ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การสู้รบยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง แม้จะมีการเปรยถึงการเจรจาเพื่อหาข้อยุติระหว่างสองชาติ ทว่าจนถึงเวลานี้ การเจรจาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น
แน่นอนว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในยูเครนโดยรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไม่อาจเลี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ยุโรป แม้จะมีการประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย โดยมีการห้ามทำธุรกรรมการค้า การลงทุน หรือการประกาศยึดทรัพย์สินของผู้นำรัสเซียแล้วก็ตาม
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความผันผวนทางตลาดเงินทั่วโลก รวมไปถึงราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และล่าสุดราคาน้ำมันดิบเช้าวันที่ 2 มีนาคม สูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ 108 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นั่นเพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และยังเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 2 ของโลก
นอกจากนี้ รัสเซียและยูเครนยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพด โดย วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ในเบื้องต้นสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ กดดันกำลังซื้อ ต้นทุนการผลิต และสร้างความยากลำบากในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ แต่หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงอาจส่งผลต่อภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนไมโครชิป เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตก๊าซนีออนและแร่พัลลาเดียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ ภาวะสงครามและการคว่ำบาตรที่รุนแรงอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งเชื่อมโยงอย่างมากกับรัสเซีย ทั้งในแง่พลังงาน ภาคเศรษฐกิจ และภาคการเงิน
ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ หากไม่ลุกลามบานปลายจนกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว ไทยอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมไตรมาส 4/2564 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากการลดลงร้อยละ 0.2 จากไตรมาส 3/2564 เป็นผลจากความต้องการสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้การดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ทั้งด้านการผลิตสินค้าและบริการ
นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออก และแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.6 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 1.5 ของจีดีพี
แม้ว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยสูงขึ้นมากกว่าที่คาด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคมว่า ได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง
ในช่วงต้นปีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงบ้างจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน แต่ยังมีปัจจัยหนุนจากมาตรการพยุงกำลังซื้อประชาชน และกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนได้รับผลบวกจากการส่งออกที่ยังขยายตัว แต่อาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการดำเนินการของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้าง
ส่วนการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวจากปีก่อน สอดคล้องกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการใช้จ่ายตาม พ.ร.ก. เงินกู้ที่คงเหลือหลังจากใช้ไปจำนวนมากในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้น หากสถานการณ์ไม่ลากยาวจนส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าผลกระทบทางตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะไม่มาก
เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซียและยูเครนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.52% และ 0.07% ของมูลค่าการค้ารวม ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับขึ้นสู่ระดับสูงในรอบหลายปี จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้มีแนวโน้มที่จะเร่งขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ มาอยู่ที่ 2.7% จากเดิม 2.0%
นอกจากนี้ การผ่อนคลายมาตรการ Test & Go เพิ่มเติม เพื่อหนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์ความตึงเครียดรัสเซียกับยูเครน การประชุมของศูนย์บริการสถานการณ์เศรษฐกิจโควิด-19 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีมติปรับปรุงมาตรการเดินทางเข้าประเทศตามนโยบาย Test & Go เพื่อช่วยสนับสนุนและเอื้อต่อการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ เพิ่มช่องทาง Test & Go ทางบกในจังหวัดที่กำหนด (หนองคาย อุดรธานี และสงขลา) และทางน้ำ เฉพาะเรือยอชต์ ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR สำหรับครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ที่เดินทางเข้าประเทศ ให้ปรับมาเป็นตรวจด้วยวิธี ATK แทน และปรับลดวงเงินประกันสุขภาพจาก 50,000 ดอลลาร์ เป็นไม่น้อยกว่า 20,000 ดอลลาร์ เป็นต้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา
หลังจากไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยมาตรการ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 หนุนให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกว่า 3 แสนคนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีก่อน และล่าสุดในเดือนมกราคม มีจำนวน 133,903 คน
ทั้งนี้ การปรับปรุงมาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่นักเดินทาง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยว โดยรัสเซียนับเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากสุดติด 1 ใน 5 อันดับแรก ตั้งแต่ไทยกลับมาเปิดประเทศ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางมาเอง และเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูง ส่วนตลาดยูเครนยังมีเพียงเล็กน้อย และเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยแบบเช่าเหมาลำ โดยหากสถานการณ์มีความรุนแรงแผ่กว้างขึ้นในยุโรป จนกระทบต่อเส้นทางการบิน จะเพิ่มความลำบากในการเดินทางของนักท่องเที่ยว การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าวได้
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนจะจบลงอย่างไร ท่ามกลางความสูญเสียที่มีขึ้นกับทั้งสองประเทศ และผลกระทบที่จะตามมาต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมากน้อยแค่ไหน เมื่อมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงคะแนนให้กับมติประณามการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียถอนกองกำลังออกจากยูเครนทั้งหมด ซึ่งประเทศสมาชิกยูเอ็น 141 ประเทศรวมทั้งไทย ลงคะแนนสนับสนุนมตินี้ มีเพียงรัสเซียและพันธมิตรอีก 5 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว และ 35 ประเทศที่งดออกเสียง
ไม่ว่าบทสรุปจะจบอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสูญเสียที่มีต่อทั้งสองประเทศ และแน่นอนว่า ทั่วโลกเองได้รับผลกระทบในภาพรวมไม่ต่างกัน.