กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ที่หลายคนนิยามว่าเป็นดินแดนศิวิไลซ์ แหล่งการค้าการลงทุน ศูนย์รวมธุรกิจความบันเทิง ความเจริญของโครงสร้างพื้นฐาน อัดแน่นไปด้วยป่าคอนกรีต พื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางของใครหลายคนที่แบกความหวัง หอบความฝัน ทั้งในด้านของรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้วยพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตรโดยประมาณ แบ่งเป็นเขตปกครอง 50 เขต กรุงเทพฯ จึงกลายเป็นเวทีสำคัญในการวัดสรรพกำลังของเกมการเมือง ทั้งจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ไปจนถึงพรรคขนาดเล็ก ที่พร้อมจะโชว์ของฟาดฟันกันด้วยกลยุทธ์ชูนโยบาย เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงให้ได้เข้ามาบริหารจัดการเมืองหลวงแห่งนี้
และแม้ว่าผลการเลือกตั้งพ่อเมืองจะเป็นที่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่ง ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ ในนามอิสระ ได้คะแนนโหวตไปสูงถึง 1 ล้านกว่าคะแนน ทิ้งห่างผู้สมัครรายอื่นชนิดไม่เห็นฝุ่น นัยหนึ่งของผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในครั้งนี้อาจหมายถึงความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของประชาชน
หลังประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ กระแสของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อยู่บนหน้าสื่อแทบทุกสำนัก ทุกช่องทาง โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ที่ถูกกล่าวขานอยู่เสมอ โดยเฉพาะภาพการเดินเท้าเปล่าถือถุงแกง
ปัญหาที่สั่งสมมานานหลายปีของเมืองหลวงไทย ทั้งการจราจรติดขัด ฝนตกน้ำท่วม ปัญหาขยะ ความปลอดภัย และเศรษฐกิจ แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับความสนใจและมีความพยายามแก้ไขกันอยู่ในทุกยุค ทว่า ปัญหายังคงอยู่ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นบทพิสูจน์ฝีมือครั้งสำคัญของบุรุษนามชัชชาติ ว่าความแข็งแกร่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความชื่นชมนั้นจะสามารถแก้ปัญหาที่หมักหมมมานานแรมปีได้หรือไม่
เบื้องต้นประเด็นที่ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ให้ความสำคัญในช่วงแรกคือ 1. การทำให้ข้าราชการเดินไปด้วยกัน 2. จุดเสี่ยงอันตรายต่างๆ และ 3. เรื่องปากท้อง ที่น่าสนใจคือ บนเว็บไซต์ของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า “นโยบายของชัชชาติคัดสรรกลั่นกรองจากปัญหาจริงของชาวเมืองกรุง ผ่านอาสาสมัครและการเข้าพื้นที่พบกับคนที่อยู่อาศัยทั่วกรุงเทพฯ อยู่บนรากฐานของข้อมูลสถิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ คิดสร้างสรรค์ร่วมกับนักวิชาการชั้นแนวหน้าจากหลายสถาบันการศึกษา และพร้อมจะลงมือดำเนินการได้ทันทีด้วยฝีมือของผู้บริหารคุณภาพ”
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจและกลายเป็นกระแสให้พูดถึงคือ นโยบายจำนวน 214 ข้อ ที่ดูจะแบ่งหมวดหมู่เพื่อให้ครอบคลุมทุกบริบทในสังคม โดยแบ่งเป็น ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดี บริหารจัดการดี
เมื่อพิจารณานโยบายทั้ง 214 ข้อแล้ว แทบหรือเกือบทั้งหมดเป็นไปด้วยความมาดหมายให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่จะส่งให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น แน่นอนว่าอานิสงส์จะส่งผลต่อประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน
และจากนโยบาย 214 ข้อ ดูเหมือนว่านโยบายด้านเศรษฐกิจ 30 ข้อ เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาไม่น้อย เพราะหากทำได้จริงตามนโยบายดังกล่าว ปากท้องของคนกรุงน่าจะเป็นไปในทิศทางที่สดใสขึ้น
ตัวอย่างนโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ออกแบบเรื่องราวให้เมืองผ่าน digital experience economy เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้สามารถกลับมามียอดขายและเติบโตได้ในช่วงวิกฤต กทม. จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจและการค้าผ่านการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้กับลูกค้า (digital experience economy) เช่น การเพิ่มการสอนเวิร์กช็อปออนไลน์ (เช่น เตรียมอุปกรณ์วัตถุดิบส่งไปให้ลูกค้าก่อน แล้วจัดการสอนออนไลน์) และการจัดทำดิจิทัลคอนเทนต์ช่วยโปรโมตกิจกรรมผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การโฆษณาออนไลน์ การชูกิจกรรมเหล่านี้ให้กับลูกค้าได้เห็นผ่านเครื่องมือซอฟต์พาวเวอร์ เช่น ละคร ซีรีส์ หนัง ดนตรี โดยการสอนนี้จะเป็นการสร้าง digital experience economy ให้กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานฝีมือและงานประดิษฐ์ได้ โดย กทม. จะเข้าไปช่วยผู้ประกอบการตั้งแต่การออกแบบกิจกรรม ไปจนถึงการประสานงานกับเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเนื้อหาออนไลน์และการจัดส่งสินค้า
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ เช่น สนับสนุนศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในกรุงเทพฯ ขยายโอกาส ขยายช่องทางให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ พัฒนาโอกาสและศักยภาพในตลาด กทม. ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอยพร้อมติดตามการดำเนินการ หาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผลักดัน Hi-Tech และ Hi-Touch และอีกหลายข้อที่หากทำได้จริงน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ ดีขึ้น
ทว่า นโยบายข้อหนึ่งที่ดูจะก้ำกึ่ง ชวนให้กังขาว่า เอื้อต่อเศรษฐกิจในด้านใดได้บ้าง นั่นคือ ใบอนุญาตตามประเภทกิจกรรม Function-based License เพื่อสร้างความสะดวกให้กับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน กทม. จะศึกษาการพัฒนารูปแบบการขออนุญาตตามประเภทของกิจกรรมของประชาชน เช่น การจัดกิจกรรมกลางแจ้ง (กิจกรรมที่ใช้เสียงและต้องรวมตัวกันของประชาชน) โดยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนบางส่วนมองว่า ดูจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการชุมนุมมากกว่าด้านเศรษฐกิจหรือไม่
ล่าสุด นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ในไตรมาสแรกของปี 2565 ว่า ขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวจากไตรมาส 4 ปี 2564 ร้อยละ 1.1
ขณะที่สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์จะขยายตัวร้อยละ 7.3 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.5 ตามลำดับ ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.4 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 4.2-5.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุลร้อยละ 1.5 ของจีดีพี
แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจภายในประเทศจะพอขับเคลื่อนไปได้บ้าง มีทิศทางการฟื้นตัวแต่ยังทำได้อย่างช้าๆ นั่นเพราะปัจจัยลบรุมเร้าหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง แน่นอนว่า การคาดหวังให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็วคงไม่ใช่เรื่องง่าย และผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งภายหลังจาก กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง คงต้องพบเจอกับเรื่องท้าทายความสามารถไม่น้อย แม้ว่าจะลงพื้นที่ทันทีที่คะแนนการเลือกตั้งชนะขาดลอย
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลวงดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งความหวัง แม้จะเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า หากเศรษฐกิจโลกสามารถเติบโต มีอัตราการขยายตัวสูง เศรษฐกิจในแต่ละประเทศย่อมขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้นโยบายที่จะดูแลเศรษฐกิจในระดับมหภาคย่อมต้องมาจากผู้บริหารหลักของประเทศคือ คณะรัฐบาล จากนั้นแรงขับจะส่งผลต่อเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับจุลภาคลงไป
กระนั้น ในห้วงยามนี้ ประเด็นเรื่องปากท้องของประชาชนมักจะเต็มไปด้วยความคาดหวังเสมอ โดยเฉพาะกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่มักจะขับเคลื่อนไปอย่างไม่เคยหยุด หากพิจารณาจากนโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ดูเหมือนพยายามที่จะผลักดันเศรษฐกิจในระดับฐานราก เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ เพราะนโยบายหลายข้อมุ่งเน้นไปที่ตลาดชุมชน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ปัจจุบัน Street Food เป็นอัตลักษณ์หนึ่งของไทย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากปี 2562 ระบุว่ากรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีจีดีพีสูงที่สุดอยู่ที่ 5,022,016 ล้านบาท และรายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 47,826 บาท/เดือน นั่นเป็นปีก่อนที่ไทยจะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อรายได้โดยรวมของทั้งประเทศและประชาชน
การสูญเสียรายได้ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนคาดหวังกับสิ่งใหม่ที่มีเข้ามาเสมอ แม้ว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ที่มีความปลอดภัยจะเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ทว่าด้านเศรษฐกิจที่อาจหมายถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ย่อมเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา
นับจากนี้คงเป็นช่วงเวลาที่ประชากรกรุงเทพฯ จะได้พิสูจน์ว่า ความแข็งแกร่งของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ที่มาพร้อมนโยบายกว่า 200 ข้อ จะสามารถแก้ปัญหาที่รอคอยการแก้ไขให้ดีขึ้นได้หรือไม่ 4 ปีจากนี้จะได้เห็นคำตอบ.