วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > ทำสมาธิ-กำราบหวัด & อัลไซเมอร์

ทำสมาธิ-กำราบหวัด & อัลไซเมอร์

 
Column: Well – Being
 
ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากมายยืนยันว่า การทำสมาธิ (mindfulness meditation) เป็นผลดีอย่างมากต่อสุขภาพโดยรวม แม้นักวิจัยยังไม่ถึงขั้นเจาะจงว่าการทำสมาธิสามารถรักษาโรคได้ แต่มีการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการทำสมาธิดีต่อสุขภาพในแง่
 
ต่อสู้กับหวัดและไข้หวัดใหญ่   
เพราะการทำสมาธิอาจช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น ปี 2012 Annals of Family Medicine ระบุผลการศึกษาในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปว่า การทำสมาธิสามารถลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงหวัดและไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าการออกกำลังกาย
 
การค้นพบนี้ช่วยเสริมการศึกษามากมายก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การทำสมาธิสามารถต่อสู้กับโรคภัยได้ โดยลดความเครียดและช่วยเสริมสร้างการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง
 
ลดความเสี่ยงจากอัลไซเมอร์
การทำสมาธิอาจช่วยให้สมองเสื่อมช้าลง เพราะภาวะสมองเสื่อมนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์
 
Rebecca Erwin Wells, MD แห่ง Wake Forest  ตีพิมพ์ในรายงานปี 2013 ว่า ในการศึกษาผู้ใหญ่ที่มีปัญหาเริ่มสูญเสียความทรงจำ ปรากฏว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของกลุ่มตัวอย่างที่ฝึกการทำสมาธิ มีอาการฝ่อน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยสมองส่วนฮิปโปแคมปัสเป็นสมองส่วนที่เกิดโรคความเสื่อมของระบบประสาท (neurodegenerative diseases) เช่น อัลไซเมอร์ 
 
ผลการศึกษายังกล่าวว่า ในผู้ฝึกการทำสมาธิ สมองส่วนที่เรียกว่า default mode network มีการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทมากกว่าผู้ที่ไม่เคยฝึกทำสมาธิ โดยสมองส่วนนี้ทำงานเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ เช่น การนอนฝันตอนกลางวัน และการคิดเกี่ยวกับอดีตและอนาคต 
 
เพิ่มสมองเนื้อสีเทา
การศึกษาหลายชิ้นในทศวรรษที่แล้วยืนยันว่า การทำสมาธิช่วยกระตุ้นการสร้างสมองเนื้อสีเทา (gray matter) ในสมองหลายส่วน ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ ความจำ และการควบคุมอารมณ์ได้
 
วารสาร Psychiatry Research ตีพิมพ์ผลการศึกษาปี 2011 ว่า นักวิจัยทำการสแกนสมองของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำสมาธิมาก่อนหรือเคยมีแต่น้อยมาก จากนั้นให้พวกเขาเข้าคอร์สฝึกทำสมาธินาน 8 สัปดาห์ และทำการสแกนสมองอีกครั้งหนึ่ง
 
ผลคือ แต่ละคนที่ผ่านการฝึกทำสมาธิ ต่างมีสมองเนื้อสีเทาเพิ่มมากขึ้นทั้งสิ้น
 
บรรเทาความเจ็บปวด
Zeidan และคณะซึ่งเป็นกลุ่มนักวิจัยแห่ง  Wake Forest เปิดเผยผลการศึกษาปี 2011 ว่า หลังกลุ่มตัวอย่างเข้าฝึกการทำสมาธิเพียง 4 วัน พวกเขาสามารถลดความเจ็บปวดได้ร้อยละ 57
 
การทำสมาธิยังอาจเปลี่ยนช่องทางการรับรู้ความเจ็บปวดได้ ด้วยการเปลี่ยนบริบทของความเจ็บปวดผ่านสมองส่วนที่ควบคุมความจำและอารมณ์  
 
ควบคุมความกระวนกระวายและอาการซึมเศร้า
ปี 2014 Goyal และคณะแห่งจอห์นส์ฮอบกินส์พบว่า การทำสมาธิอาจได้ผลในการบำบัดอาการซึมเศร้าได้เทียบเท่าการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า
 
วารสาร Social Cognitive and Affective Neuroscience ยังตีพิมพ์ผลการศึกษาปี 2014 ว่า นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่าง 15 คน ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการทำสมาธิ เข้าคอร์สฝึกการทำสมาธินาน 4 วัน ผลคือ พวกเขามีอาการกระวนกระวายน้อยลง มีพื้นฐานทางอารมณ์ดีขึ้น รวมทั้งช่วยเสริมกลไกควบคุมความจำให้ทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น
 
ลดความเครียด
ผลการวิจัยระบุว่า การฝึกทำสมาธิไม่เพียงช่วยลดความเครียดและความกระวนกระวายที่เกิดขึ้น หลังจากเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด แต่ยังช่วยลดความเครียดขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับความเครียดด้วย
 
Kirk Warren Brown, PhD, นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย คอมมอนเวลธ์และคณะ รายงานผลการศึกษาปี 2013 ว่า สมองของผู้ผ่านการฝึกสมาธิ ได้รับการกระตุ้นในระดับต่ำกว่า แม้ถูกกระตุ้นด้วยภาพที่ไม่น่าดูมากๆ ซึ่งอธิบายได้ว่า การทำสมาธิสามารถเปลี่ยนวิธีตอบสนอง เมื่อสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเครียดได้รับการกระตุ้น
 
ผลคือ ไม่เพียงสมองส่วนนี้จะตอบสนองน้อยลงแม้มีแรงกระตุ้นเข้ามากระทบ แต่ยังทำให้สามารถควบคุมปฏิกิริยาตอบโต้ได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะเป็นปฏิกิริยาที่ไม่รุนแรงนัก
 
เกิดสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำ
การฝึกทำสมาธิช่วยให้สามารถจดจ่อ และตั้งใจทำงานในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
วารสาร Frontiers in Human Neuroscience ตีพิมพ์ผลการศึกษาปี 2012 ว่า เมื่อนักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการทำสมาธิ เข้าคอร์สฝึกการทำสมาธิเป็นเวลา 3 ชั่วโมง จากนั้นให้พวกเขาทำสมาธิวันละ 10 นาที เป็นเวลานาน 16 สัปดาห์
 
เมื่อต้องทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจจดจ่อกับรายละเอียดมาก ผู้ผ่านการฝึกทำสมาธิสามารถจัดการงานในหน้าที่ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยฝึกสมาธิ นักวิจัยยังระบุว่า แม้คุณผ่านการฝึกสมาธิ “เพียงเล็กน้อย” ก็ยังสามารถเปลี่ยนการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลสิ่งเร้าที่มีความขัดแย้งได้
 
 
ที่มา: นิตยสาร Yoga   
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว