกว่า 400 เมืองในกว่า 70 ประเทศและภูมิภาค ครอบคลุม 6 ทวีป

แนวความคิดในการเลือกสรรผลิตภัณฑ์ของนายประธานวงศ์อาจมาจากพื้นฐานการบริหารงานธุรกิจของครอบครัว “เรามองว่า ถ้ามีโปรดักส์ที่ดี แข็งแรง ความปลอดภัยสูง หน้าที่ของเราที่เอาเข้ามาคือ การขายโปรดักส์ที่ดี ในตลาดรถยนต์ครึ่งหนึ่งคือการขาย อีกครึ่งคือการเซอร์วิส คนที่ใช้รถยนต์ Loyalty จะอยู่กับเรา จะซื้อคันที่สองหรือสาม บริการหลังการขายของเราต้องแข็งแรง นับเป็นโอกาสดีที่เราได้รับจาก BYD”

ด้านประธานพร พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเสริมอย่างน่าสนใจว่า “เราเป็นบริษัทที่จะบอกว่า รถ จะไม่ใช่แค่รถอีกต่อไป แต่เป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิต เราอยากจะเชื่อมต่อประสบการณ์การใช้ชีวิตกับการขับรถ ผ่าน Super App”

ดูเหมือนว่าแนวทางการบริหารงานในธุรกิจยานยนต์ครั้งนี้ของประธานพรน่าจะมาจากการบริหารงานธุรกิจโรงแรมของครอบครัว อย่าง โรงแรมSiam@Siam ที่ต้องสร้างความประทับใจและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าอยู่เป็นนิจ

การเปิดบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ และเสนอตัวเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มระอุอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่แค่ความฝันเดียวของทั้งประธานวงศ์และประธานพร สองผู้บริหารพี่น้อง ทว่า ทั้งคู่ยังมีฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น “เป้าหมายของเราสำหรับการเป็นแบรนด์ใหม่คือ การเป็น Top5 ในตลาดรถยนต์ไทย ภายในเวลา 5 ปี และการเป็นเบอร์ 1 ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย”

นอกจากนี้ ผู้บริหารหนุ่มยังเสริมอย่างน่าสนใจว่าได้วางเป้าหมายหลังจากเริ่มทำการตลาดว่า ในปีแรกจะมียอดขายหลักหมื่นคัน ซึ่งจะมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกภายในไตรมาส 4 โดยจะเป็น 1 ใน 3 รุ่นที่ BYD เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปก่อนหน้า

“ด้วยความที่เราเป็นแบรนด์ใหม่ การที่จะทำให้คนมั่นใจและซื้อโปรดักส์ของเรา เซอร์วิส ดีลเลอร์ชิปเน็ตเวิร์ก บริการหลังการขายต้องมีความแข็งแรง ดังนั้นเราตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้เราจะต้องมีดีลเลอร์ชิปที่เป็นศูนย์ให้บริการครบวงจรจำนวน 31 แห่ง และภายในสิ้นปี 2566 จะต้องมีจำนวนเพิ่มเป็น 60-70 แห่งทั่วประเทศ” ประธานวงศ์กล่าวเพิ่มเติม

ในอดีต BYD Auto Industry เคยประกาศความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของไทยในการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้วถึง 2 ครั้ง ได้แก่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในปี 2558 และในปี 2561 จับมือกับบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ชาริช โฮลดิ้ง จำกัด มีการเปิดตัวอย่างโด่งดัง ทว่าก็เงียบหายไปในที่สุด

ความมุ่งมั่นของผู้บริหารรุ่นใหม่จากตระกูลพรประภาดูจะไม่สนใจอดีตที่ผ่านมาของ BYD ที่ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าความร่วมมือที่เคยเกิดขึ้นในอดีตระหว่าง BYD และบริษัทในไทยนั้นเป็นเช่นไร โดยเบื้องต้นผู้บริหารรุ่นใหม่ประกาศว่าใช้งบลงทุนในครั้งนี้ 3,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบการตลาด 450 ล้านบาท ระบบเน็ตเวิร์ก 150 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับการสต๊อกรถยนต์เข้ามาจำหน่าย

ประโยคปิดท้ายของประธานวงศ์ พรประภา มีนัยที่น่าคิดตามอยู่ไม่น้อย ที่ว่า “เราเป็นบริษัทน้องใหม่ในประเทศไทย และในวงการยานยนต์ เราตั้งใจที่จะเป็นบริษัท Innovative และหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้าเสมอ” คล้ายกับเป็นการบอกว่า แม้ตระกูลพรประภาจะคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจยานยนต์มาอย่างยาวนาน ทว่า ตัวของประธานวงศ์และประธานพรที่ตัดสินใจเปิดตัวบริษัทเรเว่ ออโตโมทีฟ ในครั้งนี้ คือความพยายามที่จะเติบโตด้วยตัวเอง

ปัจจุบันจีนมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนไม่น้อย ซึ่งมีหลายบริษัทที่เข้ามาทำการตลาดในไทยไปแล้วก่อนหน้า ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยคึกคักและมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจในรถพลังงานใหม่ บริษัทที่เป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าจีน ได้แก่ 1. BYD 2. Great Wall Motor ทำตลาดในไทย ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ORA Good Cat และ Haval 3. SAIC Motor ร่วมทุนกับกลุ่ม CP ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแบรนด์ MG

นอกจากนี้ ยังมี 4. Nio 5. Li Auto 6. Xpeng 7. Geely 8. Ghangan Automobile และ 9. Rozon ที่บางรายยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดในไทย แต่มีบางบริษัทที่อยู่ในระหว่างการหารือกับกรมสรรพสามิตในการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในไทย

จากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ฝันใหญ่ของประธานวงศ์และประธานพร พรประภา กับบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ BYD จะไขว่คว้าความฝันไว้ได้มากน้อยเพียงใด เมื่อนี่เป็นเพียงก้าวแรกของสมรภูมิตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น.

ชมคลิป สองทายาทพรประภา “ฝันใหญ่” ส่งเรเว่ ชิงเบอร์ 1 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

ได้ที่ >> https://www.youtube.com/watch?v=emGjNHPIC3c

 

ใส่ความเห็น