ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีแลนด์” ผู้บริหารเมืองทองธานี ขยับตัวเพื่อต่อจิ๊กซอว์ให้กับอาณาจักรเมืองทองธานีอีกครั้ง ด้วยการลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท
“เมืองทองธานี” อภิมหาโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นในยุคที่อสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทยกำลังเฟื่องฟู ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 หรือราวๆ 30 ปีก่อน เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ภายใต้บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) โดยตระกูล “กาญจนพาสน์” กลุ่มทุนจากฮ่องกงที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยอย่างยาวนาน โดยมีนักธุรกิจชื่อดังและเป็นตำนานอย่าง “อนันต์ กาญจนพาสน์” เป็นผู้นำทัพ ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นเมืองที่ครบสมบูรณ์ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค และระบบขนส่ง บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 4,700 ไร่ บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ
โดยในช่วงแรกเริ่มเมืองทองธานีเปิดตัวด้วยโครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบ คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ รวมถึงอาคารสำนักงานจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 27 ตึก ในพื้นที่ 1 ล้านตารางเมตร ในชื่อ “ป๊อปปูล่าคอนโด” จับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง รวมถึงอาคารสำนักงานอีก 8 อาคาร พื้นที่ 5 แสนตารางเมตร โดยมีการวางผังเมืองอย่างดีทั้งการตัดถนนและทะเลสาบขนาดใหญ่
แต่ด้วยหลากปัจจัยที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ การเร่งขยายตัวที่เร็วเกินความต้องการ รวมถึงการเดินทางที่ยังไม่สะดวกเช่นในปัจจุบัน ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมากที่สร้างเสร็จไม่มีการโอน นั่นทำให้บางกอกแลนด์เริ่มชะลอการก่อสร้างอาคารใหม่ แต่หันมาเร่งระบายสต๊อกที่สร้างเสร็จแล้วแทน จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 หรือที่เรียกกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก ทำให้เมืองทองธานีที่เคยวาดภาพให้เป็นเมืองแห่งอนาคต แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง พร้อมกับแบกรับหนี้ก้อนโตถึง 52,000 ล้านบาท
ท่ามกลางวิกฤตครั้งนั้น บางกอกแลนด์ยังคงสร้างศูนย์กีฬาขนาดใหญ่บนพื้นที่ 70,000 ตารางเมตร ขึ้นตามมติของรัฐบาล ด้วยงบลงทุน 3,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2541 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อหวังที่จะดึงดูดให้คนรู้จักโครงการที่อยู่อาศัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองทองธานี
จนเมื่อการแข่งขันเอเชียนเกมส์จบลง บางกอกแลนด์ได้ปรับโฉมศูนย์กีฬาดังกล่าวให้เป็นศูนย์จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่ ในชื่อ “อิมแพ็ค อารีน่า” พร้อมทั้งตั้งบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ขึ้นมาบริหารจัดการ
ซึ่งนั่นทำให้เมืองทองธานีกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ในภาพของสถานที่สำหรับจัดงานสำคัญๆ หลากหลายงาน ทั้งงานแสดงสินค้า การประชุม งานสถาปนิก งานโอทอป งานคอนเสิร์ต งานมอเตอร์โชว์ และงานระดับประเทศอีกมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น บางกอกแลนด์ยังคงปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นเมืองทองธานีจากเมืองร้างให้กลับมาเป็นเมืองแห่งอนาคตอย่างที่ตั้งเป้าไว้อีกครั้ง โดยเริ่มจากการนำที่อยู่อาศัยที่สร้างไว้พร้อมอยู่มาทยอยขาย อีกทั้งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งร้านอาหาร ร้านค้า ตลาด เพิ่มเติม
ประกอบกับภาครัฐที่มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ทั้งทางด่วนและรถสาธารณะ รวมถึงระบบขนส่งของภาคเอกชนอย่างรถตู้ที่เข้ามาในพื้นที่ ทำให้การเดินทางมายังเมืองทองธานีสะดวกมากขึ้น นั่นทำให้มีผู้เข้ามาอาศัยในเมืองทองธานีมากขึ้นตามลำดับ
ในขณะเดียวกันสถานะของบางกอกแลนด์ก็เริ่มฟื้นตัวด้วยเช่นกัน จึงเริ่มมีการลงทุนสร้างโครงการใหม่ๆ ในพื้นที่ส่วนที่เหลือของเมืองทองธานี พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวทางในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากการทำเพื่อขายเป็นอสังหาฯ เพื่อการเช่า โดยเน้นการสร้างโครงการเชิงพาณิชย์ เช่น โรงแรม ชอปปิ้งมอลล์ ศูนย์อาหาร ศูนย์ประชุม เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยในเมืองทองธานีและผู้ที่มาใช้บริการของอิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเร่งสร้างกระแสเงินสดและทยอยล้างหนี้ที่มี
ปัจจุบันเมืองทองธานีเป็นเมืองขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม ศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ โรงแรม ชอปปิ้งมอลล์ โรงภาพยนตร์ ศูนย์อาหาร และเส้นทางคมนาคมหลายสายที่พาดผ่าน
โซนศูนย์ประชุมยังคงมี “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” เป็นพื้นที่หลัก โดยถือเป็นศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย มีพื้นที่รวมกว่า 140,000 ตารางเมตร รองรับการจัดงานได้ทุกรูปแบบ ประกอบด้วย อาคารชาเลนเจอร์ อาคารใหญ่ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ถึง 3 อาคาร ด้วยเนื้อที่รวม 60,000 ตารางเมตร, ศูนย์แสดงสินค้า 8 อาคาร, อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม และอาคารอารีน่า
โซนที่อยู่อาศัยมีทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียมหลายระดับราคา ทั้งที่เป็นโครงการยุคแรกเริ่มกับที่พัฒนาขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นป๊อปปูล่าคอนโด, สุพีเรียร์ คอนโดมิเนียม, ดับเบิ้ลเลค คอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ 8 ชั้น, สุโขทัยอะเวนิว 99, โกลเด้น เลควิว
โซนชอปปิ้งและร้านค้า ประกอบด้วยร้านค้า ตลาดสด และร้านอาหารจำนวนมาก รวมถึงคอมมูนิตี้มอลล์ที่บางกอกแลนด์ทยอยเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง อย่าง บีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ (Bee Hive Lifestyle Mall), โครงการป๊อปปูล่า วอล์ค, คอสโม วอล์ค, คอสโม บาซาร์ ชอปปิ้งมอลล์สูง 10 ชั้น ในพื้นที่กว่า 102,460 ตารางเมตร อีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของบางกอกแลนด์ ที่ประกอบด้วยร้านค้า ร้านอาหารและบริการหลากหลายแบรนด์ โดยมีโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีเนม่า, Jetts 24 Hour Fitness ฟิตเนสที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง และแม็กซ์แวลู ซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่เป็นแม่เหล็กสำคัญ
นอกจากนั้น ยังมีโซนที่สร้างเพื่อเป็นสำนักงานให้เช่าอย่างคอสโม ออฟฟิศ พาร์ค รวมถึงโรงแรมทั้งโนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค และไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค เพื่อรองรับทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่มาใช้บริการในเมืองทองธานี และยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัยศิลปากร, สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, สนามเอสซีจี สเตเดียม, การกีฬาแห่งประเทศไทย และโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ อีกด้วย
แม้ว่าเมืองทองธานีจะมีการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น ทั้งรถยนต์ส่วนตัว รถเมล์ รถตู้ และรถ Shuttle Bus ที่เชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่การไม่มีรถไฟฟ้าเข้ามายังพื้นที่โดยตรงในยุคที่เมืองให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ยังคงเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่บางกอกแลนด์พยายามผลักดันให้ภาครัฐอนุมัติให้มีเส้นทางรถไฟฟ้าเข้ามายังตัวโครงการอย่างต่อเนื่องมาหลายปี
ล่าสุดความพยายามของบางกอกแลนด์สัมฤทธิผล สามารถเติมจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญชิ้นนี้ให้กับเมืองทองธานีได้สำเร็จ พร้อมเดินหน้าสู่การเป็นเมืองที่ครบสมบูรณ์ขึ้นไปอีกขั้น ด้วยโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายที่จะเข้ามายังเมืองทองธานีโดยตรง
ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภาพของทายาท “กาญจนพาสน์” นำโดย ปีเตอร์ และ พอลล์ กาญจนพาสน์ ในฐานะผู้บริหารของบางกอกแลนด์ และบุตรชายของอนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้ก่อตั้งบางกอกแลนด์และเมืองทองธานี ที่ได้ลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ในเครือบีทีเอส กรุ๊ป ที่มีคู่พ่อลูกอย่าง คีรี และ กวิน กาญจนพาสน์ เป็นผู้บริหาร ในโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี” ด้วยงบลงทุนถึง 4,000 ล้านบาท เป็นการตอกย้ำถึงความก้าวหน้าในครั้งนี้
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือรถไฟฟ้าสายรามอินทรา (ช่วงแคราย-มีนบุรี) มีระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรวม 30 สถานี (ไม่รวมสถานีต่อขยาย) โดยมีแผนเปิดให้บริการบางส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคม 2566
สำหรับส่วนต่อขยายที่จะเข้ามายังเมืองทองธานีนั้นประกอบด้วย 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ที่เพิ่งได้รับอนุมัติและจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568 และคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คน/เที่ยว/วัน
โดยงบลงทุน 4,000 ล้านบาทนั้นบางกอกแลนด์ได้อนุมัติเงินสมทบและค่าสิทธิให้กับ NBM ประมาณ 1,293.75 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างและพัฒนาส่วนต่อขยายเมืองทองธานี และได้อนุมัติเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการบำรุงรักษาจำนวน 10.35 ล้านบาทต่อปี นับจากวันที่ส่วนต่อขยายเปิดให้บริการ
นอกจากนี้ บางกอกแลนด์ยังได้ทุ่มงบอีก 1,000 ล้านบาท สร้าง Skywalk เพื่อเชื่อมต่อจากโครงการไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม โรงแรม ร้านค้า และห้างสรรพสินค้าของอิมแพ็คอีกด้วย
ส่วนต่อขยายที่ไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกในการเดินทาง แต่เป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจ
ปีเตอร์ กาญจนพาสน์ แสดงความมั่นใจในการเซ็นสัญญาในครั้งนี้ว่า ส่วนต่อขยายที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ประชาชนทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่ทำงานในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คน รวมทั้งผู้ที่เดินทางมาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมกว่า 10 ล้านคนต่อปี ได้รับความสะดวก และเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรที่มีอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับโอกาสทางธุรกิจนั้น ส่วนต่อขยายจะเข้ามาเสริมธุรกิจต่างๆ ในเมืองทองธานี ทั้งศูนย์การแสดงสินค้า, โรงแรม, คอสโม บาซาร์, คอสโม วอล์ค, เอาท์เล็ต สแควร์, บีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ และคอสโม ออฟฟิศ พาร์ค ให้มีการเติบโตมากขึ้นอีก 10-20%
รวมถึงยังเป็นการต่อยอดและเพิ่มศักยภาพของการเป็นทำเลทองให้กับโครงการใหม่ๆ ที่บางกอกแลนด์เพิ่งเปิดตัวไปอย่าง โมริ คอนโดมิเนียม โครงการที่พักอาศัยจำนวน 1,040 ยูนิต และโรงเรียนสอนประกอบอาหารเลอโนท (Lenôtre Culinary Arts School)
นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าที่ดินเปล่าในเมืองทองธานีที่มีอยู่อีก 600 ไร่ ให้เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งปีเตอร์เปิดเผยว่ามีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นโครง Mixed Use เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
วันนี้ดูเหมือนว่าภาพแห่งความเป็นเมืองที่สมบูรณ์ของเมืองทองธานีจะแจ่มชัดขึ้นเป็นลำดับ แต่เชื่อแน่ว่า เมืองทองธานีจะยังไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้ และในอนาคตเราน่าจะได้เห็นความเคลื่อนไหวอื่นๆ ตามมาอีกแน่นอน.