“….เคยคิดถึงคำของในหลวง ร.9 การเกษตร ถ้าอยู่ไม่พอเพียง เป็นต้นทุนมหาศาล การเปิดสวนยายไสวจึงไม่ได้อยากเก็บเงินลูกค้ามากมาย แค่อยากให้สวนเลี้ยงตัวเองได้ คนในสวนมีรายได้ และเป็นสถานที่ให้ผู้คนมาพักผ่อน มีความสุขเหมือนเราที่มีสวนอยู่หลังบ้าน”
น้ำผึ้ง ใจใหญ่ หนึ่งในสี่พี่น้องเจ้าของสวนยายไสว กล่าวกับ “ผู้จัดการ360” ถึงแนวคิดสำคัญของคาเฟ่และสวนเกษตรธรรมชาติของผู้รักสุขภาพแห่งนี้ ซึ่งพลิกชีวิตเธอและน้องสาวอีก 3 คน จากพนักงานออฟฟิศที่ไม่เคยคิดจะจับจอบเสียมขุดดินปลูกพืช กลายมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว
เธอย้อนที่มาที่ไปเมื่อ 5 ปีก่อนว่า คุณยายไสว จิตรานุเคราะห์ ทิ้งที่ดินมากกว่า 10 ไร่ ย่านคลองสามวา ให้หลาน 4 คน ตอนนั้นทุกคนคิดไว้ 2 ทาง คือ ขาย หรือทำอะไรสักอย่าง แต่เมื่อสรุปไม่ขาย เวลานั้นคิดแค่ว่า ลองปลูกพืชผัก ซึ่งต้องจัดงานใหญ่ทันที เพราะสภาพที่ดินเริ่มต้นจากติดลบ สภาพทรุดโทรมมาก
น้ำผึ้งเล่าว่า คุณยายไม่ได้ปล่อยเช่าที่ดิน แต่เป็นลักษณะสังคมไทยมากน้ำใจในยุคสมัยก่อน ใครรักกัน ชอบพอกัน อยากขอเข้ามาอยู่อาศัย มาปลูกพืชผัก คุณยายไสวใจดีไม่คิดเก็บเงินใดๆ มองเพียงว่า ที่ดินสามารถสร้างประโยชน์ ให้ผลผลิตกับเพื่อนบ้าน แต่ทว่าระยะเวลาหลายปี หลายคนปลูกพืชผักและขุดหน้าดินไปขายเกือบหมด
ทั้งสี่คนจึงต้องปรับพื้นที่ขนานใหญ่และทุกคนไม่เคยทำการเกษตร พี่สาวคนโตทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อีกคนทำงานด้านคอมพิวเตอร์ อีกคนทำงานด้านบัญชี ส่วนอีกคนทำงานด้านบริการ แต่อาศัยการค้นหาความรู้ด้านการเกษตรผ่านอินเทอร์เน็ต ไปเรียนคอร์สการเกษตรในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และการลองผิดลองถูก
“หลังลงทุนเงินก้อนแรกปรับหน้าดิน เราลองผิดลองถูก ปลูกพืชกินเองเหมือนมีสวนหลังบ้าน ผลผลิตที่เหลือเล็กน้อยแจกจ่ายให้คนแถวๆ นั้นบ้าง จนผลผลิตมากขึ้นและลองวางขายหน้าสวน ในที่สุดมีเสียงตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ และถามกลับมา ทำไมไม่ทำเป็นแหล่งให้คนมาหาซื้อได้ นั่นคือที่มาของการเปิดหน้าร้านสวนยายไสว”
พอทำหน้าร้านปุ๊บ เกิดคอนเซ็ปต์ใหม่อีก เมื่อลูกค้าอยากเข้ามานั่งเล่นในสวนด้วย เป็นที่มาของการเปิดคาเฟ่ ขายอาหาร กาแฟ เบเกอรี่ และจำหน่ายพืชผักผลไม้ พร้อมๆ กับการเปิดสวน จากช่วงแรกทำกันเองเหมือนสวนหลังบ้าน ทำไปเรื่อยๆ ทำสนุกๆ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงห่าน เลี้ยงปลา กลายมาเป็นสวนเกษตรธรรมชาติ เกิดคอนเซ็ปต์การสร้าง Activity ต่างๆ เกี่ยวกับธรรมชาติ ขยายไอเดียเป็น “คาเฟ่ในสวน”
ปัจจุบันสวนยายไสวมีการพัฒนาที่ดิน 10 กว่าไร่ รองรับกลุ่มลูกค้าย่านใกล้เคียง กลุ่มครอบครัว เด็ก ผู้สูงอายุ เข้ามารับประทานอาหาร แวะสวนหลังบ้าน โดยแบ่งพื้นที่หลักๆ ได้แก่ พื้นที่นั่งเล่น นั่งสมาธิ ในสวน โซนกิจกรรมเล็กๆ ในสวนให้เด็กๆ เล่น วาดรูป ให้ผู้ใหญ่ตัดผักสลัด พายเรือ เลี้ยงสัตว์ ชื่นชมธรรมชาติ ส่วนอีกโซนเป็นพื้นที่คาเฟ่ อาหาร เบเกอรี่ เครื่องดื่ม
เธอเล่าถึงการวางแผนการปลูกพืชเกษตรมาจากสภาพที่ดิน ความสูงต่ำ ปริมาณน้ำ โดยเริ่มทดลองปลูกส้มโอ มะนาว มะม่วง กล้วย เพราะถือเป็นพืชเกษตรหลัก โดยเฉพาะต้นกล้วยถือเป็นพืชพี่เลี้ยงและดีไซน์สินค้าเพิ่มมูลค่าได้ เช่น กล้วยทับ กล้วยเชื่อม จากนั้นค่อยๆ ขยายสวนสลัดผัก ซึ่งมาจากความต้องการของลูกค้า รับประทานง่าย และเป็นเทรนด์สุขภาพ
“ยอมรับเลย ทำการเกษตร มีความรู้แค่ไหน ต้องลองผิดลองถูกทุกวัน ไม่มีวันจบตั้งแต่การปรับพื้นที่ ขุดหลุม กว่าจะเป็นรูปร่างได้ใช้เวลา 1-2 ปี และเริ่มต้นความรู้แบบติดลบ โดยเฉพาะการไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง วันหนึ่งมีเพลี้ย อีกวันมีสิงสาราสัตว์เข้ามา ต้องคิดตลอด แก้ไขกันไปถึงปัจจุบัน”
ขณะเดียวกันเรื่องการตลาด ลองผิดลองถูกเช่นกัน แรกๆ เข้าใจว่าจะเป็นสถานที่เช็กอินถ่ายรูปของกลุ่มวัยรุ่น แต่เอาเข้าจริงพบว่า เป็นกลุ่มครอบครัว ต้องตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ เน้นเด็ก ผู้ใหญ่ และเทรนด์เรื่องสุขภาพ ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจความเป็นสินค้าของสวนยายไสวภายใต้แนวคิด Green & Clean ไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยธรรมชาติและเลี้ยงสัตว์ปล่อยตามธรรมชาติ 100%
“เราต้องทำให้เขาลองซื้อและบริโภค เขาจะรู้ความแตกต่างทันที ความสด รสชาติ แม้ราคาสูงกว่าท้องตลาด อย่างไข่เป็ด ราคาตลาดอยู่ที่ 5 บาท แต่ของเรา 7 บาท สุดท้ายเมื่อลูกค้าได้ลอง เขาไม่เปลี่ยนไปซื้อในตลาดทั่วไป เพราะไข่เป็ดที่นี่สดมาก หรือมะนาว ลูกค้าหลายคนมาสัมผัสรู้ความต่าง แม้หน้ามะนาวแพง ลูกค้ายังกลับมาซื้อ เพราะรู้ที่มาของคุณภาพสินค้า ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าจริงๆ และการเรียนรู้เรื่องการใช้สารเคมีทำให้เราเองยังไม่กล้าไปรับประทานข้างนอกเหมือนกัน”
ขณะที่อีกหนึ่งจุดขายที่สร้างแรงดึงดูดอย่างมาก คือ เหล่าฝูงเป็ดและฝูงห่านที่สร้างความบันเทิงและคุ้นเคยกับแขกทุกคนที่มาเยือน
“การเลี้ยงเป็ดมาจากความชอบส่วนตัวและที่นี่เป็นแหล่งน้ำ แถมจังหวะโอกาสมีคนเอาเป็ดมาให้ฝูงหนึ่ง เริ่มจาก 25 ตัว จนออกไข่ขยายเพิ่มเติม ส่วนห่าน จริงๆ อยากให้เฝ้าสวน แต่เพราะเราเลี้ยงปล่อย อารมณ์ดีมากเหมือนเป็ด และตอนนี้กำลังวางแผนเลี้ยงไก่ เพื่อขายไข่ไก่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและความต้องการของตัวเอง แต่ต้องปรับพื้นที่ก่อน เพราะไก่เป็นตัวทำลายพืชผักสวนครัวมาก”
อย่างไรก็ตาม แม้พยายามจัดการเพาะปลูกและบริหารผลผลิต แต่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของการทำสวนเกษตร การบริหารซัปพลายดีมานด์ ช่วงแรกผลผลิตล้นหลาม แต่ตอนนี้ไม่เพียงพอ ช่วงฤดูฝน บางทีมากไป เพราะการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ทุกอย่างขึ้นกับธรรมชาติ ไม่คงที่ และแรงงานจำกัด คือ พี่น้อง 4 คนและพนักงานอีก 3 คน รวม 7 คนเท่านั้น ทุกอย่างต้องบาลานซ์ให้ได้มากที่สุด
หากถามว่า ตั้งแต่เปิดสวนยายไสวเกือบ 5 ปี ถึงจุดคุ้มทุนและสวนสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้หรือยัง คุณน้ำผึ้งยอมรับว่า “ยัง” แม้สามารถประคองผ่านช่วงโควิดไปได้ แต่การทำสวนเกษตรแบบธรรมชาติถือเป็นการลงทุนที่อลังการมาก
“คาเฟ่สร้างรายได้ระดับหนึ่ง แต่สวนเป็นอะไรที่อลังการมาก มีรายได้คนงานทุกเดือน คำนวณง่ายๆ แค่อาหารเป็ดกระปุกละ 20 บาท ไม่ได้อยู่แล้ว สวนแทบไม่ได้อะไร ยังถือเป็นเรื่องยาก อย่างการตัดหญ้าทุก 1-2 วัน ใน 1 อาทิตย์ ทั้งสิบไร่ เกิดเป็นต้นทุน แต่เราไม่มีรายได้จากการตัดหญ้าและผลผลิตของสวนยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย แค่ปริ่มๆ”
ดังนั้น แนวทางในอนาคตนอกจากความพยายามบริหารผลผลิตให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ยังวางแผนขยายกิจกรรมที่ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพของกลุ่มผู้ใหญ่ เช่น สวนสุขภาพ จัดกิจกรรมออกกำลังกาย เปิดคอร์สสอน และเสริมสิ่งก่อสร้างรองรับ Activity ต่างๆ
ถามว่า สิ่งที่ผลักดันให้เดินหน้าการทำสวนเกษตรทั้งที่ดูมีโจทย์ให้คิดและแก้ตลอดเวลา
คุณน้ำผึ้งตอบด้วยเสียงมุ่งมั่นว่า ต้องไม่ท้อ
“เมื่อก่อนทำทุกวันแต่เหมือนไม่ได้อะไร แต่เมื่อหยุดคิดจากวันแรก ติดลบทุกอย่าง วันนี้ขยับมาเยอะ ไม่ใช่ไม่มีอะไร ผืนดินเปลี่ยนไปเยอะ ติดลบเรื่องความรู้กลายเป็นมีความรู้ระดับหนึ่ง สามารถสร้างผลผลิตให้ลูกค้า เรื่องเลย์เอาต์ จากเดิมสภาพที่ดินเดินไม่ได้เลย แต่วันนี้ลูกค้าอยากเดินเข้ามาในสวน บางวันรู้สึกท้อ ต้องตัดหญ้า แต่เมื่อได้ยินลูกค้าชม อยากเที่ยวสวน เป็นกำลังใจ ไม่ได้ใช้มูลค่าเงินเป็นตัววัดสำคัญ”
เธอยังย้ำทิ้งท้ายอีกว่า จริงๆ เคยวางแผนอยากทำรีสอร์ตเล็กๆ ริมทะเล และเป็นคนกลัวแมงมุม ทุกสิ่งอย่างในสวนเกษตร แต่เมื่อให้สัญญากับตัวเองว่า วันหนึ่งต้องทำที่ดินผืนนี้ขึ้นมาให้ได้ ไม่อย่างนั้นต้องขาย โจทย์ข้อนี้ฝังในหัวตลอด เป็นแรงผลักดันสำคัญบวกกับแนวคิด “เกษตรพอเพียง” ทำให้คิดว่า การเกษตรไม่ใช่เรื่องจากศูนย์แล้วไปร้อย มีอุปสรรค แต่คำว่า “พอเพียง” ต้องค่อยๆ ทำ อย่าร้อน ถ้าร้อนจะไม่สำเร็จ
เช่น อยากได้เลย์เอาต์ อยากได้สวน เอาเงินสิบล้านลงตูมเลย นั่นไม่ใช่ทางของเกษตร เพราะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้เงินกลับมาคืนกำไรให้ได้สิบล้าน สุดท้ายต้องไปลงกับลูกค้า
“เราไม่ได้ต้องการโจทย์แบบนั้น เราทำแบบธรรมชาติ ง่ายๆ ค่อยๆ ตอบโจทย์ของลูกค้า นั่นถือเป็นหลักการที่ดีมาก”.