เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ มองบทเรียนครั้งสำคัญจากมหาอุทกภัย ปี 2554 ที่กินระยะเวลายาวนานมากกว่า 6 เดือน ความสูญเสียที่ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน และประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท จนเป็นภัยพิบัติติดอันดับโลก
เกิดเป็น “แรงผลัก” ที่พลิกเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเครือเสนากรุ๊ป ไม่ใช่แค่การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสนองความต้องการกลุ่มลูกค้าแบบเดิมๆ แต่ทุกโครงการหลังจากนั้นจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการประหยัดพลังงาน เพื่อลดการกอบโกยจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะแนวคิดที่จะทำให้ “บ้านทุกหลัง” ของเสนากรุ๊ปเป็นอีกจุดเริ่มต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างประเทศไทยเป็น “Solar City” อย่างที่หลายๆ ประเทศกำลังเดินหน้าให้เกิดขึ้นจริง
“เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ทำให้เราเห็นภาพผลกระทบและอันตรายจากภัยธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ มันเป็นไปได้ขนาดนั้น และสร้างความเสียหายมากมายเหลือเกิน บริษัทจึงเริ่มศึกษาเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง” เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ผู้จัดการ360 ํ”
โปรเจกต์แรกจากแรงผลักเริ่มต้นขึ้นทันที ในฐานะผู้บริหารเสนากรุ๊ป ใช้เวลาศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เกือบ 3 ปี วิจัยการออกแบบบ้านประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าให้โครงการบ้านเดี่ยวแห่งใหม่สามารถประหยัดพลังงานอย่างน้อย 30% เมื่อเทียบกับรูปแบบบ้านเดิม
ปี 2557 เกษราประกาศเปิดตัวแบบบ้าน Green Smart Design ในโครงการบ้านเดี่ยว “เสนาพาร์ค แกรนด์ รามอินทรา” มูลค่าการลงทุนกว่า 1,230 ล้านบาท ภายใต้ 5 แนวคิด 5 องค์ประกอบสำคัญ
ประกอบด้วย MAXIMIZE NATURE ทิศทางการวางตัวบ้านสอดคล้องกับทิศทางลม วางผังบ้านตามหลักทิศ เหนือ-ใต้ เพื่อลดปริมาณแสงแดด เข้าสู่ตัวบ้านและรับทิศทางลม เพื่อความเย็นสบาย, EXTREME VENTILATION เพิ่มช่องลมระบายความร้อนใต้หลังคา พร้อมฉนวนกันความร้อน ช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน, SMART SHADING แผงบังแสง ช่วยลดความร้อนจากแสงแดดที่ผ่านเข้าสู่อาคาร ช่วยประหยัดไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และเพิ่มความเย็นให้ตัวบ้าน, ECO FRIENDLY MATERIALS เลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร ตั้งแต่ผนัง กระจก สี สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ หลอดประหยัดไฟ และสุดท้าย OXYGEN BOOST เพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบบ้านและโครงการ เพื่อลดแสงสะท้อนจากภายนอกเข้าสู่ตัวบ้าน
ขณะเดียวกัน สร้าง SENAPARK AVENUE เนื้อที่กว่า 10 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนของผู้คนทั่วไป เป็น “ปอด” อีกแห่งของกรุงเทพฯ และเป็นเส้นทางลัดจากถนนรามอินทราสู่จุดต่างๆ รอบโครงการ
ย่างก้าวแรกกับการพลิกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกษราเดินหน้าเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนและต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามแผน “Go Green” อย่างเต็มตัว โดยเจรจากับองค์กรธุรกิจในวงการพลังงานจนกระทั่งบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจกับยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานอย่างกลุ่มบริษัท บี.กริม.เพาเวอร์
ตามแนวคิดของข้อตกลง ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันทำธุรกิจ Solar Farm เป็นการเริ่มต้นการทำธุรกิจพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ เพื่อสร้าง Economy of Scale นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้บ้านในโครงการของเสนากรุ๊ป โดยนำ Solar Cell มาติดตั้งบนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย หรือที่เรียกว่า “โซลาร์รูฟท็อป” (Solar Rooftop) เพื่อให้บ้านทุกหลังที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองในเวลากลางวัน เป็นการประหยัดไฟฟ้าและลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป้าหมายลึกๆ ของเกษรา ก็คือการเป็นจุดเริ่มสร้าง “Solar City” อย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ว่าจะเป็นการขยายโครงการบ้านพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องของเสนากรุ๊ปและการเป็นต้นแบบให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เจ้าอื่นๆ หรือประชาชนทั่วไปสนใจที่จะสร้างพลังงานแสงอาทิตย์จากหลังคาบ้านของตัวเอง
เกษรากล่าวว่า กระแสการใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเทรนด์ที่เกิดมานานแล้ว แต่การรับรู้และทัศนคติของผู้บริโภคต่อการติดตั้งแผงโซลาร์และความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยเปรียบเทียบจากการทำสัมภาษณ์กลุ่มหรือโฟกัสกรุ๊ปกับผู้บริโภคเมื่อ 5 ปีที่แล้วเกี่ยวกับเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ผลที่ได้ คือการรับรู้ของผู้บริโภคในเวลานั้นมองการติดแผงโซลาร์สิ้นเปลืองและยังไม่เห็นประโยชน์ เนื่องจากต้นทุนการติดตั้งยังสูงมากเกือบ 1 ล้านบาทต่อแผง
แต่การทำโฟกัสกรุ๊ปล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้บริโภครู้จักพลังงานแสงอาทิตย์และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น
ที่สำคัญ ต้นทุนการผลิตแผงและหลังคาโซลาร์ลดลงจากอดีตอย่างมาก เพราะมีการคิดค้นและมีจำนวนผู้ผลิตมากขึ้น ชนิดที่ว่าต้นทุนราคาลดลงมากกว่า 50% และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องด้วย รวมทั้งมีโครงการรับซื้อไฟจากภาครัฐเข้ามาจูงใจ ไม่ใช่แค่ผลิตไฟฟ้าใช้ภายในบ้าน แต่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐเป็นรายได้เพิ่มเติมด้วย
ต้นแบบในไอเดียของเกษราที่ประเทศไทยสามารถนำมาพิจารณาและปรับให้เหมาะสม ก็คือ “โซลาร์ซิตี้” ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกาจับมือบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลส์ “โซลาร์ซิตี้” ทำโครงการติดตั้งระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 160,000 แห่ง บนหลังคาบ้านและอาคารในฐานทัพสหรัฐฯ ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นการผลิตพลังงานสะอาดแนวทางใหม่ โดยบริษัทโซลาร์ซิตี้ออกทุนในรูปเงินกู้จากธนาคารหรือกองทุนพิเศษ
จากนั้นเจ้าของบ้านจะจ่ายเงินให้บริษัทในรูปค่าไฟฟ้าตามปริมาณที่แผงพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตได้ จนปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีการติด Solar Cell ทั้งเมือง ซึ่งตลาดธุรกิจ Solar Rooftop ในไทยสามารถขยายตัวและเติบโตได้อีกหลายเท่า ท่ามกลางสถานการณ์พลังงานที่กำลังขาดแคลนและราคาค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น
การรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ครั้งนี้จึงมีทั้งเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนของเสนากรุ๊ป และหากบิ๊กไอเดียของ “เกษรา” เกิดขึ้นจริง นั่นย่อมหมายถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทยด้วย