“ผมเป็นคนไทยไปแล้วครับ” บทสนทนาที่เริ่มต้นด้วยภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำจนเดาแทบไม่ออกว่ามาจากชาวฝรั่งเศส อย่าง “อาร์โนด์ เบียเลคกิ” ประธานบริหารแห่ง โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยมากว่า 26 ปี จนกลายเป็นคนไทยอย่างเต็มตัว
อาร์โนด์ เบียเลคกิ (Arnauld Bialecki) เกิดและเติบโตที่ฝรั่งเศส หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมฟิสิกส์จากสถาบัน Ecole Centrale de Marseille ประเทศฝรั่งเศส เขาได้เริ่มงานแรกในประเทศไทยเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิตในเมืองไทยที่ยาวนานมาเกือบ 3 ทศวรรษ
หลังจากหมดสัญญาการทำงานกับสังกัดแรก เขายังคงทำงานต่อที่เมืองไทยในสายงาน Facility Management ดูแลตลาดในเอเชียแปซิฟิก ก่อนที่จะเข้ามาร่วมงานกับ บริษัท โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย ในกลุ่มโซเด็กซ์โซ่ บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ผู้นำด้านการบริการครบวงจรทั้งบริการต้อนรับ รักษาความปลอดภัย บริการทำความสะอาด บำรุงรักษาอาคารและเครื่องจักร บริการด้านอาหาร และบริหารอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2555
ปัจจุบันอาร์โนด์ดำรงตำแหน่งประธานบริหารและผู้อำนวยการ กลุ่มลูกค้าองค์กร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ไทย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และถือเป็นผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญในการนำพาโซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย สู่องค์กรที่เติบโตทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และยังได้รับการขนานนามจากพนักงานว่าเป็น “ฝรั่งหัวใจไทย” เพราะเป็นผู้บริหารที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและพร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมไทยจนสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว
นอกจากการเป็นผู้บริหารของโซเด็กซ์โซ่แล้ว เขายังได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลฝรั่งเศส ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการค้าต่างประเทศของฝรั่งเศส (French Foreign Trade Advisor) คอยให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนในประเทศไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนหรือทำธุรกิจที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญ
ไม่เพียงเท่านั้นเขายังดำรงตำแหน่งรองประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจประเด็นภาพรวมทางการค้าและการลงทุน สมาคมศูนย์ส่งเสริมธุรกิจยูโรเปียน-อาเซียน (อีเอบีซี) หรือ องค์การการค้าของสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย ทำหน้าที่แจงผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการบริหารจัดการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละปี เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคด้านการบริหารแรงงานและการจ้างงานที่ภาคธุรกิจยุโรปกำลังประสบอยู่ในปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นอีกด้วย
แม้ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีอยู่ดูจะบริโภคเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปแล้ว แต่อาร์โนด์ยังคงแบ่งเวลาให้กับ “การวิ่งมาราธอน” การออกกำลังกายและกิจกรรมที่เขาชื่นชอบได้อย่างสมดุล
Work Life Balance: เพราะชีวิตต้องสมดุล
“ผมมองว่าในชีวิตคนเรามีองค์ประกอบหลักคือชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว และความสมดุลของทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากงานหลักที่เราต้องเต็มที่แล้ว ชีวิตส่วนตัวเราก็ละเลยไม่ได้เช่นกัน”
“การวิ่งมาราธอน” คืออีกหนึ่งภาคของชีวิตที่อาร์โนด์ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน หลังประสบปัญหาอาการบาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอลอีกหนึ่งกีฬาที่เป็นที่ชื่นชอบจนแพทย์สั่งห้ามออกกำลังกายหนักๆ แต่เขากลับลุกขึ้นสู้และกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง โดยมีการวิ่งมาราธอนเป็นเป้าหมาย
“อย่าเรียกว่าชอบวิ่งเลยครับ เรียกว่าบ้าวิ่งก็ได้ นี่ผมก็เพิ่งกลับจากการไปวิ่งมาราธอนที่เชียงใหม่มา ซึ่งเป็นรายการที่ผมไม่เคยพลาดและวิ่งติดต่อกันมาเป็นปีที่ 16 แล้ว ปีก่อนเกิดโควิดผมลงรายการแข่งวิ่งไปทั้งหมด 41 รายการ 41 สัปดาห์ จาก 52 สัปดาห์ของทั้งปี ยังแอบเสียดายอยู่เลยว่าขาดไปอีก 11 สัปดาห์ที่ผมไม่ได้ลงรายการแข่งวิ่ง”
แน่นอนว่าการเข้าร่วมโปรแกรมการแข่งวิ่งมาราธอนตลอดทั้งปีทำให้อาร์โนด์ต้องวางแผนการซ้อมวิ่งอย่างสม่ำเสมอเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายให้พร้อมที่สุด ซึ่งเขามีเคล็ดลับในการแบ่งเวลาและวินัยในการซ้อมวิ่ง ตลอดจนการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานกับงานอดิเรกที่น่าสนใจ
ตั้งเป้าหมายแล้วไปให้ถึง
“ปกติผมซ้อมวิ่ง 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 10-25 กิโลเมตร อย่างถ้ามีวิ่ง full marathon ผมต้องเตรียมตัวล่วงหน้า 8 สัปดาห์ แต่ละสัปดาห์จะลงในตารางเลยว่าซ้อมวันไหน สมมุติวันนี้ดูตารางแล้วว่ามีเวลาว่างช่วงเที่ยงถึงบ่ายสอง 2 ชั่วโมงนั้นผมก็ลงไปซ้อมวิ่งที่ฟิตเนสข้างๆ ออฟฟิศ วิ่งเสร็จ อาบน้ำ กลับมาทำงานได้ต่อ ถ้าวันไหนว่างตอนหนึ่งทุ่มก็วิ่งตอนหนึ่งทุ่ม เราต้องจัดตารางและมีวินัยในการทำตามตารางที่วางไว้ ไม่อย่างนั้นเป้าหมายที่เราต้องการมันจะไม่เกิด”
นำสิ่งที่ได้จากการวิ่งมาใช้ในการบริหารงาน
อาร์โนด์มองว่าการวิ่งไม่เพียงทำให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีเท่านั้น แต่ยังใช้ระเบียบวินัยในการซ้อมวิ่งมาปรับใช้ในการทำงานได้อีกด้วย
“การวางเป้าหมายและวินัยในการซ้อมวิ่งมันเป็นตรรกะเดียวกับที่ผมใช้ในการทำงาน ถ้าเราตั้งเป้าหมายในการทำงานไว้อย่างไร เราต้องมีแผนการดำเนินงานเพื่อจะไปถึงเป้าหมายนั้น และต้องมีระเบียบวินัยที่จะปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ ถึงจะบรรลุเป้าหมายได้”
นอกจากนี้ เขายังเชิญชวนให้ทุกคนออกมาวิ่งออกกำลังกายโดยเฉพาะนักบริหาร เพราะส่วนใหญ่มักมีเรื่องที่ทำให้เครียดอยู่เสมอ สิ่งที่ดีที่สุดในการระบายความเครียดคือการออกกำลังกาย การได้ออกมาวิ่งเพียง 1 ชั่วโมง ก็ส่งผลดีต่อร่างกายแล้ว
ที่สำคัญอย่าอ่อนแอให้กับข้ออ้าง
“คนเรามักมีข้ออ้างอยู่เสมอ วันนี้ร้อน เหนื่อย เพื่อนชวนไปกินข้าว งั้นวันนี้ไม่ซ้อมวิ่งละกันค่อยไปวันอื่น ถ้าอ่อนแอให้กับข้ออ้างต่างๆ เราก็ไม่บรรลุเป้าหมาย สมมุติมีเหตุจำเป็นจริงๆ ที่ทำให้ไปซ้อมวิ่งไม่ได้ สิ่งแรกที่ผมจะทำคือดูตารางแล้วหาเวลาว่างเพื่อจะซ้อมในวันถัดไปทันที”
อาร์โนด์ในวัย 50 ปี กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ข้ออ้างต่างๆ มันเกิดขึ้นได้เสมอ ถ้าเรายอมอ่อนแอให้กับข้ออ้างนั้นๆ ผัดวันประกันพรุ่ง เป้าหมายที่เราวางไว้ก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การเรียน หรือการดำเนินชีวิตก็ตาม