วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > GWM เล็งขึ้นแท่นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เดินเครื่องเต็มกำลัง หลังตลาดมีแนวโน้มสดใส

GWM เล็งขึ้นแท่นผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เดินเครื่องเต็มกำลัง หลังตลาดมีแนวโน้มสดใส

ปัจจุบันผู้บริโภคในไทยเริ่มหันมาใช้ “รถยนต์ไฟฟ้า” แทนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลกันมากขึ้น เพื่อเป็นการลดการปล่อยคาร์บอนและสร้างมลพิษทางอากาศ ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามาแรงอย่างต่อเนื่อง ค่ายรถยนต์ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ต่างทยอยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดก้อนโต

ตัวเลขที่น่าสนใจจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 พบว่า ภายในงานมียอดจองรถยนต์ทั้งสิ้น 31,583 คัน และยอดจองรถมอเตอร์ไซต์อีกกว่า 3,000 คัน ในจำนวนยอดจองรถยนต์ทั้งหมดนั้น 25% เป็นรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนหรือร่วมขับเคลื่อน โดยแบ่งเป็นกลุ่มรถไฮบริด 70% กลุ่มรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด 17% และรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV 13% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนเทรนด์ของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า ทิศทางการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ของค่ายรถต่างๆ ทั้งญี่ปุ่น จีน และตะวันตกคึกคักมากขึ้น และในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่จะกลายมาเป็นรถยนต์มาตรฐานใหม่แทนที่รถยนต์ใช้น้ำมันนั้นก็ใกล้เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

ซึ่งภาครัฐของไทยเองก็มีมาตรการออกมาเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าลดลงมาอยู่ในระดับที่จับต้องได้มากขึ้น ทั้งนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 รวมถึงมาตรการด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าเช่น สถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น

ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือแพ็กเกจรถยนต์อีวี (EV) ประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถกระบะ ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 3 ประเด็นหลักคือ 1. การส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่หรือ BEV ภายในประเทศ 2. การส่งเสริมการผลิต BEV เพื่อชดเชยการนำเข้า และ 3. การผลิตและการใช้ชิ้นส่วน BEV สำคัญภายในประเทศ

โดยได้แบ่งมาตรการออกเป็น 2 ช่วง ระยะแรก ปี 2565-2566 อนุญาตให้นำเข้ารถ CBU (รถที่นำเข้ามาทั้งคัน) และ CKD (รถที่มีการประกอบภายในประเทศ) เพื่อสนับสนุนการทดลองตลาดรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้าภายในประเทศ ส่วนระยะกลางคือ ปี 2567-2568 อนุญาตให้นำเข้า CKD เพื่อส่งเสริมการผลิต BEV และชิ้นส่วนสำคัญภายในประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยการลดและยกเว้นอากรขาเข้า ลดภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุน โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ คือ

1. สิทธิเงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000 – 150,000 บาท รถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน

2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%

3. ลดอากรขาเข้าสำหรับรถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% (ปี 2565- 2566)

4. ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD)

โดยผู้ขอรับสิทธิต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่มาตรการกำหนดไว้ เช่น ผู้ขอรับสิทธิและนำเข้ารถ CBU ในปี 2565-2566 ต้องผลิต CKD เพื่อชดเชยการนำเข้า 1:1 ภายในปี 2567 และสามารถขยายเวลาได้ถึงปี 2568 แต่ต้องผลิตชดเชยในอัตราส่วน 1.5 เท่า เป็นต้น

ซึ่งนับเป็นความคืบหน้าอีกหนึ่งขั้นที่ทำให้ทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น

 

ล่าสุด ค่ายรถยนต์สัญชาติจีนที่เพิ่งเข้ามาบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้ครบขวบปีอย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor: GWM) ชิงจังหวะทิศทางตลาดรถยนต์ไฟฟ้าสดใส ประกาศเดินเครื่องเต็มกำลัง ตั้งเป้าขึ้นแท่นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าของไทย

เกรท วอลล์ มอเตอร์ เปิดตัวแบรนด์ในไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตามมาด้วยการเปิดตัวรถยนต์ให้ผู้บริโภคชาวไทยรู้จัก 3 รุ่นด้วยกัน ประเดิมด้วย HAVAL H6 Hybrid SUV ซึ่งเป็นรุ่นแรกของบริษัทฯ ที่เปิดให้จองเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และสามารถทำยอดขายรวมภายในปีได้ถึง 2,641 คัน ครองยอดขายอันดับ 1 ในกลุ่มรถยนต์คอมแพคเอสยูวี

ตามด้วยรถยนต์ไฟฟ้า 100% สุดน่ารักในรุ่น ORA Good Cat ที่ดึงดูดผู้บริโภคด้วยรูปลักษณ์และสีสันที่สะดุดตา ทำให้มียอดจองทะลุ 10,000 คันภายใน 7 วันหลังเปิดจอง ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ส่งมอบให้ลูกค้าไปแล้วทั้งสิ้น 462 คัน และ All New HAVAL JOLION Hybrid SUV ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่มียอดสั่งจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งมอบไปแล้ว 599 คันภายในเดือนธันวาคม ทำให้ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมายอดขายรวมของเกรท วอลล์ มอเตอร์ พุ่งสูงถึง 3,702 คัน แม้จะเป็นปีแรกในการเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย แต่จากยอดขายรวมที่ทำไปได้ในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ถือเป็นตัวเลขที่ไม่ธรรมดา

นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ความสำเร็จของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ไม่เพียงจะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้บริโภคในประเทศไทยที่มีต่อเกรท วอลล์ มอเตอร์ แต่ยังเป็นแรงผลักดันให้เราได้เดินหน้าเพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการในด้านต่างๆ ของเราให้ดียิ่งขึ้น และสำหรับปี 2565 นี้ จะยังคงมุ่งเดินหน้าตามกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจในเมืองไทย ด้วยการเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรับฟังทุกเสียงจากผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ”

“กลยุทธ์ 4+4” คือกลยุทธ์หลักที่เกรท วอลล์ มอเตอร์ นำมาใช้ขับเคลื่อนองค์กรในปี 2565 เพื่อรุกตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ พร้อมปักธงให้ไทยและโรงงานผลิตรถยนต์ที่จังหวัดระยองเป็นศูนย์กลางของยานยนต์ไฟฟ้าและฐานการผลิตของภูมิภาคอาเซียน จากเดิมที่ดำเนินงานอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และบรูไน แผนต่อไปคือการเปิดตัวแบรนด์เพิ่มเติมในอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เพื่อขึ้นแท่นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากการขยายตลาดแล้ว ค่ายรถจากแดนมังกรยังเดินหน้าพัฒนาและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ตลอดจนบริการอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญใน 4 แกนหลัก คือ ผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่าย สถานีชาร์จประจุไฟฟ้า และประสบการณ์ของลูกค้า

1. ผลิตภัณฑ์ เดินหน้าเปิดตัวผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ “Mission 9 in 3” ประกาศเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 9 รุ่น ภายใน 3 ปี โดยในปีนี้จะเปิดตัวในไทยจำนวน 5 รุ่น จาก 3 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ All New HAVAL H6 Plug-in Hybrid SUV ภายใต้แบรนด์ HAVAL และรถยนต์อีก 2 รุ่นจากแบรนด์ ORA ส่วนอีก 2 รุ่นจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในภายหลัง

2. ช่องทางจำหน่าย จะขยาย GWM Store ทั้งที่เป็น Direct Store และ Partner Store เพิ่มขึ้นอีก 50 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่ 30 แห่ง รวมเป็น 80 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญๆ ของประเทศและรองรับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

3. สถานีชาร์จประจุไฟฟ้า ตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จฯ ให้ได้ 55 แห่ง ภายในปี 2565 เพื่อสร้างระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

โดยสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าที่เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตั้งเป้าจะขยายภายในปีนี้ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ G-Charge Supercharging Station สถานีชาร์จขนาดใหญ่ที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ดำเนินการเอง โดยเปิดสถานีแรกที่สยามสแควร์ ให้บริการชาร์จเร็วด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ DC จำนวน 3 เครื่อง หัวชาร์จแบบ CCS Type 2 เครื่องละ 2 หัวจ่าย รวม 6 หัวจ่าย กำลังสูงสุดขนาด 160kW ซึ่งถือเป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบ DC ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

Partner DC Charging Station เป็นสถานีชาร์จแบบ DC ที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ร่วมมือกับ Partner Store เพื่อติดตั้งจุดชาร์จในกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดสำคัญๆ และ Destination Charging Station เป็นสถานีชาร์จที่เจาะกลุ่มติดตั้งตามโรงแรม ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้าโดยเฉพาะ เพื่อตอบโจทย์ตามไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

โดยสถานีชาร์จทุกแห่งสามารถให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกประเภทและทุกแบรนด์ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน ผ่านทาง GWM Application นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะสร้างรถบริการเคลื่อนที่สำหรับชาร์จไฟฉุกเฉิน (Emergency Mobile EV Charging Unit) เพิ่มเติม เพื่อลดข้อกังวลในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า

4. ใช้กลยุทธ์ “Four-dimensional One” เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ทั้ง GWM Experience Center, GWM Direct Store, Partner Store และ GWM แอปพลิเคชัน ด้วยการจัดกิจกรรมและโรดโชว์เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น และพัฒนาแอปพลิเคชันเพิ่มความสะดวกหลังการขาย มีการนำข้อมูลของสถานีชาร์จฯ ของทั้งการไฟฟ้าและผู้ประกอบการเอกชนรายอื่นๆ มาไว้ในแอปฯ และจับมือกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อเสริมความแกร่งและสร้างการรับรู้ในแบรนด์ให้กว้างขึ้น เช่น ร่วมมือกับ บริษัท แมคไทย จำกัด เปิดตัวแคมเปญ “GWM ครบรอบ 1 ปี แฮปปี้อร่อยฟรีเต็มแมค” มอบสิทธิพิเศษให้อิ่มอร่อยฟรีๆ กับเมนูที่หลากหลายของแมคโดนัลด์ โดยไม่จำกัดเฉพาะลูกค้าของเกรท วอลล์ มอเตอร์ เท่านั้น แต่ทุกคนสามารถร่วมแคมเปญฯ ได้โดยการสะสม GWM Point ในแอปพลิเคชัน GWM และใช้คะแนนเพื่อแลกสิทธิ์รวม 10,000 สิทธิ์

สำหรับภาพรวมในตลาดโลก ปีที่ผ่านมา เกรท วอลล์ มอเตอร์ สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 1.28 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 15.2% จากปีก่อนหน้า เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าถึง 137,000 คัน

ในขณะที่ค่ายรถใหญ่ของฝั่งญี่ปุ่นอย่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เองก็ประกาศบุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบเช่นกัน เตรียมส่งรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 30 รุ่นออกสู่ตลาดภายในปี 2030 พร้อมตั้งเป้าสัดส่วนการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 3.5 ล้านคันต่อปี หรือราวๆ 35% จากยอดขายรวมของโตโยต้าที่เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10 ล้านคัน

นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยทุ่มงบราวๆ 6 แสนล้านบาท เพื่อที่จะผลิตได้ในปริมาณมากและทำให้ราคาถูกลง อีกทั้งยังเดินหน้าผลักดันลักชัวรีแบรนด์อย่าง “Lexus” ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% เพื่อส่งขายทั่วโลกภายในปี 2035 อีกด้วย

จากความคืบหน้าในระดับนโยบายจากภาครัฐและความเคลื่อนไหวจากค่ายรถที่พร้อมใจกันเดินเครื่องเต็มกำลัง ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเทศและตลาดโลกน่าจะคึกคักไม่น้อยเลยทีเดียว.

ใส่ความเห็น