4 มกราคมนี้ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมต้องลุ้นอีกครั้งว่า รัฐบาลจะตัดสินใจปลดล็อกมาตรการคุมเข้มการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนตามมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ให้ระงับการลงทะเบียนผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรประเภท Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เป็นการชั่วคราว หรือไม่
ทั้งหมดขึ้นอยู่กับยอดผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” จะพุ่งพรวดตามที่หลายฝ่ายหวั่นวิตกหรือไม่ เนื่องจากจังหวะเวลาไม่ต่างจากช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 หากไม่มีการคุมเข้มตามมาตรการ Covid Free Setting กรณีเปิดสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร รวมถึงมาตรการ Universal Prevention หรือการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาลขั้นสูงสุดตลอดเวลาของทุกคน
การวมตัวกันเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่อาจหมายถึงโอกาสเกิดสถานการณ์ซ้ำรอยการระบาดหนักในช่วงปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 มาถึงทางแยกอีกครั้ง เพราะมีโอมิครอนเข้ามา ซึ่งมีการคาดการณ์ฉากทัศน์ 3 แบบ
แบบที่ 1 รุนแรงที่สุด อัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย หรือไม่ให้ความร่วมมือ ไม่มีการป้องกัน ไม่มีมาตรการมาก จะเกิดการระบาดและควบคุมยาก ต้องใช้เวลา 3-4 เดือนควบคุมโรคได้ จะมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 30,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 170-180 คนต่อวัน
แบบที่ 2 ปานกลาง มีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโอมิครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ประชาชนให้ความร่วมมือ Universal Prevention คาดจะมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 15,000-16,000 รายต่อวัน เสียชีวิตราว 100 รายต่อวัน
แบบที่ 3 ดีที่สุด อัตราการแพร่เชื้อของโอมิครอนไม่สูงมาก เนื่องจากยังควบคุมการระบาดในประเทศได้ และช่วงเดือนมกราคม 2565 เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มได้สูง ทั้งเข็ม 1, 2 และเข็มบูสเตอร์ ประชาชนให้ความร่วมมือ Universal Prevention เต็มที่ ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก สถานประกอบการจัดกิจกรรมปฏิบัติตาม VUCA อย่างเคร่งครัด และผับบาร์ เปิดภายใต้มาตรการควบคุมได้ดีมาก มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน และเสียชีวิต 60-70 คนต่อวัน แต่ใช้เวลาควบคุมโรคได้ภายใน 1-2 เดือน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะประชุมกันในวันที่ 4 มกราคม 2565 เพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดของโอมิครอน หากไม่มีการกระเพื่อม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อาจพิจารณาปลดล็อกการระงับการลงทะเบียนผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร อนุญาตให้นักท่องเที่ยวยื่นขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) ประเภท Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ได้อีกครั้ง
แต่ถ้าการระบาดเพิ่มขึ้น รัฐจำเป็นต้องขยายระยะเวลาและผลักดันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยผ่าน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และในกรณีที่จำเป็นต้องเลื่อนการเปิดลงทะเบียนฯ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอขยายแซนด์บ็อกซ์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ที่กำหนด โดยสามารถเปิดได้สูงสุดใน 28 จังหวัด แต่ต้องควบคุมไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกพื้นที่แซนด์บ็อกซ์
ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่า ผลพวงจากเทศกาลปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคม 2564-3 มกราคม 2565 จะเป็นดัชนีชี้สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศ จะเดินหน้าหรือชะลอตัวจากตัวแปรใหม่ “โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน” แบ่งเป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1 หากโอมิครอนยังไม่รุนแรง หลายพื้นที่สามารถจัดงานเคานต์ดาวน์ได้และอยู่ในช่วงการใช้สิทธิ์มาตรการโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และคนละครึ่ง แต่การแพร่ระบาดของโอมิครอนส่งผลกระทบต่อความมั่นใจบางส่วนเลื่อนเดินทาง ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย คาดจำนวนการเดินทางอยู่ที่ 2.63 ล้านคน-ครั้ง รายได้ทางการท่องเที่ยว 8,040 ล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 48%
กรณีที่ 2 หากโอมิครอนทวีความรุนแรงและงดจัดงานเทศกาลปีใหม่เคานต์ดาวน์ ไม่ว่าจะใช้มาตรการล็อกดาวน์หรือไม่ จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวพร้อมกับฉุดให้เศรษฐกิจในประเทศตกอยู่ในภาวะหดตัว กำลังซื้อยังไม่กลับมาเหมือนก่อนเกิดวิกฤตโควิด คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศจะกลับมาอยู่ในภาวะซบเซาอีกครั้ง มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า หากโอมิครอนยืดเยื้อ ส่งผลให้ ศบค. จำเป็นต้องระงับการลงทะเบียนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศยาวกว่ากำหนดเดิม 2 สัปดาห์ หรือ 4 มกราคม 2565 จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินและการแบกต้นทุนค่าใช้จ่าย เนื่องจากเพิ่งดึงพนักงานกลับมาทำงานอีกครั้งหลังรัฐประกาศเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และถ้ายาวนานเกิน 1 เดือน ธุรกิจท่องเที่ยวจะเสียโอกาสช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งตรงกับไฮซีซัน และกลุ่มพนักงานจะได้รับผลกระทบเรื่องเงินเดือนต่อเป็นลูกโซ่
นั่นทำให้ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดยื่นหนังสือถึง พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และประธาน ศปก. ศบค. รวมถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว. การท่องเที่ยวและกีฬา และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ให้พิจารณาผ่อนปรนพื้นที่แซนด์บ็อกซ์หรือบลูโซนอื่นๆ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เหมือนภูเก็ต
ทางภาคีเครือข่ายเอกชนได้หยิบยกข้อมูลสถิติช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 มีผู้เดินทางชาวต่างชาติเข้าไทยตั้งแต่เปิดประเทศผ่านสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ตัวเลขต่อวันรวมมากกว่าสนามบินภูเก็ต โดยระยะแรกสนามบินเขตกรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาวันละ 5,000-7,000 คน ภูเก็ตเข้ามาวันละ 1,500-2,000 คน จนตัวเลขเดือนธันวาคมก่อน ศบค. ปรับมาตรการล่าสุด สนามบินในเขตกรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน สนามบินภูเก็ตเฉลี่ย 3,000 คนต่อวัน สะท้อนดีมานด์ของนักเดินทางว่า ต้องการมากรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่าภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นชลบุรี ระยอง และหัวหิน
ที่สำคัญ ไฮซีซันเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564-กุมภาพันธ์ 2565 มีเวลาเพียง 4 เดือนในการทำเงินและเหลือเวลาไม่ถึง 2 เดือน
หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมโรค ทุกฝ่ายและประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ใช่แค่การระบาดรุนแรง การสูญเสียชีวิต แต่ยังหมายถึงผลกระทบต่อเนื่อง ทั้งสถานประกอบการปิดตัว แรงงานตกงาน ขาดรายได้ ขาดกำลังซื้อ หนี้ครัวเรือนพุ่งและเศรษฐกิจอาจเสี่ยงเจอวิกฤตอีกครั้ง