วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “บุญศิริ หัสสรังสี” ติดอาวุธธุรกิจด้วยเทคโนโลยี เสริมแกร่งสู่การเติบโตในยุคดิจิทัล

“บุญศิริ หัสสรังสี” ติดอาวุธธุรกิจด้วยเทคโนโลยี เสริมแกร่งสู่การเติบโตในยุคดิจิทัล

ปัจจุบัน “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน” กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจและเสริมศักยภาพให้องค์กรทั่วโลก หลายองค์กรในประเทศไทยเองก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยต่อยอดและพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อปรับให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้

“ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “บุญศิริ หัสสรังสี” ผู้บริหารรุ่นใหม่ แห่งบริษัท สเฟรียร์เอท จำกัด (SPHERE8) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวางกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี ถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และความสำคัญของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเป็นอาวุธเสริมความแกร่งให้กับองค์กรให้สามารถเติบโตและก้าวสู่ตลาดโลกได้

“เรามองว่าไม่ช้าก็เร็วทุกองค์กรต้องปรับตัวและทรานส์ฟอร์ม เพราะโลกมันหมุนไปแล้ว โควิด-19 ทำให้เราเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น กรอบความคิดของผู้คนและองค์กรเปลี่ยนไป พร้อมเปิดรับและนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดและไปต่อได้ หากองค์กรไหนเตรียมพร้อมหรือปรับตัวได้ก่อน ก็จะได้เปรียบมากกว่า และที่สำคัญยังสามารถไปแข่งขันในระดับสากลได้อีกด้วย” บุญศิริเน้นย้ำถึงความสำคัญของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันต่อองค์กรยุคใหม่

แต่บุญศิริมองว่ากระบวนการสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันนั้น จำเป็นต้องเริ่มจากการวางกลยุทธ์ พร้อมมองหาเทคโนโลยีหรือโซลูชันที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนาองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวางกลยุทธ์ และจับคู่เครือข่ายทางเทคโนโลยี เพื่อเป็น “ทางลัด” สำหรับการเตรียมความพร้อมให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปได้อย่างเติบโตและยั่งยืนในยุคดิจิทัลนี้

“สเฟียร์เอท” จึงถือโอกาสนี้เข้ามาเป็นตัวกลางและ “ทางลัด” ให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจไทยเติบโตต่อไปได้ในยุคแห่งดิจิทัล โดยวางโพสิชันตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวางกลยุทธ์ที่เน้นเทคโนโลยี เป็นที่ปรึกษาในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เฟ้นหาเทคโนโลยีและจับคู่ทางธุรกิจทั้งในและจากต่างประเทศ (Tech Scouting & Business Matching) โดยมีจุดแข็งด้านพันธมิตรที่มีอยู่ในหลายประเทศ ทั้ง อิสราเอล ไต้หวัน นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

แม้จะเป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีการทำงานแบบ Lean Startup แต่สเฟียร์เอทกลับมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กรเบอร์ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศที่ครอบคลุมธุรกิจในแขนงต่างๆ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) เครือเจริญโภคภัณฑ์ เอไอเอส หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงเอสเอ็มอีต่างๆ ที่กำลังมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

“อย่าง EGAT ทางสเฟียร์เอทเข้าไปช่วยหาเทคโนโลยีโดรนอัตโนมัติไร้คนขับสำหรับตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์ให้เขากับ ซึ่งโดรนชนิดนี้สามารถบินตรวจสอบได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องมีคนคอยบังคับ หรืออย่างซีพีเอง เราก็เข้าไปช่วยในส่วนเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอาหารทางเลือก แต่การนำเข้าเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรมันมีกระบวนการต้องใช้เวลาทั้งการเฟ้นหา ทดลองใช้ ลองผิดลองถูก เราจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างองค์กรและเทคโนโลยี เฟ้นหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการทำงาน เพิ่มศักยภาพและรายได้ให้กับองค์กรต่างๆ ซึ่งข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของเราคือ เรามีพันธมิตรอยู่ในหลายประเทศ รู้ว่าถ้าต้องการเทคโนโลยีแบบนี้ต้องไปหาที่ไหน ซึ่งมันจะช่วยลดเวลาให้กับองค์กรต่างๆ ได้อย่างมาก”

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาแทบทุกวัน ฉะนั้นการมองหาหรือเลือกสรรเทคโนโลยี และ knowhow ที่เหมาะสมมาปรับใช้กับองค์กรนั้นๆ จะสามารถช่วยลดระยะเวลาและประหยัดเรื่องงบประมาณได้อีกมาก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จและเสริมศักยภาพองค์กร ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจไทยสามารถปรับเปลี่ยนและก้าวทันตามเทรนด์โลก และยังตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงจุดและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

สำหรับเทคโนโลยีต่างๆ นั้น บุญศิริแบ่งคร่าวๆ ให้เราได้เห็นภาพ คือ Deep Tech ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศและมีค่าใช้จ่ายสูง เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ และ Basic Tech เช่น ระบบคลาวด์ (Cloud) เป็นสิ่งที่ทั้งเอสเอ็มอีและองค์กรต่างๆ ควรนำมาใช้ เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้เป็นระบบ และนำไปสู่การวางแผนพัฒนาธุรกิจต่อไปได้

นอกจากนี้ บุญศิริยังเปิดเผยว่าภาคธุรกิจในประเทศไทยที่จำเป็นต้องเร่งปรับตัวมีทั้งหมด 6 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. กลุ่มการเงินการธนาคาร เพราะโลกการเงินไม่เคยหยุดนิ่ง ธุรกิจกลุ่มนี้จำเป็นต้องพัฒนาและปรับตัวตลอดเวลา

2. กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรและวัตถุดิบที่สามารถนำไปต่อยอดได้หลากหลาย จึงควรนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาต่อยอดสินค้าและบริหารให้ทันเทรนด์ผู้บริโภค ทั้งการคิดค้นพัฒนาอาหาร กระบวนการ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกอย่าง smart farming เป็นต้น

3. กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ (Medical/Healthcare) ประเทศไทยได้ชื่อว่าได้รับการยอมรับจากนานาชาติในแง่ความพร้อมทั้งบุคลากรและบริการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า จึงเป็นสายธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในประเทศที่ควรต้องเร่งปรับตัว เพื่อประเทศไทยจะได้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับสากล

4. ธุรกิจพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Environment & Energy) ธุรกิจพลังงานเป็นอีกหนึ่งแขนงที่ขับเคลื่อนประเทศ จึงควรนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุน

5. กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต เรามีโรงงานอุตสาหกรรมมากมายมหาศาล อีกทั้งยังเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ระดับภูมิภาค หากสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างชัดเจน และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างก้าวกระโดด

6. IT & Cyber การมีระบบ IT และมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกองค์กรต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความตื่นตัวในการปรับองค์กรมากกว่ากลุ่มอื่นคือ การเงินการธนาคาร ธุรกิจอาหาร และกลุ่มพลังาน นอกจากนั้น ยังพบว่าองค์กรขนาดใหญ่มีความกระตือรือร้นที่จะปรับองค์กรมากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก เพราะต้องสร้างความต่างและความแกร่ง สำหรับการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ

“ตอนนี้กลุ่มธุรกิจที่มีความตื่นตัวในการปรับองค์กรเป็นอย่างมากคือกลุ่มการเงินการธนาคาร เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงินมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากกระแสคริปโทเคอร์เรนซีและสินทรัพย์ดิจิทัลที่พัฒนาไปไวมาก อีกหนึ่งกลุ่มคือธุรกิจอาหารที่กำลังพัฒนาอาหารทางเลือก (Alternative Food) เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงกลุ่มพลังงานและอุตสาหกรรม เพราะต้องการนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน และสร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรในองค์กร”

ส่วนเทคโนโลยีที่บุญศิริคาดว่าจะมาแรงและเป็นเทรนด์ของโลกในปีนี้ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการเงิน หรือ Fintech (Financial Technology) ที่คาดว่าจะมาแรงอย่างต่อเนื่อง, เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายฝ่ายเบนเข็มมาพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพมากขึ้น, เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ และที่น่าจับตาคือเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Cyber Security หรือความปลอดภัยทางไซเบอร์

ข้อมูลถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาล เช่น โรงพยาบาล สายการบิน ผู้ให้บริการเทเลคอมต่างๆ ที่มีการเก็บทั้งข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ข้อมูลของพนักงาน รวมไปถึงข้อมูลการใช้งานต่างๆ แต่ช่วงที่ผ่านมาข่าวคราวการรั่วไหลของข้อมูลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างผลเสียต่อองค์กรเป็นอย่างมาก “Cyber Security” จึงเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญ

“เราต้องการผลักดันเรื่อง Cyber Security ให้องค์กรต่างๆ ตระหนัก เพราะข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ประกอบกับภายในปีนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA จะมีผลบังคับใช้ ทำให้องค์กรต่างๆ ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลและมีการนำไปใช้ ต้องมีมาตรฐานในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านั้นให้ปลอดภัย”

บุญศิริกล่าวต่อไปว่า เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มีอยู่อย่างมากมายและเป็นแบบอัตโนมัติที่สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของข้อมูลได้ตลอดเวลา ถ้าพบความผิดปกติจะมีระบบเตือนทันทีและทำให้แก้ไขได้ทัน จึงต้องการผลักดันให้องค์กรต่างๆ นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร

แม้ว่าการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอีกแง่หนึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในองค์กรเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับปฏิบัติการที่กังวลว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่ตน การสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมของคนในองค์กรจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวเทคโนโลยีเลยทีเดียว.

ใส่ความเห็น