วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > สายงานมาแรงแห่งปี 2565 จากดิจิทัลดิสรัปชันถึงโควิดดิสรัปชัน

สายงานมาแรงแห่งปี 2565 จากดิจิทัลดิสรัปชันถึงโควิดดิสรัปชัน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญๆ ทั้งจากดิจิทัลดิสรัปชันที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงต่างๆ จนมาถึงยุคโควิดดิสรัปชันที่ส่งผลกระทบและสร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งต่อการใช้ชีวิต การทำงาน การดำเนินธุรกิจ รวมถึงตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันตลาดแรงงานของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจของแต่ละองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป

ล่าสุด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจทิศทางและสถานการณ์ของตลาดแรงงานไทย ของปี 2565 พบว่า ทิศทางของตลาดแรงงานและภาพรวมความต้องการแรงงานมีทิศทางดีขึ้นกว่าสถานการณ์โควิดรอบแรก เมื่อปี 2563 องค์กรและผู้ประกอบการพร้อมเดินหน้าธุรกิจด้วยมาตรการด้านความปลอดภัยและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ มีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น และมีแนวโน้มปรับตัวไปสู่รูปแบบของธุรกิจใหม่ (New Economy) ที่ต้องวางแผนด้านกำลังคน การสรรหาบุคลากร และพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานปัจจุบันสู่อนาคต นอกจากนี้ยังพบว่าความต้องการบุคลากรในตลาดแรงงานมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความต้องการทักษะใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การทำงานในปัจจุบันและการจ้างงานยุคใหม่

ด้านความต้องการของนายจ้างส่วนใหญ่ยังอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ๆ ในแต่ละภูมิภาค เช่น สมุทรปราการ, ปทุมธานี, ระยอง, ชลบุรี, อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, เชียงใหม่, นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น โดยที่นายจ้างส่วนใหญ่ต้องการแรงงานในลักษณะหมุนเวียนในประเทศและประจำพื้นที่

10 อันดับ สายงานมาแรงแห่งปี
จากทิศทางและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ยังได้สำรวจและจัดอันดับ 10 อันดับสายงานที่ตลาดงานต้องการ ในปี 2565 ดังนี้

อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 20.16% ซึ่งเป็นสายงานที่เป็นที่ต้องการสูงต่อเนื่องมาถึง 5 ปีติดต่อกัน อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้บทบาทของการขายและการตลาดมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยอาชีพมาแรงในสายงานนี้ ได้แก่ งานขาย, งานพัฒนาธุรกิจ, งานการตลาด, งานอีคอมเมิร์ซ และงานการตลาดดิจิทัล

อันดับ 2 สายงานการผลิต 19.03% เป็นที่ต้องการของตลาดสูงรองลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในสายงานการผลิตจากแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น อาชีพในสายงานการผลิตที่มาแรง ได้แก่ งานฝ่ายผลิต และช่างเทคนิค

อันดับ 3 งานระยะสั้นต่างๆ 12.74% รวมถึงงานชั่วคราวและงานสัญญาจ้างต่างๆ ซึ่งมีตำแหน่งงานที่หลากหลายทั้งฝ่ายการผลิต งานขาย ไอที ช่างเทคนิค งานประจำพื้นที่/อีเวนต์ วิศวกร โลจิสติกส์ งานบริการลูกค้า และงานก่อสร้าง ซึ่งพบว่าเป็นที่ต้องการมากขึ้น จากการลดความเสี่ยงด้านบุคลากรในช่วงโควิด

อันดับ 4 สายงานไอที 11.29% ยังคงเป็นสายงานที่มีการเติบโตและเป็นที่ต้องการสูงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Programmer & Developer, Big Data, Project Management, IT – Technique, IT Infrastructure, IT Support, Blockchain, IT Management, Software Tester และ Robotics เพราะสอดคล้องกับยุคดิจิทัลดิสรัปชันและโควิดดิสรัปชัน ที่การใช้อุปกรณ์ไอทีและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตและการทำงานมากขึ้น

อันดับ 5 สายงานวิศวกรรม 9.19% สำหรับงานด้านวิศวกรรมความต้องการของตลาดจะแปรผันตามทิศทางของภาคการผลิตที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพื่อให้การผลิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่นไม่สะดุด งานด้านวิศวกรรมที่เป็นที่ต้องการ ได้แก่ งานวิศวกรประกันและตรวจสอบคุณภาพ, งานวิศวกรการผลิต, งานวิศวกรรมการวัดคุม, งานวิศวกรโครงการ, งานวิศวกรวิจัยและพัฒนา

อันดับ 6 สายงานบัญชีและการเงิน 8.71% ได้แก่ งานผู้ตรวจสอบบัญชี และงานที่ปรึกษาทางการเงิน

อันดับ 7 สายงานโลจิสติกส์และซัปพลายเชน 7.10% ได้แก่ งานจัดเรียงสินค้า, งานส่งพัสดุ, งานคลังสินค้า, งานจัดซื้อในและต่างประเทศ

อันดับ 8 สายงานบริการลูกค้า 5.48% ได้แก่ งานบริการให้ข้อมูลทางโทรศัพท์, งานแนะนำสินค้า, งานบริการลูกค้าทางโทรศัพท์, งานขายทางโทรศัพท์ และงานที่ปรึกษาด้านความคุ้มครอง

อันดับ 9 สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 3.71% ได้แก่ พยาบาล, แพทย์, เภสัชกร, ทันตแพทย์ และงานบริการทางด้านสุขภาพ

อันดับ 10 สายงานทรัพยากรบุคคล 2.26% ได้แก่ งานบริหารบุคคลและวางแผนกำลังคน, งานสรรหาบุคลากร, งานบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ, งานพัฒนาบุคลากร และงานระบบสารสนเทศ

โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูง ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการในกลุ่มขนส่งโลจิสติกส์ การแพทย์ และพาณิชย์ 2. ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ในกลุ่มยานยนต์ วัสดุอุตสาหกรรม เครื่องจักร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 3. ธุรกิจเทคโนโลยี ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ด้านระดับตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงาน ได้แก่

– ผู้บริหารระดับสูง พบความต้องการสูงในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ธุรกิจบริการ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค

– ผู้บริหารระดับกลาง เป็นที่ต้องการในธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ และธุรกิจเทคโนโลยี

– งานระดับปฏิบัติการ ความต้องการสูงอยู่ในธุรกิจบริการ ธุรกิจอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค

ในขณะที่ภาพรวมนั้นพบว่า ความต้องการแรงงานในระดับปฏิบัติการยังคงเป็นที่ต้องการสูงสุด รองลงมาคือผู้บริหารระดับกลางและผู้บริหารระดับสูงตามลำดับ

ด้านแรงงานเองส่วนใหญ่ยังมีความสนใจทำงานในกรุงเทพฯ และหมุนเวียนตามพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ในกลุ่มเศรษฐกิจพิเศษ EEC ทั้งระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานในปัจจุบันมีการปรับและพัฒนาตนเองทั้งรีสกิลและอัปสกิลเพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่ รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆ มาใช้ในการทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรมากขึ้น

ซึ่งการสำรวจทิศทางของตลาดงานดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์แรงงานและความเป็นไปทางธุรกิจในมิติที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและแรงงานเองเพื่อวางแผนรับมือต่อไปได้ และที่สำคัญทั้งองค์กรและแรงงานควรมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้เร็ว เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถก้าวผ่านความท้าทายที่เกิดขึ้นได้.

ใส่ความเห็น