วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Life > ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กับโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQIA+

ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กับโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคู่รัก LGBTQIA+

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ หรือที่รู้จักในชื่อ “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศทั่วโลก (LGBTQIA+) ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนเราจะได้เห็นสัญลักษณ์สีรุ้งประดับตกแต่งอยู่ในสถานที่ต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องและแคมเปญจากแบรนด์ต่างๆ ที่ส่งเสริมและเพิ่มการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายของกลุ่ม LGBTQIA+

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังสร้างประวัติศาสตร์ในการรับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศถึง 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ….หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม, ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ….., ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) และ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต

แม้ว่าการรับร่างดังกล่าวยังคงต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน แต่ถือเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกสู่ความเสมอภาค และเป็นก้าวสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ ได้รับสิทธิทางกฎหมายในหลายด้าน และมีบทบาทในการดูแลหรือทำธุรกรรมต่างๆ ร่วมกันมากขึ้น ภายใต้กฎหมายในฐานะคู่สมรส

ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าสังคมตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ล่าสุด ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ ไม่น้อย

ข้อมูลล่าสุดจาก LGBT Capital ณ สิ้นปี 2562 ระบุว่าผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ กว่า 371 ล้านคนทั่วโลก (อายุ 15 ปีขึ้นไป) มีอำนาจการใช้จ่ายรวมกันถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยคิดเป็นผู้บริโภค LGBTQIA+ ชาวไทย 3.6 ล้านคน มีอำนาจการใช้จ่ายอยู่ที่ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ประมาณการส่วนแบ่งความมั่งคั่งในครัวเรือนของผู้บริโภค LGBTQIA+ ชาวไทยยังมีถึง 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 จากที่เคยแตะระดับ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 สะท้อนให้เห็นกำลังซื้อของชาว LGBTQIA+ ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องและยังมีพฤติกรรมการใช้เงินในระดับดีอีกด้วย เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย กลายเป็นเป้าหมายที่น่าจับตามองของหลายธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

การซื้อที่อยู่อาศัยถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างครอบครัว แม้ปัจจุบันธนาคารบางแห่งมีการอนุมัติสินเชื่อบ้านการกู้ร่วมกันระหว่างคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่คาดว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะมีบทบาทสำคัญและผลักดันให้ธนาคารตลอดจนสถาบันการเงินเปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ มีสิทธิขอกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคาร/สถาบันการเงินหลายแห่งไม่สามารถให้สินเชื่อแก่ผู้กู้ร่วม LGBTQIA+ ได้ โดยให้เหตุผลว่า ผู้กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกัน คือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายเดียวกัน หรือเป็นชายหญิงที่เป็นคู่สมรสกันนั่นเอง

นั่นทำให้คู่รัก LGBTQIA+ ที่ต้องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการโดยใช้สินเชื่อประเภทอื่นในการซื้อที่อยู่อาศัยแทน อย่างการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือ SME เป็นต้น ซึ่งคู่รัก LGBTQIA+ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรเพื่อประกอบกิจการได้ เช่น สถานประกอบการพร้อมที่ดิน หรือที่ดินเปล่าเพื่อใช้ดำเนินกิจการ

แต่การกู้โดยใช้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME จะให้ช่วงระยะเวลากู้นานสุดเพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ให้ระยะเวลาผ่อนสูงสุดนานถึง 30 ปี อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME ยังมีอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอีกด้วย

ปัจจุบันมีบางธนาคารและสถาบันการเงินที่เปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQIA+ สามารถกู้ร่วมได้ แต่มีรายละเอียดบางอย่างแตกต่างจากการกู้ร่วมของคู่รักชายหญิง เช่น กู้ได้เพียง 90% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย เป็นต้น แต่คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ธนาคารและสถาบันการเงินจะมีมาตรการออกมารองรับผู้กู้ร่วมที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และมีการประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ร่วมชาว LGBTQIA+ อย่างเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิง

นอกจากนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ยังได้เผยแพร่ข้อมูลและคำแนะนำในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคู่รักชาว LGBTQIA+ ที่น่าสนใจในหลากหลายประเด็น ดังนี้

คู่รักชาว LGBTQIA+ กู้ซื้อบ้านอย่างไรให้ผ่าน
ปัจจุบันมีหลายธนาคารที่เปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ กู้ร่วมซื้อบ้านได้เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นค่อนข้างคล้ายคลึงกัน เช่น

– มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

– มีรายได้มั่นคง โดยมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม (บางธนาคารกำหนดให้ผู้กู้หลักมีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป)

– พนักงานประจำต้องมีอายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป (บางธนาคารไม่มีกำหนด)

– ผู้กู้ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามที่ธนาคารกำหนด เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน, บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน เป็นต้น (บางธนาคารไม่มีกำหนด)

นอกจากนั้น ยังต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามปกติ คือต้องมีภาระหนี้ไม่เกิน 30-40% ของรายได้ มีเงินออมอย่างน้อย 10% ของราคาที่อยู่อาศัย รวมทั้งมีบันทึกการเคลื่อนไหวบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน หากมีการเตรียมตัวเบื้องต้นให้พร้อมตามรายละเอียดต่าง ๆ ข้างต้น ก็จะช่วยให้การกู้ซื้อบ้านของชาว LGBTQIA+ ลุล่วงไปได้ด้วยดี

แม้ว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมข้างต้นจะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาในอีกหลายวาระ แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยสู่ความเสมอภาคทางเพศ และหวังว่าในอนาคตเมื่อประเด็นดังกล่าวมีความชัดเจน มาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนความเท่าเทียมในหลายมิติจะชัดเจนขึ้นด้วยเช่นกัน.

ใส่ความเห็น