ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ในภาวะยากลำบาก บางครอบครัวอาจมองว่านี่เป็นยุคข้าวยากหมากแพงก็ว่าได้ โดยก่อนหน้าที่สินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการถูกปรับราคาให้สูงขึ้นในช่วงหนึ่ง เช่น ค่าไฟฟ้า ไข่ไก่ เนื้อหมู ซึ่งเกิดจากภาวะโรคระบาดในสุกรที่ส่งผลต่อกลไกตลาดโดยตรง
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าราคาเนื้อหมูและไข่ไก่เริ่มมีการปรับตัวลงและเข้าสู่ภาวะปกติ ทว่า ยังคงมีความกังวลจากภาคประชาชนอยู่ไม่น้อย เมื่อยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ปรับตัวไปแล้ว และบางรายการอาจจะทยอยปรับขึ้นในอนาคต โดยมีสาเหตุมาจากต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น นั่นทำให้ค่าใช้จ่ายต่อภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นซึ่งสวนทางกับรายได้ของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนช่วงหลังปีใหม่ จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรการคุมเข้มการระบาด ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมีจำกัด แต่อย่างไรก็ตามระดับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด เช่น เนื้อหมู รวมถึงราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องได้กดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30.9 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 33.2 บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังมีมุมมองว่าค่าครองชีพจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองด้านระยะเวลาของระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นกับวิธีรับมือของครัวเรือน ผลสำรวจบ่งชี้ว่าหากครัวเรือนมีมุมมองว่าระยะเวลาที่ระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงยิ่งนานจะยิ่งส่งผลให้ครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายรายการที่ไม่จำเป็นออกไปเพิ่มมากขึ้น แต่หากมีมุมมองว่าระดับราคาสินค้าที่สูงจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น 1 เดือน ครัวเรือนจะนำเงินออมที่มีออกมาใช้ทดแทนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันที่สะท้อนผ่านการนำเงินออมออกมาใช้และในระยะข้างหน้าที่จะมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง
และในระยะข้างหน้าระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหรืออย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี สาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นราคาพลังงานที่เป็นทั้งต้นทุนทางอ้อมของราคาสินค้าผ่านต้นทุนค่าขนส่ง การผลิต และทางตรงที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนผ่านค่าโดยสารและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันต่างๆ
ขณะที่ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจากภาครัฐยังมีความจำเป็นต่อเนื่องในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ทางกรมฯ ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต้นทุนน้ำมันดีเซลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ตามคำสั่งของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้วิเคราะห์ต้นทุนน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร เพิ่มเป็น 30 บาทต่อลิตร พบว่า มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าไม่มาก จึงไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ผลิตจะใช้ในการปรับขึ้นราคา และได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตตรึงราคาสินค้าไปก่อน
ผลการวิเคราะห์ เช่น สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1.45% ของใช้ประจำวันเพิ่ม 1.1% วัสดุก่อสร้างเพิ่ม 1.2% กระดาษและผลิตภัณฑ์เพิ่ม 5% ปัจจัยการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืชเพิ่ม 0.5% ทั้งนี้ อธิบดีกรมการค้าภายในยังระบุอีกว่า รัฐบาลได้เข้ามาดูแลราคาน้ำมันดีเซลอยู่แล้วซึ่งไม่น่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้น คงจะอยู่ในระดับ 30 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้ต้นทุนสินค้าไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่านี้
ขณะที่ต้นทุนด้านการขนส่ง กรมฯ ได้มีการติดตามผลเช่นเดียวกัน และพบว่ามีผลกระทบมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า แต่โดยภาพรวมยังไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ กรมการค้าภายในจะเชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้า ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ มาร่วมหารือเป็นรายกลุ่มสินค้า เพื่อประเมินสถานการณ์สินค้าแต่ละรายได้ และได้แจ้งขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์ไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ ยกเว้นผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้จริงก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยมีหลักคือ ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนจนเกินไป และผู้ผลิตต้องอยู่ได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าสินค้าหลายรายการมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เช่น ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตร โดยราคาแม่ปุ๋ยยูเรียลดลง 17% จากราคาในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 953 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 790 ดอลลาร์ต่อตัน ฟอสเฟต ลดลง 5% จากราคา 908 ดอลลาร์ต่อตัน เหลือ 859 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนโปแตช เพิ่มขึ้น 8% จาก 665 ดอลลาร์ต่อตันเป็น 724 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ที่ใช้เยอะคือ ยูเรีย ซึ่งจะทำให้แนวโน้มราคาปุ๋ยในประเทศปรับตัวลดลง
สำหรับสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาได้แล้วหลายกลุ่ม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอสปรุงรส นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารกระป๋อง อาหารสด เช่น ไข่ไก่ เนื้อไก่ และเนื้อหมู ที่ล่าสุดหลังจากตรึงราคาหน้าฟาร์ม ส่งผลให้ราคาทรงตัว และปัจจุบันเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว
กรณีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเบื้องต้นประเมินว่าหากมีการปรับราคาขึ้นจริง จะส่งผลต่อต้นทุนในการทำอาหารปรุงสำเร็จไม่มาก ต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อจาน/ชาม แค่หลักสตางค์ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการปรับขึ้น จึงขอแจ้งเตือนไปยังผู้ค้า อย่าใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคา
กรมการค้าภายในยังมีแผนที่จะประสานงานไปยังซัปพลายเออร์ เพื่อให้จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคต้นทุนถูก เช่น ของใช้ส่วนบุคคล สบู่ แชมพู ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ให้กับร้านค้าธงฟ้าที่มีอยู่ 1.3 แสนราย เพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค และช่วยลดภาระค่าครองชีพ รวมทั้งกำลังพิจารณาจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก เพื่อแทรกแซงตลาดตามความจำเป็น หากพบว่า สินค้ากลุ่มใดมีราคาปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ได้รับงบประมาณกลางจากรัฐบาลในการจัดทำโครงการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน
แง่มุมหนึ่งของการวิเคราะห์ผลกระทบต้นทุนน้ำมันดีเซลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าของกรมการค้าภายใน คล้ายเป็นการดักคอผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า ที่อาจจะปรับขึ้นราคาสินค้าในอนาคต ซึ่งนั่นจะส่งผลให้ภาระหนักตกมาอยู่ที่ผู้บริโภคผู้อยู่ในห่วงโซ่ลำดับถัดไป
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอการลดภาษีสรรพสามิตถือว่าเป็นแนวทางที่ดี โดยทั้งการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลหรือใช้กลไกอื่นตรึงราคาพลังงานช่วงที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจะช่วยลดภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และส่วนนี้จะส่งผลตรงต่อการลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่กำลังเจอปัญหาสินค้าราคาแพง
ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า การปรับตัวของราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อราคาพลังงาน ไฟฟ้า ค่าขนส่งและค่าเดินทาง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ทำให้โรงงานเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้า และเบื้องต้นได้มีข้อเสนอให้ภาครัฐลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับภาคขนส่งไว้ที่ 30 บาท ซึ่งที่ผ่านมาใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยพยุงราคา และต้องกู้เพิ่มอีก เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวเพิ่ม
ล่าสุดมีข่าวจากทำเนียบรัฐบาลหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตรา 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ราคา 5.99 บาทต่อลิตร โดยมีผล 3 เดือน นับแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการพิจารณาเรื่องนี้ ครม. พิจารณาเป็นวาระลับ และเห็นชอบให้ดำเนินการเพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
กระนั้นมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดังกล่าว อาจไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวลดลงแต่ประการใด หากแต่เป็นการช่วยตรึงราคาขายปลีกไว้เท่านั้น
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องเผชิญในขณะนี้จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ การขอความร่วมมือจากภาครัฐต่อผู้ประกอบการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ที่จำเป็นต่อการบริโภคของประชาชนจะยอมตรึงราคาไว้เช่นเดิมนั้น จะเป็นผลหรือไม่เมื่อต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งสูงอย่างต่อเนื่อง.