หลายคนมักจะคุ้นกับคำสอน คำเตือนตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ ว่า มื้อเช้านั้นเป็นมื้อที่สำคัญมาก เราจึงควรรับประทานอาหารในมื้อเช้าเสมอ นั่นเพราะร่างกายและสมองของเราควรได้รับสารอาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ การทำงาน
ในยามเช้า เรามักคุ้นชินกับมื้อเช้าทั้งแบบไทย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือมื้อเช้าแบบฝรั่ง เช่น ขนมปัง แฮม ไข่ดาว ฮอตดอก หรือในบางคนอาจทำเพียงดื่มกาแฟคู่กับปาท่องโก๋ ซาลาเปาทอด ก็สุดแท้แต่ความสะดวกและความชื่นชอบของแต่ละคน
วันนี้ “ผู้จัดการ 360 องศา” จะมาเปิดเผยอีกแง่มุมหนึ่งที่ผู้อ่านควรทราบ ว่าเมนูอาหารในมื้อเช้าบางประเภทนั้นไม่เหมาะที่จะถูกเลือกมารับประทานเป็นมื้อแรกของวัน แม้จะเอร็ดอร่อย กลิ่นหอมชวนรับประทาน แต่ก็มีเหตุผลประกอบให้ได้รับทราบกันว่า เพราะอะไรเมนูคุ้นชินเหล่านี้ จึงไม่เหมาะที่จะถูกเลือกเป็นมื้อเช้า
1. อาหารแปรรูป ได้แก่ แฮม ไส้กรอก เบคอน หรือเนื้อสัตว์ที่ถูกเปลี่ยนรูปไปจากเดิม ซึ่งอาหารในกลุ่มนี้เป็นตัวเลือกที่หลายๆ คนชอบ เพราะให้ความสะดวกสบายในการประกอบอาหารในช่วงเวลาเร่งรีบ แต่ต้องบอกว่า อาหารแปรรูปเหล่านี้ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะนอกจากมีโซเดียมในปริมาณที่สูงแล้ว ยังมีสารไนไตรต์ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย
2. ซีเรียล ซีเรียลเกือบทุกชนิดในท้องตลาดส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมหลักเป็นแป้งและน้ำตาล แม้บางยี่ห้อจะโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพืชเต็มเมล็ดก็ตาม
3. ปาท่องโก๋ อีกหนึ่งอาหารเช้าที่ครองใจใครหลายคน เมื่อไหร่ก็ตามที่ดื่มกาแฟ น้ำเต้าหู้ หรือรับประทานโจ๊กเป็นมื้อเช้า ปาท่องโก๋ คือหนึ่งในอาหารที่มักจะขาดไม่ได้ แต่ปาท่องโก๋ทำมาจากแป้งล้วนๆ อีกทั้งยังเต็มไปด้วยไขมันจากการทอดด้วยน้ำมัน
การบริโภคปริมาณมากๆ เป็นประจำทุกวันอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูงได้ เพราะแป้งจากปาท่องโก๋จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งร่างกายจะดูดซึมอย่างรวดเร็ว ทว่า เพียงไม่นานหลังจากที่บริโภค คุณอาจรู้สึกฉุนเฉียว ไม่สดชื่น และเหนื่อยง่ายขึ้น
4. ขนมครก ความหอมหวานของขนมครกทำให้หลายคนมักจะติดใจได้ไม่ยาก แต่อย่างที่ทราบว่า ขนมครกนั้นทำมาจากแป้ง กะทิ และน้ำตาล ซึ่งส่วนผสมทุกอย่างนั้นส่งผลให้น้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากๆ ในตอนเช้าจะทำให้ไขมันในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่รู้ตัว
5. ข้าวเหนียวหมูปิ้ง แม้ว่าจะมีโปรตีนจากหมู แต่ต้องไม่ลืมว่าอาหารปิ้งย่าง มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งบางชนิด นอกจากนี้ เครื่องปรุงรสที่ให้รสหวานเค็มแบบเข้มข้นนั้น แปลว่าให้โซเดียมสูงมาก แน่นอนว่าไม่ดีต่อร่างกายในกรณีที่รับประทานในปริมาณมากเกินไป ขณะที่ข้าวเหนียวอาจเป็นตัวร้ายในเมนูนี้ เพราะข้าวเหนียวนั้นมีค่า GI (Glycemic index) หรือดัชนีน้ำตาลที่สูงมาก อีกทั้งยังเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ง่ายกว่าข้าวชนิดอื่น เช่น ข้าวไม่ขัดสี ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง
ดังนั้น การรับประทานข้าวเหนียวในมื้อเช้าจึงไม่เหมาะสมนัก แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานมักจะเลือกรับประทานข้าวเหนียวในมื้อเช้าหรือแทบจะทุกมื้ออาหาร นั่นเพราะกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะมีการใช้พลังงานมากเกือบตลอดทั้งวัน การบริโภคข้าวเหนียวจึงเหมาะสมกว่า เพราะให้พลังงานมากกว่าอาหารชนิดอื่น
6. ธัญพืชอัดแท่ง แม้ว่าธัญพืชจะให้คุณประโยชน์อย่างมาก แต่ธัญพืชอัดแท่งนั้น จะมีส่วนประกอบที่ทำให้ธัญพืชจับตัวกันเป็นก้อนได้ นั่นคือ น้ำตาล ไซรัป นั่นอาจทำให้คุณได้รับน้ำตาลมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว
7. เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำผลไม้ ชานม กาแฟใส่น้ำตาล หลายคนมักจะอ้างกับตัวเองว่า การดื่มเครื่องดื่มรสหวานในยามเช้านั้น ช่วยให้รู้สึกตื่นตัวและสดชื่น กระปรี้กระเปร่า นั่นเพราะน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่มทำให้ร่างกายสดชื่น แต่จะมีเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และการนำน้ำตาลเข้าร่างกายในเวลาเช้า จะทำให้ร่างกายสร้างไขมันได้มากกว่าปกติ
ทางที่ดีควรเปลี่ยนมาดื่ม ชา กาแฟ ที่ไม่ใส่น้ำตาล หรือน้ำผักทำเอง โดยเลือกผักที่ไม่ให้ความหวานจะดีต่อสุขภาพมากกว่า
8. นม โยเกิร์ตที่มีรสหวาน แม้ว่านมและโยเกิร์ตจะดีต่อสุขภาพ แต่การดื่มนมในขณะท้องว่าง อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด จุก เสียด ขณะที่โยเกิร์ตแม้จะมีจุลินทรีย์ดี แต่ส่วนมากแล้วในโยเกิร์ตจะมีน้ำตาลสูง ซึ่งหากต้องการรับประทานโยเกิร์ตในมื้อเช้าจึงควรเลือก กรีกโยเกิร์ตจะเหมาะกว่า
เพราะอาหารที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และสะสมไขมันได้ค่อนข้างง่าย หากคุณรับประทานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า อาหารดังกล่าวไม่เหมาะที่จะรับประทาน คุณสามารถเลือกมารับประทานได้ในมื้ออื่นๆ
อาหารที่เหมาะจะเลือกรับประทานในมื้อเช้า ได้แก่ ไข่ต้ม ปลานึ่ง ไก่ย่างปรุงรสแต่น้อย ขนมปังไม่ขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีต หรือข้าวไม่ขัดสี เป็นต้น
You are what you eat เลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ.