ชื่อของ “ชุมชนบ้านครัว” น่าจะเป็นที่รู้จักของใครหลายคนในหลากหลายบริบทที่ต่างกันออกไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความเป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดในฝั่งพระนคร เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์และผ่านความท้าทายมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยเสน่ห์แห่งความเป็นชุมชนท่ามกลางความเป็นเมืองใหญ่ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อน
ชุมชนบ้านครัวเป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ที่ทอดตัวขนานไปกับคลองแสนแสบ แวดล้อมด้วยอาคารสูงและทางด่วนพาดผ่าน ในย่านที่เรียกได้ว่าราคาที่ดินสูงลิ่วอย่างราชเทวี มีผู้อาศัยอยู่หลายพันคน ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยแบ่งออกเป็น ชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก และชุมชนบ้านครัวใต้ รวมทั้งสิ้น 1,376 ครัวเรือน มีมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ หรือในอดีตที่รู้จักในชื่อ “สุเหร่ากองอาสาจาม” เป็นศูนย์กลางของชุมชน
ตามประวัติความเป็นมา ชุมชนบ้านครัวเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิมเชื้อสายจามที่อพยพมาจากกัมปงจาม ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่สมัยอยุธยา ก่อนที่จะเข้าร่วมรบในสมัยสงครามเก้าทัพในนาม “กองอาสาจาม” จนได้รับพระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 1 เพื่อตั้งครัวเรือนบริเวณป่าไผ่ทุ่งพญาไท ปทุมวัน-ราชเทวี ริมคลองแสนแสบ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการขุดขยายคลองแสนแสบทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น จึงมีการอพยพแบบยกครัวเข้ามามากขึ้น อันเป็นที่มาของชื่อ “บ้านครัว” และได้นำอุปกรณ์และวัตถุดิบในการทอผ้าเข้ามาพร้อมกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาในราวสมัยรัชกาลที่ 5 ชุมชนบ้านครัวจึงได้เริ่มทอผ้าไหมขึ้นเพื่อค้าขายในหมู่บ้านและนำไปขายทางเรือตามต่างจังหวัด เช่น อ่างทอง อยุธยา โดยยุคแรกเป็นการทอผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ผ้าโจงกระเบนลวดลายต่างๆ ที่ทอด้วยกี่มือ และนับเป็นจุดเริ่มต้นของผ้าไหมแห่งชุมชนบ้านครัว พร้อมๆ กับการมาถึงของราชาผ้าไหมไทยอย่าง เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “จิม ทอมป์สัน”
จุดเปลี่ยนของชุมชนบ้านครัวและวงการผ้าไหมไทยเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจิม ทอมป์สัน ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยและผู้ก่อตั้งบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย มีโอกาสได้เห็นภูมิปัญญาในการทอผ้าของชาวบ้านครัว จึงได้เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนพร้อมพัฒนาเทคนิคในการผลิตผ้าไหม และให้ชุมชนบ้านครัวเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมของแบรนด์ “จิม ทอมป์สัน” จนเป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์และผ้าไหมไทยไปไกลทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นหมู่เรือนไทยของจิม ทอมป์สัน ตั้งอยู่อีกด้านหนึ่งของคลองแสนแสบแบบแนบชิดกับชุมชนบ้านครัว
ภายหลังเมื่อบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยย้ายโรงงานการผลิตไปยังจังหวัดนครราชสีมาและการหายตัวไปของนายห้างจิมที่ชาวบ้านครัวเรียกขาน ทำให้การทอผ้าในชุมชนบ้านครัวที่เคยทำกันแทบทุกครัวเรือนเริ่มกลายเป็นเพียงภาพจำในอดีต พร้อมๆ กับชื่อของชุมชนบ้านครัวที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากการรับรู้ของคนในสังคม ซึ่งปัจจุบันเหลือผู้ผลิตผ้าไหมในชุมชนเพียงรายเดียวเท่านั้น คือ “ผ้าไหมบ้านครัว” โรงทอของคุณนิพนธ์ มนูทัศน์
ชื่อของชุมชนบ้านครัวกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างชุมชนกับรัฐเพื่อคัดค้านการตัดทางด่วนผ่านชุมชนบ้านครัว หรือโครงการทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ (โครงการก่อสร้างถนนรวมและกระจายการจราจร หรือ ซีดีโรด) เมื่อปี 2530 ซึ่งนั่นทำให้สังคมภายนอกได้รับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านครัว ที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชน
ซึ่งโครงการดังกล่าวทำให้ชุมชนบ้านครัวต้องถูกเวนคืนที่ดินและย้ายออกจากที่อยู่เดิมกว่า 800 หลังคาเรือน แต่การอยู่รวมกันมานานถึง 200 ปี ทำให้ชาวบ้านครัวมีความผูกพันกับบริเวณที่ตั้งของชุมชนอย่างยากที่แยกออกจากกันได้ นั่นทำให้ชาวชุมชนลุกขึ้นสู้และเรียกร้องให้รัฐบาลระงับการก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน
การต่อสู้ระหว่างรัฐและชาวชุมชนดำเนินมาอย่างยาวนาน มีการทำประชาพิจารณ์ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาในการทำประชาพิจารณ์ของเมืองไทย มีการนำข้อมูลทั้งด้านเศรษฐกิจ ผังเมือง ประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน ประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับข้อมูลของรัฐมาหักล้างกัน
ซึ่งแน่นอนว่าชุมชนต้องเผชิญกับความกดดันเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยขณะนั้น (รวมถึงปัจจุบัน) กรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องการจราจรเป็นอย่างมาก คนส่วนใหญ่คิดว่าการมีทางด่วนจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ นั่นทำให้ชุมชนถูกมองว่าขัดขวางประโยชน์ของส่วนรวมอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง แต่เมื่อหักล้างข้อมูลกันแล้ว ในที่สุดคณะกรรมการจึงประกาศยุติการก่อสร้าง ถือเป็นชัยชนะของชุมชนบ้านครัวที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน และถ้าใครที่ขับรถผ่านทางด่วนแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสังเกตดูจะเห็นป้ายบนทางด่วนที่มีข้อความ “อุรุพงษ์ – ราชดำริ” แต่ตรงคำว่าราชดำริถูกป้ายสีดำปิดทับเอาไว้นั่นเอง
ตลอดการเดินทางของชุมชนบ้านครัวที่ยาวนานมาถึง 235 ปี แน่นอนว่ากระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นกับชุมชนด้วยเช่นกัน
เรือนไทยไม้ที่เคยเรียงรายอยู่ริมคลองแสนแสบค่อยๆ ผุพัง และหายไปตามกาลเวลา เสียงกี่ทอผ้าเริ่มเงียบหายไป การทำผ้าไหมที่เคยทำกันทุกหลังคาเรือนน้อยลงตามเหตุและปัจจัยข้างต้น ขณะเดียวกันภาษาพูดแบบดั้งเดิมของชาวชุมชนคือภาษาจามก็หายากขึ้นด้วยเช่นกัน
แต่อัตลักษณ์และจิตวิญญาณของชุมชน ที่อยู่บนหลัก “ชุมชน มัสยิด สุสาน คือเรือนร่างเดียวกัน” คือสิ่งที่ยังคงอยู่คู่กับชุมชน นั่นทำให้ชาวชุมชนโดยกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านครัวลุกขึ้นมาฟื้นฟูและบอกเล่าเสน่ห์ของชุมชนให้สังคมได้รับรู้อีกครั้ง ผ่านโครงการ “การอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนบ้านครัวให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม” ที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันอาศรมศิลป์ และงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา
คุณมีนา มูหมัดอารี เลขานุการกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านครัว ให้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวเป็นการปรับปรุงชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านครัว โดยมีการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะรวมถึงบ้านพักอาศัยในชุมชน เช่น
“เปลี่ยนพื้นที่รกร้างหน้ามัสยิดให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่พักผ่อนของชุมชน” พื้นที่ว่างขนาด 25 ตารางเมตร บริเวณด้านหน้ามัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์และโรงเรียนบ้านครัววิทยา อันเป็นพื้นที่ที่เปรียบเสมือนทางเข้าบ้านหลักของคนในชุมชน แต่เดิมรกร้างไร้การดูแล โครงการจึงได้เข้าไปปรับปรุงเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างบรรยากาศให้ดูร่มรื่น เป็นที่นั่งเล่นของคนในชุมชน และเป็นหน้าบ้านที่ดูสวยงามพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนมากขึ้น
“เปลี่ยนพื้นที่รกร้างใต้สะพานให้กลายเป็นแกลเลอรีชุมชน” มีการปรับปรุงใต้สะพานเจริญผลสู่การเป็นอุโมงค์แกลเลอรีแสดงเรื่องราวเอกลักษณ์ วัฒนธรรมชุมชนบ้านครัว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำให้คนภายนอกรู้จักชุมชนบ้านครัวมากยิ่งขึ้น ผ่านภาพวาดทั้ง 6 เรื่องราว ได้แก่ นักรบกองอาสาจาม วิถีชีวิตชุมชน ผ้าไหมบ้านครัว ชีวิตริมน้ำ นาเสปโบราณ (การละเล่นดนตรีพื้นบ้าน) และอาหารพื้นถิ่นของชุมชนที่เป็นตำรับชาวกัมปงจามที่ปัจจุบันหารับประทานได้ยาก ส่วนใหญ่พบเห็นได้ตามงานบุญหรืองานสำคัญของชุมชน เช่น แกงส้มเขมร ข้าวยำเขมร ผัดพริกขิง ซำเบิน บอบอญวน มูดากัมปง บาบอสะแด็ด อาป๋า ปะงะ เป็นต้น
“ปรับปรุงพื้นที่ศาลาท่าน้ำและภูมิทัศน์โดยรอบ” เป็นการปรุงแต่งอาคารเก่าด้วยฝีมือคนบ้านครัวเพื่อต่อชีวิตให้อาคารอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลาท่าน้ำเก่าแก่ของชุมชนที่มีอายุมากกว่า 200 ปี มีการเพิ่มพื้นที่นั่ง ปรับปรุงป้ายศาลา เพิ่มป้ายประวัติศาสตร์ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้น และเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำของชุมชน
“เปลี่ยนทางเดินหลังบ้านให้เป็นหน้าบ้าน” ปรับปรุงทางเดินริมคลองแสนแสบ เชื่อมเส้นทางระหว่างบ้านครัวเหนือและบ้านครัวตะวันตกเพื่อให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวสามารถสัญจรได้ตลอดแนวริมคลอง เพิ่มแสงสว่าง ปรับปรุงรั้ว เพิ่มพื้นที่สีเขียวและป้ายบอกสถานที่สำคัญในชุมชน โดยชุมชนเชื่อว่าเมื่อเกิดการพัฒนาพื้นที่แล้วจะช่วยส่งเสริมวิถีชีวิตคนริมคลองของชาวชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง
“เติมงานศิลปะปรับปรุงซอยทางเข้าชุมชน” ด้วยการทำผนังเซรามิกใช้ลวดลายที่บอกถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนบ้านครัว ทั้งการแต่งกายของคนสมัยก่อน เอกลักษณ์ด้านอาหาร และยังเป็นจุดเช็กอินของชุมชนบ้านครัวอีกด้วย
ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ชุมชนเคยจัดตลาดนัดและ Walking Tour พาผู้ที่สนใจเดินชมวิถีของชุมชน ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่ต้องหยุดไปในช่วงที่โควิดระบาดหนัก โดยหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ทางชุมชนจะกลับมาจัดตลาดนัดอีกครั้ง โดยคุณมีนาคาดว่าจะจัดในวันเสาร์ที่ 2 ของทุกเดือน และจะมีการจัดเดินทัวร์ชุมชน รวมถึงเรียนรู้เรื่องอาหารพื้นถิ่นและรับประทานอาหารร่วมกับชุมชน สำหรับผู้ที่สนใจในวิถีชุมชนและการท่องเที่ยวแนวนี้ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
นอกจากนี้ สิ่งที่ชุมชนมองว่าจำเป็นและจะเข้ามาช่วยเสริมการท่องเที่ยวชุมชนคือการสร้างสะพานไม้ข้ามคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงพิพิธภัณฑ์จิม ทอมป์สัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และเป็นการเชื่อมประวัติศาสตร์สองฝั่งคลอง และยังสามารถเป็นจุดเช็กอินสำหรับผู้มาเยือนในอนาคตได้อีกด้วย
แต่ถึงกระนั้น การเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองใหญ่ที่ราคาที่ดินสูงลิ่วและมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ชุมชนบ้านครัวยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายภายใต้กรอบการพัฒนาเมืองอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ขึ้นอยู่กับว่าการพัฒนาเมืองนั้นจะเป็นการพัฒนาที่ยังบรรจุคำว่า “ชุมชน” เป็นส่วนสำคัญอยู่ในเมือง หรือเป็นการพัฒนาที่เน้นตึกสูงระฟ้าและถนนหนทาง โดยกันชุมชนออกห่างจากคำว่าเมือง.