วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > คาด Wellness Tourism ฟื้นตัวหลังโควิด อีกหนึ่งความหวังทางเศรษฐกิจของไทย

คาด Wellness Tourism ฟื้นตัวหลังโควิด อีกหนึ่งความหวังทางเศรษฐกิจของไทย

ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” หรือ Wellness Tourism กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่หันมาให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองกันมากขึ้น แต่เมื่อการเดินทางทั้งภายในและระหว่างประเทศถูกจำกัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็เกิดการชะงักงันไปด้วยเช่นกัน

จนเมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลายและสามารถกลับมาเดินทางได้อีกครั้ง ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 เอง ก็เป็นตัวกระตุ้นให้กระแสการดูแลสุขภาพทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์และคาดหวังกันว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะยิ่งกลับมาคึกคัก และจะกลายเป็นฟันเฟืองตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

จากการประเมินของสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute: GWI) พบว่า ก่อนโควิด-19 ระบาด มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าสูงถึง 617,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2562 โตขึ้น 720,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 8.1% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าโดยรวมของธุรกิจเวลเนสทั้งหมดที่เติบโตปีละ 6.4% ในขณะที่ปี 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 พบว่ามูลค่าตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพลดลงเหลือเพียง 435,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตกลงมาถึง 39.5%

แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มีมาตรการผ่อนคลายต่างๆ จึงมีการคาดการณ์กันว่า ปี พ.ศ.2564 มูลค่าตลาดจะกลับมาอยู่ที่ 652,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกลับมาเติบโตที่ 20.9% อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ต่อไปว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดไปอีกหลายปี โดยจะเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 20.9% และมีมูลค่าตลาดถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ.2567

ทั้งนี้จากสถิติที่ผ่านมายังพบว่า ภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก และประเทศไทยเองก็ถือเป็นหมุดหมายเบอร์ต้นๆ สำหรับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นรองเพียง จีน ญี่ปุ่น และอินเดียเท่านั้น เพราะมีข้อได้เปรียบในหลายๆ ด้าน โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุอีกว่า ปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสูงถึง 12.5 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 409,000 ล้านบาท และมีการจ้างงานสูงถึง 530,000 คน

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็จะกลับมาและกลายเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญที่เข้ามาช่วยสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย อีกทั้งยังจะสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้อีกมาก เพราะนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งสูงกว่านักท่องเที่ยวปกติถึง 53% หรือประมาณ 50,000 บาทต่อการท่องเที่ยวหนึ่งครั้ง

นพ. ตนุพล วิรุฬหการุญ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) ให้ทัศนะถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไว้ว่า สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นักท่องเที่ยวที่มาไม่ใช่คนป่วย แต่ต้องการมาเที่ยวพร้อมกับดูแลสุขภาพไปในตัว ซึ่งแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน

บางกลุ่มต้องการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารเกษตรอินทรีย์ อาหารท้องถิ่นที่มีเรื่องราว รวมถึงต้องการการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การใช้สมุนไพร แช่น้ำพุร้อน เป็นต้น

บางกลุ่มต้องการอาหารทางใจ ผ่อนคลายสุขภาพจิต ลดความเครียด ซึ่งประเทศไทยมีทางเลือกมากมาย เช่น คอร์สปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ โยคะ ไท้เก๊ก การนวดแผนไทย ในขณะที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วัดวาอาราม เรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่น มาพักแบบโฮมสเตย์กับชาวบ้าน เพื่อหลีกหนีจากชีวิตสมัยใหม่ที่เร่งรีบ

บางกลุ่มอาจต้องการมาเที่ยวและหากิจกรรมออกกำลังกายต่างๆ เช่น เดินป่า ปีนเขา เที่ยวชมธรรมชาติ ซึ่งก็ถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเช่นกัน เพราะเป็นการท่องเที่ยวแบบได้ผ่อนคลายและไม่เร่งรีบจนเกินไป

ทั้งนี้อาจมีการพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ ตรวจระดับไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด การแพ้อาหาร หรือเจาะรหัสพันธุกรรม เพื่อดูความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ และมาฟังผลการตรวจสุขภาพ ตลอดจนวางแผนการดูแลสุขภาพในอนาคตก่อนเดินทางกลับประเทศ

จากขอบข่ายความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มรักษ์สุขภาพ จะเห็นว่ามีหลากหลายธุรกิจและบริการที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สปา กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่สามารถใช้โอกาสนี้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจนความพร้อมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้

คำถามต่อมาคือ ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร และประเทศไทยควรจะขับเคลื่อนไปในทางไหน เพื่อชิงโอกาสเมื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ในช่วงขาขึ้น

นพ. ตนุพล กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือเพื่อพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน โดยเน้นรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพไม่เน้นปริมาณ และพยายามดึงจุดเด่นของประเทศมาพัฒนาเพื่อให้เป็นจุดขายสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น สถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม อาหารไทยที่มีเอกลักษณ์และดีต่อสุขภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์แผนไทย นวดไทย การบริการ และอัธยาศัยอันดีซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย

นอกจากนี้ การบริการด้านสุขภาพของไทยและการรักษาพยาบาล ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี เพราะมีคุณภาพ มีมาตรฐาน ปลอดภัย มีแพทย์ที่มีความสามารถ และค่าใช้จ่ายถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศฝั่งยุโรป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดแข็งของประเทศที่สามารถใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มรักษ์สุขภาพได้ทั้งสิ้น

สำหรับผู้ประกอบต่างๆ ควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาสินค้าและบริการของตนเพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างมาตรฐาน แม้จะเป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ แต่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาใช้บริการได้ โดย นพ.ตนุพล ได้แนะนำไว้ว่า

“ธุรกิจโรงแรม ที่พัก อสังหาริมทรัพย์” ควรปรับสถานที่ให้เอื้อกับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น มีราวจับตามที่ต่างๆ ทั้งในห้องน้ำ ทางขึ้นลงบันได ติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงในบริเวณพื้นต่างระดับ เพื่อป้องกันการหกล้ม เพิ่มทางลาดเอียงสำหรับรถเข็นและเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ

อุปกรณ์ภายในที่พัก เช่น เตียง ฟูก หมอน ควรมีความแข็งความนุ่มหลายระดับตามความต้องการของผู้มาพัก เพราะบางคนมีข้อจำกัดทางสุขภาพ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ เป็นต้น ควรมีผ้าม่านกันแสงแดด เพื่อให้การนอนมีสุขภาพ

อาจมีการเพิ่มอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายภายในห้องพัก และควรฝึกพนักงานให้มีทักษะในการช่วยชีวิต เช่น การปั๊มหัวใจ ติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจ (AED) มีรถเข็นไว้คอยบริการผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำอย่างแชมพู สบู่ ควรเป็นมิตรกับธรรมชาติ และปราศจากสารเคมี รวมถึงอาจจะร่วมมือกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล เพื่อออกแบบบริการในการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรสำหรับผู้มาพัก เช่น การตรวจร่างกายประจำปี เป็นต้น

“ธุรกิจร้านอาหาร” เนื่องจากนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมักเป็นกลุ่มคนที่มีอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นร้านอาหารควรเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ เน้นอาหารกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ปราศจากยาฆ่าแมลงและสารเคมี ลดการใช้น้ำตาล เกลือ ของมัน อาหารแปรรูป เน้นพืชผักสวนครัว ธัญพืช ผลไม้ ที่บำรุงสุขภาพแทน และอาจจะปรับตัวเมนูให้สะดวกในการอ่าน มีข้อมูลโภชนาการ ระบุปริมาณพลังงาน ไขมัน น้ำตาล โซเดียม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นร้านอาหารที่สนับสนุนเรื่องสุขภาพ

ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ สามารถเพิ่มโปรแกรมที่ช่วยเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ เช่น เดินป่า ดำน้ำ ไท้เก๊ก นั่งสมาธิ โยคะ สปา นวด แช่น้ำพุร้อน อบสมุนไพร ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวบ้าน รวมถึงมีโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้ทดลองปลูกผัก ดำนา ประกอบอาหารเอง เป็นต้น ให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนดีต่อสุขภาพกายและใจทั้งสิ้น

ถ้ามองในส่วนของภาครัฐ เราพบว่าภาครัฐเองก็มีนโยบายที่จะพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของโลก (Medical and Wellness Hub) ภายในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2559-2568 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพในเชิงของการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

โดยมีแผนพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติใน 4 ด้านหลัก คือ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

และถ้านโยบายใหญ่จากภาครัฐข้างต้นมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ประกอบกับภาคเอกชนที่เตรียมความพร้อมให้กับตัวเองอยู่เสมอ โอกาสในการขยายตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ เพื่อสร้างเม็ดเงินให้ไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ก็คงเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก.

ใส่ความเห็น