วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ท่องเที่ยวชี้ชะตา ค้าปลีกเชียงใหม่ดิ้นสู้ฟัด

ท่องเที่ยวชี้ชะตา ค้าปลีกเชียงใหม่ดิ้นสู้ฟัด

หลังศูนย์การค้าชื่อดัง “พรอมเมนาดา (Promenada)” ประกาศปิดตัวแบบฟ้าผ่าเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งค่าย “เซ็นทรัลพัฒนา” ที่มีสาขาในเมืองเชียงใหม่ 2 แห่ง และกลุ่มเอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น เจ้าของโครงการ เม-ญ่า (MAYA) ไลฟ์สไตล์ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ต่างต้องเร่งวางเกมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังถาโถมเข้ามาไม่สิ้นสุด แถมต้องลุ้นอีกว่า ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาเติบโตเหมือนช่วงก่อนโควิดเมื่อใด

ทั้งนี้ ตามหนังสือแจ้งการปิดศูนย์การค้าพรอมเมนาดา เชียงใหม่ ชั่วคราว ระบุสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเกินกว่ารายรับมาตลอด 3 ปี จนไม่อาจแบกรับได้อีก จำเป็นต้องปิดศูนย์ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 จนกว่าจะได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุน

แน่นอนว่า หากย้อนกลับไปช่วงปี 2556 วงการค้าปลีกต่างตื่นเต้นกับแผนผุดบิ๊กโปรเจกต์ “พรอมเมนาดา” ของกลุ่มอีซีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เรียลเอสเตท ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรืออีซีซีกรุ๊ป เพราะถือเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จมากในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แถบยุโรปกลางและตะวันออก ก่อตั้งเมื่อปี 2534 และประเดิมโครงการแห่งแรกในประเทศโปแลนด์และขยายเรื่อยมา

กระทั่งปี 2548 เริ่มบุกเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน โดยปักหมุด 2 ประเทศแรก คือเวียดนามและไทย ซึ่งก่อนสรุปพิมพ์เขียว “พรอมเมนาดา” นั้น อีอีซีกรุ๊ปทุ่มงบซื้อที่ดินกว่า 58 ไร่เมื่อปี 2550 และใช้เวลาศึกษาตลาดวางรูปแบบนานกว่า 5 ปี เพราะหมายมั่นให้เป็นบิ๊กโปรเจกต์นำเสนอรูปแบบค้าปลีกกลางแจ้งแนวคิดใหม่ และต่อยอดขยายธุรกิจในไทยอย่างน้อยอีก 3 สาขา เม็ดเงินลงทุนมากกว่า 12,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันจุดที่ตั้งของพรอมเมนาดาอยู่บริเวณถนนเชียงใหม่-สันกำแพงตัดใหม่ เชื่อมระหว่างเส้นซูเปอร์ไฮเวย์และถนนวงแหวนรอบที่ 2 แม้อยู่ห่างจากตัวเมือง แต่ถือเป็น “เมืองใหม่” ที่กำลังเติบโต มีโครงการบ้านจัดสรรกว่า 80 โครงการ ราคาบ้านเฉลี่ย 3.5-8 ล้านบาท เป็นกลุ่มผู้มีระดับรายได้ปานกลางถึงสูง และสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียง ทั้งลำพูน ลำปาง เชียงราย ใช้เวลาเดินทางไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

ที่สำคัญ ช่วงเวลานั้นสงครามค้าปลีกในเชียงใหม่ร้อนเดือดมาก เพราะมีโครงการศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่เปิดใหม่พร้อมๆ กันถึง 3 แห่ง คือ พรอมเมนาดาของอีอีซีกรุ๊ป เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ของค่ายเซ็นทรัลพลาซา ซึ่งล่าสุดปรับแบรนด์ใหม่เป็นเซ็นทรัล เชียงใหม่ และถือเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากเซ็นทรัล เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ใช้งบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ติดถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง และถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด

ส่วนอีกโครงการ คือ “เม-ญ่า” ของกลุ่มเอสเอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ยึดทำเลเจาะใจกลางเมืองสี่แยกรินคำ ถนนนิมมานเหมินท์ เนื้อที่รวม 9 ไร่ จนถือเป็นปีที่จังหวัดเชียงใหม่มีการขยายธุรกิจค้าปลีกสูงสุด

ทว่า ผลพวงพิษโควิดทำให้ปัจจัยทุกอย่างพลิกเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง ทุกธุรกิจต้องประคองตัวรอสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งเสมือนต้นน้ำหลักของเมืองเชียงใหม่

หากเราดูข้อมูลตัวเลขช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ภายหลังรัฐบาลและจังหวัดเชียงใหม่มีมาตรการผ่อนปรนให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ในระดับหนึ่ง พบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 61,287 คน เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 549.54 ล้านบาท นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 3,496 บาทต่อวัน

สำหรับอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ 32.99% จากจำนวนที่พักทั้งหมดกว่า 36,000 ห้อง และมีการพักค้างเฉลี่ย 2 คืน แต่รายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยถึง 452 ล้านบาท

ดังนั้น เชียงใหม่ต้องเร่งการพลิกฟื้นตลาดท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อและจับจ่ายสูง ซึ่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กำลังผลักดันนโยบายประกาศ “ปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2566” Visit Thailand Year 2023 เพิ่มอีก 1 ปี ต่อเนื่องจากที่รัฐบาลประกาศปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2565 เพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ สร้างแรงส่งต่อเนื่องจนถึงปี 2566-2567 ให้ได้ตามเป้าหมายฟื้นรายได้รวมการท่องเที่ยวที่ 80% ของรายได้รวมฯ 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 หรือก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยเป็นรายได้จากเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคน คิดเป็นการฟื้นตัว 50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเกือบ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจังหวัดท่องเที่ยว โดยเฉพาะเชียงใหม่

ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN กล่าวกับ “ผู้จัดการ360” ว่า เชียงใหม่เป็นเขตพื้นที่จังหวัดสีฟ้า หรือจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่กลับมาเปิดให้บริการแล้วกว่า 90% ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดเป็นไปในทิศทางบวก การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนคึกคักมากขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่คาดว่าจะมากขึ้น หลังภาครัฐไฟเขียวขยายเวลาลงทะเบียน “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 อีก 1 ล้านสิทธิ ถึงเดือนกันยายนนี้ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่และเซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ตส่วนใหญ่เป็นลูกค้า local 88% โดยเป็นกลุ่ม first jobber และ first stage family รวม 56%

ด้านกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง ภาพรวมสถานการณ์ทราฟฟิกศูนย์การค้าอยู่ที่ 88% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว

ดร. ณัฐกิตติ์ ย้ำว่า ซีพีเอ็นอัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการกลับมาใช้ชีวิตของลูกค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีและเตรียมอีกหนึ่งแคมเปญใหญ่ช่วงกลางปี คือ แคมเปญ The Greatest Grand Sales งานเซลส์ลดราคาครั้งยิ่งใหญ่แห่งปี ที่ผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำมอบส่วนลดมากมายจากสินค้าแบรนด์ดังในเซ็นทรัลทั้ง 35 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยกระตุ้นลูกค้าเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัด

อย่างน้อยที่สุดหากตัวเลขยอดขาย ยอดทราฟฟิกและผลตอบรับดีขึ้น นั่นย่อมชี้โอกาสเติบโตในครึ่งปีหลังและอาจหมายถึงการหลุดพ้นหลุมดำทางเศรษฐกิจด้วย.

ใส่ความเห็น