วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > การคุกคามทางเพศออนไลน์ อันตรายที่อยู่ใกล้ตัว

การคุกคามทางเพศออนไลน์ อันตรายที่อยู่ใกล้ตัว

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อและผูกติดกับโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ทั้งข้อดีและประโยชน์ช่วยให้ผู้ใช้งานเพลิดเพลินกับสาระความบันเทิงจนแทบลืมเวลาและโลกในชีวิตจริง

ท่ามกลางสาระความรู้และความบันเทิงที่ถูกนำเสนอมาถึงมือเรา มักจะมีภัยร้ายที่แอบแฝงและซ่อนตัวอยู่ในเวลาเดียวกัน การคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

การคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ หรือ Online Sexual Harassment สามารถพบเห็นได้ในหลายรูปแบบ เช่น การแสดงความคิดเห็น การส่งข้อความ ภาพ เสียง คลิปวิดิโอ หรือการโทรศัพท์โดยมีจุดมุ่งหมายในเรื่องเพศ

ในโลกที่เปิดกว้างและมีความหลากหลายทางเพศ ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแต่เพศหญิงเท่านั้นที่ถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ ภัยจากการคุกคามทางเพศออนไลน์สามารถเกิดได้กับทุกเพศ และทุกวัย แน่นอนว่าการคุกคามดังกล่าวอาจนำไปซึ่งปัญหาอาชญากรรม และอาจสร้างบาดแผลให้เกิดขึ้นในจิตใจแก่บุคคลนั้น

กรมสุขภาพจิตเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ ด้วยการทำคลิปนำเสนอว่า อะไรบ้างที่เป็นภัยคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์

1. การกลั่นแกล้งกันทางเพศ ล้อเลียนเพศสภาพ หรือเปิดเผยเพศสภาพของอีกฝ่ายโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือเป็นการปลอมตัวเอง และส่งเนื้อหาทางเพศทำร้ายอีกฝ่าย

2. การข่มขู่ทางเพศ ไม่ใช่เพียงแค่การส่งข้อความ แต่เป็นการกดดันอะไรบางอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายยอมทำตาม เช่น การข่มขู่ว่าจะมีการล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีรูปที่เกี่ยวข้องกับทางเพศ โดยตั้งใจแบล็กเมล์กระตุ้นให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศกับอีกฝ่าย

3. การลวนลามทางเพศ เช่น คอมเมนต์ ด้วยคำพูดที่ไม่ดีบนโลกโซเชียล หรือใช้คำพูด เล่นโจ๊กตลกๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ บางครั้งอาจเป็นการเสนอกิจกรรมทางเพศกับอีกฝ่าย รวมไปถึงการตัดต่อภาพ เพื่อให้เกิดการยั่วยวนทางเพศขึ้น

4. การอนาจารเพื่อการแก้แค้น หรือ Revenge Porn เช่น การบันทึกภาพถ่าย หรือคลิปวิดิโอในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ โดยที่ไม่ได้เต็มใจ จากนั้นอาจมีการตัดต่อคลิปส่งไปให้เหยื่อหรือผู้ถูกล่วงละเมิด และนำไปซึ่งการข่มขู่ในที่สุด

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดในเรื่องการคุกคามทางเพศออนไลน์ได้โดยตรง เนื่องจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560 ไม่ได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศบนอินเทอร์เน็ตไว้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญาก็ไม่มีบทบัญญัติโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเช่นกัน มีเพียงบทบัญญติทั่วไปที่อาจจะนำมาปรับใช้ตามกรณีที่เกิดขึ้น เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ 2560

มาตรา 14 ข้อ (4) ที่กล่าวว่า การนำข้อมูลที่มีลักษณะอันลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การกระทำดังกล่าวถือว่ามีความผิด อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับในส่วนของประมวลกฎหมายอาญาที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ อาทิ

มาตรา 59 วรรคสอง กล่าวถึงเรื่องเจตนาว่า ผู้กระทำความผิดรู้อยู่แล้วว่า การกระทำของตน (โพสต์ข้อความในเชิงลามก) จะส่งผลอะไรต่อผู้ถูกกระทำนั้นบ้าง

มาตรา 397 กล่าวไว้ว่า บุคคลใดที่กระทำการรังแกหรือข่มแหงผู้อื่นจนได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ยังมีอีกหลายคนที่มองว่า การแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของผู้อื่นสามารถทำได้ และมองว่าผู้โพสต์ได้โพสต์ภาพ ข้อความลงสื่อออนไลน์แบบสาธารณะ แต่การแสดงความคิดเห็นไปในเชิงคุกคามทางเพศ เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่มีเกียรติจะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการไม่ให้เกียรติผู้อื่น ขณะเดียวกันการใช้งานสื่อออนไลน์ควรมีความระมัดระวังที่จะไม่โพสต์ภาพหรือข้อความที่เปิดโอกาส หรือเป็นไปในทางเชิญชวนให้เกิดการคุกคามด้วยเช่นกัน

แม้โลกออนไลน์จะเป็นพื้นที่สาธารณะ กระนั้นผู้ใช้งานควรมีความเคารพในสิทธิทั้งของตัวเองและผู้อื่นอยู่เสมอ มีสติในการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นด้วยความคึกคะนองอาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนในอนาคต ดังนั้น หากพบเห็นการคุกคามทางเพศในออนไลน์ สิ่งที่ควรทำคือ ไม่ส่งต่อ ไม่แสดงความเห็นใดๆ เพิ่มเติม และควรแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่เบอร์ 02-504-4900-3

ใส่ความเห็น