วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > วังวนวิบากกรรมเด็กจบใหม่ พิษน้ำมันถล่มซ้ำ เตะฝุ่นยาว

วังวนวิบากกรรมเด็กจบใหม่ พิษน้ำมันถล่มซ้ำ เตะฝุ่นยาว

ตลาดแรงงานที่มีลุ้นฟื้นตัวหลังปลดล็อก COVID ถอดแมสก์ กลับต้องเจอวิกฤตน้ำมันแพงครั้งใหญ่ถล่มซ้ำฉุดเศรษฐกิจ ธุรกิจต้องเร่งตัดต้นทุนอีกรอบ หยุดรับคน โดยเฉพาะบรรดาบัณฑิตจบใหม่ที่ไหลสู่ตลาดเฉลี่ยปีละเกือบ 5 แสนคน มีแนวโน้ม “เตะฝุ่น” ว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีก 1-2 ปี

ล่าสุดมีข้อมูลวิจัยของสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง Youth unemployment ส่องตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ยุค COVID-19 ระบุว่า การว่างงานของเด็กจบใหม่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาแล้วระยะเวลาหนึ่งและถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของ COVID-19 ก่อนเกิดวิกฤตน้ำมันแพงในขณะนี้ โดยจำนวนเด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่มขึ้นมาก เห็นชัดเจนช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 สูงถึง 290,000 คน และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุดมศึกษา

แม้ปัจจุบันภาพรวมการว่างงานทุเลาลงบ้าง แต่ยังสูงกว่าระดับเฉลี่ยก่อนการระบาดของ COVID-19 และหากคิดเป็นอัตราการว่างงานแล้ว กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงถึง 7.2% มากกว่าอัตราการว่างงานของแรงงานทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 1.6%

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานในกลุ่มเด็กจบการศึกษาใหม่ของไทยอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ปัญหาตำแหน่งงานว่างไม่สอดคล้องกับทักษะ วุฒิการศึกษา รวมถึงค่านิยมของเด็กจบใหม่ โดยความต้องการแรงงานส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคเป็นกลุ่มอาชีพพื้นฐาน เช่น แรงงานทั่วไป แม่บ้าน เน้นวุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ขณะที่บางบริษัทขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมเมอร์ Data Scientist ซึ่งค่อนข้างหายากในภูมิภาค เป็นสาขาที่คนจบการศึกษาน้อย ซึ่งมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้อย่างน้อยอีก 2-3 ปี

หากดูสัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษา ส่วนใหญ่มากกว่า 32% จบสาขาบริหารธุรกิจและกฎหมาย ส่วนกลุ่มวิศวกรรม อุตสาหกรรมและการก่อสร้าง มีสัดส่วน 13% ด้านศิลปะ 11% ด้านการศึกษา 10% ด้านสังคมศาสตร์ วารสารและสารสนเทศ 8% และอื่นๆ อีก 26%

เมื่อตลาดแรงงานหดตัว ไม่ “คลิก” กัน เด็กจบใหม่บางส่วนจึงนิยมออกไปประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการค้าและบริการ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 46,000 คนในปี 2562 เป็น 56,000 คน ในปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ หลายคนประสบความสำเร็จ แต่อีกหลายคนไม่สามารถเอาตัวรอดและต้องปิดตัวไปในที่สุด

ปัจจัยต่อมา ธุรกิจปรับกระบวนการทำงาน โดยลดการพึ่งพาการใช้คน หันไปลงทุนด้านเทคโนโลยี/ดิจิทัลมากขึ้น บางบริษัทปรับลดพนักงานและให้พนักงานทำหลายหน้าที่มากขึ้น ใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานในกระบวนการทำงานต่างๆ เช่น งานระบบ IT งานด้านบริหาร งาน admin งานเอกสาร ลดแรงงานจำนวนมาก เพื่อตัดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

ตลาดแรงงานจึงมีการแข่งขันเข้มข้นขึ้น เด็กจบใหม่มีโอกาสเข้าทำงานยากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่เคยมีประสบการณ์ และสาขาที่ยังมีจำนวนผู้ว่างงานสูง คือ ภาคบริการและการค้า ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เด็กจบใหม่ไทยเลือกศึกษา เพราะต้องใช้เวลาฟื้นตัว และอาจซ้ำเติมปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่มากขึ้น

ทั้งนี้ ธปท. พบว่า กลุ่มบัณฑิตที่จบระดับปริญญาตรีในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานและว่างงานมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 80%, 73% และ 67% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2562 ช่วงก่อน COVID-19 แพร่ระบาด นอกจากนั้น รายงานการย้ายถิ่นของประชากรปี 2563 พบว่า กลุ่มคนอายุ 15-24ปี มีอัตราการโยกย้ายกลับภูมิภาคในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 มากที่สุด และคาดว่ายังไม่สามารถหางานทำได้จนถึงปัจจุบัน

ส่วนเขตภาคกลางรวมถึงกรุงเทพฯ ปรับดีขึ้นบ้าง เนื่องจากธุรกิจที่รองรับกลุ่มเด็กจบใหม่มีมากกว่าในภูมิภาคและกลับมาดำเนินการได้ปกติไวกว่าภูมิภาคอื่น จากลักษณะของธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความต้องการจากต่างประเทศ ซึ่งมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามเร่งหางานรองรับส่วนหนึ่ง เช่น การเปิดโครงการ Co-payment สนับสนุนค่าจ้างไม่เกิน 50% ให้นายจ้างที่จ้างเด็กจบใหม่ตามวุฒิการศึกษาและการจ้างงานจากหน่วยงานภาครัฐในลักษณะสัญญาชั่วคราว 1 ปี

ล่าสุด คณะรัฐมนตรียังทุ่มงบประมาณมากกว่า 3,500 ล้านบาท ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) ใน 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเร่งการจ้างงานประชาชนทั่วไปและบัณฑิตจบใหม่ จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350 คน กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน โดยจะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ไปขับเคลื่อนภาคการผลิตและบริการในระดับพื้นที่

กลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ บัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและประชาชนในพื้นที่ โดยวางแผนจัดกิจกรรมไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและบริการ การจัดการตลาด การจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การขนส่งและการกระจายสินค้า ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. 2565

แต่ทว่าทุกอย่างต้องดูการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจและปัญหาด้านต้นทุนพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีผลโดยตรงต่อราคาวัตถุดิบต่างๆ และส่งต่อถึงราคาสินค้า ด้านหนึ่งกระทบต้นทุนของผู้ประกอบการ อีกด้านหนึ่ง ค่าครองชีพที่สูงขึ้นกระทบกำลังซื้อลดลงเป็นวังวนกลับไปหาผู้ประกอบการ

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป คือการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการหรือฝ่ายนายจ้างมีท่าทีคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 331 บาทเป็น 492 บาททั่วประเทศตามข้อเสนอของฝ่ายลูกจ้าง

ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดได้เร่งสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้าง ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า ช่วงปลายเดือนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด 77 จังหวัด เพื่อสรุปตัวเลขการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากสภานายจ้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย ผู้ประกอบการ และนายจ้าง หารือร่วมกันแล้ว โดยยืนยันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแน่นอน แต่ไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด

เมื่อได้ข้อสรุปตัวเลขชัดเจน กระทรวงแรงงานจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือน ต.ค. 2565 และน่าจะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2566 แต่การพิจารณาทั้งหมดต้องดูสถานการณ์เงินเฟ้อและจีดีพีของประเทศ ซึ่งนั่นเป็นวังวนวิบากกรรมที่ยังก้าวข้ามไม่ได้ จนกว่ารัฐบาลจะมีแนวทางบริหารและแก้เศรษฐกิจได้ตรงจุดปัญหาอย่างแท้จริง.

ใส่ความเห็น